TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistยิ่งจน ยิ่งเจ็บ

ยิ่งจน ยิ่งเจ็บ

ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย 2 ปีกว่า ๆ นับว่าประเทศไทยเจอผลกระทบโควิด-19 ร้ายแรงกว่าอีกหลายประเทศ มิหนำซ้ำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็นับว่าช้ากว่าชาวบ้านที่ต่างกำลังทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จาก GDP ของแต่ละประเทศเริ่มกลับมากลับมาสูงกว่าปี 2562 อันเป็นปีก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด 

อย่างไรก็ตามคงมีแค่ 3 ประเทศที่ถือว่า GDP ยังต่ำกว่าปี 2562 ประกอบด้วย อิตาลี ญี่ปุ่น และประเทศไทย น่าสังเกตว่าทั้ง 3 ประเทศที่กล่าวถึง ต่างล้วนต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวในการปั๊มรายได้เข้าประเทศ คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยกว่าจะกลับมาได้เหมือนช่วงก่อนโควิดระบาดจริง ๆ น่าจะราว ๆ ไตรมาส 1 ในปี 2566 

อย่างที่รู้ ๆ ว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยของเราเจออยู่ขณะนี้ เป็นความเสี่ยงจากกรณี “เงินเฟ้อ” ที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลล่าสุด เมื่อเดือนกรฏาคม เงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 7.61% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะสูงในรอบหลาย ๆ ปี แต่น่าห่วงตรงที่เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น หลัก ๆ มาจากเรื่องราคาพลังงาน  

นอกจากนี้ ยังต้องเจอเรื่อง “ราคาสินค้าสูงขึ้น” โถมทับเข้ามา ทั้งประเภทอาหารและสินค้าเกษตรกรรม จากปัญหาเชื้อเพลิงและราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวข้างต้น เป็นผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการคว่ำบาทของนานาประเทศ ส่งผลให้เงินเฟ้อสูง รวมทั้งมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก

กล่าวสำหรับ อัตราเงินเฟ้อ นั้นหากจะแปลความให้เข้าใจง่าย ๆ หมายถึงราคาสินค้าเปลี่ยนไปมากเท่าไร เมื่อเทียบกับปีก่อน หากปีก่อนเราใช้เงิน 100 เพื่อซื้อของ 1 ชิ้น แต่ในปีนี้เราต้องใช้เงิน 107.6 บาท เพื่อซื้อของชิ้นนั้น

ที่สำคัญถ้า “เงินเฟ้อ” เกิดจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ย่อมทำให้ดีมานด์หรืออุปสงค์ คือ ความต้องซื้อสินค้าเพิ่ม แบบนี้การขยับดอกเบี้ยของแบงก์ชาติจะช่วยลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ แต่ถ้าเงินเฟ้อมาจาก “ต้นทุน” สินค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะจากราคาพลังงาน ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศยังอ่อนแออยู่ การขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์หนักขึ้นไปอีก เพราะเป็นการไปเพิ่มต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า

อย่างไรก็ตาม การที่ปล่อยให้ “เงินเฟ้อ” เพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อาจจะมีผลในเชิงจิตวิทยา หมายความว่า อาจจะทำให้สินค้าทุกอย่างขึ้นราคาแบบตามใจชอบ ไม่ได้ขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อไปแล้วว่าสินค้าทุกอย่างต้นทุนเพิ่มขึ้นการขึ้นราคาจึงเป็นเรื่องธรรมดานั่นเอง

ปรากฏการณ์ใกล้ตัวก็มีให้เห็นมาโดยตลอด อย่างเช่น ราคาอาหารที่ขายทั่ว ๆ ไปเวลาปรับจะปรับขึ้นที 20-30% “หรืออย่างน้อย ๆ 5 บาทถึง 10 บาท ถ้าร้านใหญ่ ๆ หน่อยปรับทีละ 20 บาทก็มี ตรงนี้แหละคือความน่ากลัวของ “เงินเฟ้อ” ที่เกิดจากการฉวยโอกาสขึ้นราคามากกว่าต้นทุนแท้จริง

ที่สำคัญเวลาเกิด “เงินเฟ้อ” คนที่น่าห่วงที่สุดเพราะ ได้รับผลกระทบหนักไม่ใช่ใครแต่เป็น “คนจน ” เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ต้องจ่ายค่าอาหารคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนรวยเมื่อเทียบกับรายได้ เช่น คนจนมีรายได้ 300 บาทต่อวัน กินข้าวราดแกงจานละ 60 บาท คิดเป็น 20% ของรายได้ ในขณะที่คนรวยมีรายได้วันละ 3,000 บาท ต่อให้กินบุฟเฟต์ 300 บาท ก็ยังคิดเป็นเพียง 10% ของรายได้เท่านั้น

รายงานของสถาบันป๋วย ได้คำนวณสัดส่วนประเภทของรายจ่ายครัวเรือนในปี 2019 พบว่ากลุ่มคนที่ยากจนที่สุด 20% สุดท้ายใช้เงินไปกับค่าอาหารคิดเป็น 51% ของรายได้ ในขณะที่กลุ่มคนรวยที่สุด 20% แรกใช้เงินไปกับค่าอาหารคิดเป็นเพียง 29% ของรายได้เท่านั้

เมื่อปัจจัยที่ทำให้เกิด เงินเฟ้อ ในบ้านเรา มาจาก “ต้นทุนที่สูง”​ และ “ราคาสินค้าแพงขึ้น” ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าสถานการณ์เงินเฟ้อที่รุนแรงนั้นกำลังกระทบกับการดำรงชีวิตของคนรายได้น้อยมากกว่าคนรายได้สูงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง 

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ครั้งแรกนี้ปรับ 0.25% เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ ๆ 4  ปี เรียกว่า ปิดฉากยุค “ดอกเบี้ยต่ำ” หลังจากนี้จะเข้าสู่ยุค “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ก็น่าจะได้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็หนีไม่พ้น “กลุ่มคนจน” คนมีรายได้น้อยอีกเช่นเคย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ทราบเรื่องนี้ดี จึงค่อย ๆ ขยับ เพราะกลัวกระทบคนระดับล่าง ซึ่งมีปัญหา “หนี้ครัวเรือน” หากดอกเบี้ยขยับขึ้นก็ยิ่งไปเพิ่มภาระให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น

อย่างที่รู้กันว่า ในห้วงเวลา 2 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา มีแรงงานจำนวนมากต้องออกจากงาน จึงไม่มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว บางส่วนแม้จะมีงานทำแต่รายได้ลดลง ทำให้มีรายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่พอใช้จ่ายต้องไปก่อหนี้ จนกลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กำลังจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่

สภาพัฒน์ฯ รายงานว่า จากตัวเลขล่าสุดของหนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ว่าหนี้ภาคครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.1% ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากราคาพลังงานและสินค้าราคาแพง มิหนำซ้ำต้องถูกซ้ำเติมจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นอีก 

งานนี้เรียกว่าเจอ 2 เด้งทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งจาก “ดอกเบี้ยขึ้น” จะกระทบภาคครัวเรือน เพราะบ้านเราหนี้ครัวเรือนสูง ขณะเดียวกันหากเงินเฟ้อเพิ่ม ค่าครองชีพเพิ่มก็จะกระทบเช่นกันอาจจะหนักกว่าการขึ้นดอกเบี้ย คนกลุ่มนี้อาจจะบอกว่า ยิ่งจน ยิ่งเจ็บ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

คนละครึ่ง เฟส 5 … สิ้นมนต์ขลัง

พลังศรัทธา “ฮาตาริ”

วิกฤติ “ศรีลังกา” … บทเรียนสิ้นชาติ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ