TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistวิกฤติ "ศรีลังกา" … บทเรียนสิ้นชาติ

วิกฤติ “ศรีลังกา” … บทเรียนสิ้นชาติ

ก่อนหน้านี้คอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์นอกกะลา” ก็เคยเขียนเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกามาแล้วในบทความ “มองศรีลังกา ย้อนดูไทย” แต่ครั้งนั้นยังเป็นแค่เริ่มมีสัญญาณอาการป่วยทางเศรษฐกิจเท่านั้น ยังไม่ถึงกับขั้นฝีแตก แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศรีลังกากลายเป็นประเทศล้มละลาย อย่างไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญอาจจะกลายเป็นโดมิโนกระทบชิ่งไปอีกหลาย ๆ ประเทศที่กำลังอยู่ในสภาพที่คล้าย ๆ กัน

จึงอยากจะนำเรื่องราววิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกามาเล่าสู่ฟังอีก น่าจะเป็นบทเรียนให้กับรัฐบาลและคนไทยได้เรียนรู้ เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำรอย

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจศรีลังกาล้มเหลว คือ การเมือง เนื่องมาจากการผูกขาดทางเมืองโดยอยู่ในมือคน 2 กลุ่ม คือ “สิริเสนา” และ “ราชปักษา” ที่นำการเมืองระบบเครือญาติมาบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคตระกูล “ราชปักษา” ที่กลับมาเป็นรัฐบาลใหม่อีกครั้งในปี 2019 ด้วยนโยบายประชานิยมแบบมักง่าย หวังชนะการเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” เทกระจาดลดภาษีครั้งใหญ่ จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวแล้วเอาคนในตระกูลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคน ล้วนแต่คุมกระทรวงสำคัญ ๆ

ผลพวงจากการที่ “รัฐบาลราชปักษา” ออกนโยบายประชานิยมโดยลดภาษีแบบถล่มทลายเมื่อคราวหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้รายรับของรัฐลดลงไปถึง 35% มิหนำซ้ำยังมีนโยบายปฏิรูปภาคเกษตร โดยห้ามเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก หวังจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์รายใหญ่ของโลก แต่ผลกลับเป็นไปตรงกันข้าม เมื่อผลผลิตเกษตรลดลงจนไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้ไม่มีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรเข้าประเทศ

สินค้าส่งออกสำคัญและเลื่องชื่อของศรีลังกาอย่างชา ก็มีปัญหาตามมาในปี 2021 การส่งออกมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ มีสัดส่วน 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แต่สงครามในยูเครนทำให้รัสเซียลดการนำเข้าชาจากศรีลังกา ส่งผลให้รายได้เข้าประเทศลดลงอุตสาหกรรมชาวิกฤติอย่างหนักเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่ม 10 เท่าแต่ผลผลิตลดลง 50%

ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว ราว 10% ของจีดีพี เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็อยู่ภาวะซบเซา เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

นอกจากนี้ การส่งเงินจากผู้ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศก็ลดลง ทำให้รัฐบาลต้องดึงเงินสำรองเงินตราต่างประเทศมาใช้จ่ายค่าเงินของศรีลังกาดิ่งลง 80% ทำให้การนำเข้ามีราคาแพงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อกำลังเลวร้ายลง

อีกทั้งประเทศต้องเผชิญกับการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ กระทรวงการคลังระบุว่า ศรีลังกามีทุนสำรองต่างประเทศเพียง 25 ล้านดอลลาร์ และกำลังต้องการเงิน 6,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้คงอยู่ได้อีก 6 เดือน การที่ไม่มีเงินทุนสำรองต่างประเทศเหลือซื้อพลังงานไฟฟ้าและอาหาร ทำให้สินค้าขาดแคลนราคาก็พุ่งกระฉูด เมื่อเงินไม่พอใช้ก็ใช้วิธี “พิมพ์เงินเพิ่ม” ยิ่งทำให้เงินเฟ้ออย่างหนัก ธนาคารกลางศรีลังกาเผยว่า อัตราเงินเฟ้อแตะ 64.6% เมื่อเดือนที่แล้ว และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 70%

ขณะที่ภาระหนี้ได้ทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาพังพินาศโดยเป็นหนี้สูงถึง 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ ชาวศรีลังกากำลังอดอาหาร พวกเขาต้องต่อคิวยาวเป็นกิโล ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อซื้อน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่กำลังขาดแคลน ประชาชนชาวศรีลังกา 22 ล้านคนต้องเดือดร้อนอย่างหนัก

ความหวังสุดท้ายของศรีลังกาจึงฝากไว้ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ” เท่านั้น

นักวิเคราะห์มองว่า การบริหารจัดการเศรษฐกิจผิดพลาดของหลาย ๆ รัฐบาลที่ปกครองประเทศที่ต่อเนื่องกัน ส่งผลให้การเงินสาธารณะของศรีลังกาอ่อนแอลง สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง จากการปรับลดหย่อนภาษีของรัฐบาลราชปักษา ไม่นานหลังจากเขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2562

นอกจาการบริหารประเทศผิดพลาด การทุจริตคอรัปชั่นอย่างรุนแรงของคนในรัฐบาลเป็นอีกปัจจัยที่กัดกร่อนเศรษฐกิจศรีลังกา คนสำคัญในรัฐบาลได้รับฉายาว่าเป็น “มิสเตอร์ 10 เปอร์เซ็นต์” เพราะนิยมการชักหัวคิวในทุกโครงการที่สร้างโดยรัฐ ทำให้ปัญหาการคอร์รัปชั่นเรื้อรัง มีการเล่นพรรคเล่นพวก

จึงไม่แปลกใจทำไมรัฐบาลศรีลังกาทุ่มเทการลงทุนระบบสาธารณูปโภคขนานใหญ่ เพราะเป็นช่องทางเกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่าย ๆ นั่นเอง โดยไปกู้เงินจากรัฐบาลจีน 4.8 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างท่าเรือ Hambantora รวมถึงสนามบินแห่งใหม่ และโรงไฟฟ้า ในที่สุดรัฐบาลศรีลังกาไม่สามารถชำระเงินกู้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ จึงต้องปล่อยให้จีนเช่าท่าเรือ มาดำเนินการนาน 99 ปี

นี่คือวิกฤติอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับศรีลังกาและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจพังทลาย

มองดูศรีลังกาแล้วกลับมาย้อนดูไทย จะว่าไปแล้วยังถือว่าไทยอยู่ห่างไกลจากศรีลังกามาก พื้นฐานด้านเศรษฐกิจของไทยยังค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งเรื่องการเงิน การธนาคาร ระบบปริวรรตเงินตรา และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้ฐานะการเงินค่อนข้างมีความมั่นคงมากกว่า

แต่ถ้ามองในแง่การเมืองแล้ว ประเทศไทยก็ไม่ต่างจากศรีลังกาเท่าไรนัก เพราะรัฐบาลบริหารประเทศก็มาจากกลุ่มอำนาจกลุ่มเดียว เล่นพรรคเล่นพวก ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่จะกลัดกร่อนประเทศก็มีไม่น้อย จะเห็นจากคราวเกิดวิกฤติโควิดใหม่ ๆ ที่มีเรื่องการทุจริตหน้ากากอนามัย วัคซีน การซื้ออาวุธที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง

สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่าง นั่นคือ นโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถมเพื่อเรียกคะแนนนิยม นโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลศรีถังแตกมาแล้ว ของไทยเองตอนนี้ก็มีสัญญาณคล้าย ๆ กัน จึงไม่ควรประมาทด้วยประการทั้งปวง

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

25 ปี “ต้มยำกุ้ง” … คนไทยเรียนรู้อะไร

ส่งสัญญาณผิด…ระวัง “วิกฤติความเชื่อมั่น”

ฆ่า (ค่า) การกลั่น… ทุกข์ของชาวบ้าน

“เงินเฟ้อ-หนี้ท่วม” …. วิบากกรรมของไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ