TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“เงินเฟ้อ-หนี้ท่วม” .... วิบากกรรมของไทย

“เงินเฟ้อ-หนี้ท่วม” …. วิบากกรรมของไทย

การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มอ่อนแรงและกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่โลกยังต้องเผชิญวิบากกรรมกับโรค “ภาวะเงินเฟ้อ” กำลังระบาดหนักและอยู่ในช่วงขาขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทย แต่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าประเทศมหาเศรษฐีหรือประเทศยากจน ล่าสุด พี่เบิ้มอย่างสหรัฐอมริกาตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 8.5% นับว่าสูงที่สุดในรอบ 41 ปี

ขณะที่ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมก็สูงถึง 7.1% ซึ่งสูงสุดในรอบ 14 ปีเลยทีเดียว ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ หนีไม่พ้นปัจจัยทางด้าน “ราคาพลังงาน” โดยกลุ่มพลังงานทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ทำให้ราคาทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดและการเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร ล้วนเป็นปัจจัยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและรวมถึง “อาหาร” ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งสัญญาณว่าเริ่มดีขึ้น เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่เงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะต้นทุนที่เกิดจากต้นทุนพลังงานและอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทย

เมื่อพูดถึงเงินเฟ้อ คงต้องอธิบายแบบที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเราเห็นว่าราคาของชิ้นหนึ่งมีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาในอดีต แปลว่า เรากำลังเจอภาวะเงินเฟ้อ เช่น ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ถ้าราคาวันนี้แพงขึ้นเมื่อเทียบกับราคา 20 ปีที่แล้ว สิ่งที่ทำให้ราคาแพงขึ้นก็คือ เงินเฟ้อนั่นเอง หรือเมื่อก่อนเรามีเงิน 100 บาท เคยซื้อของได้ 2 ชิ้น เดี๋ยวนี้เงิน 100 บาทเท่าเดิม อาจซื้อของได้แค่ 1.5 ชิ้นแสดงว่าเกิดเงินเฟ้อขึ้นแล้ว อีกนัยหนึ่ง เงินเฟ้อ ย่อมทำให้ “ต้นทุนชีวิต” การดำรงชีวิตของเราแพงขึ้น

อย่างที่กล่าวข้างต้น เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะต้นทุนที่เกิดจากต้นทุนพลังงานและอาหารซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะทำให้ข้าวของราคาแพงขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ เงินออม ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของคนจำนวนมากอีกด้วย 

เหนือสิ่งใด อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ  “หนี้” ซึ่งหนี้ มี 2 ระดับ ระดับแรก เป็นหนี้ของรัฐบาล เรียกว่า “หนี้สาธารณะ” อีกระดับเป็นหนี้ระดับบุคคล เรียกว่า “หนี้ครัวเรือน”

กล่าวสำหรับหนี้สาธารณะ คือ หนี้ที่ถือโดยรัฐบาลกลาง หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรของรัฐ รวมไปถึง รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการค้ำประกันหนี้สินโดยรัฐบาล ก่อนโควิด-19ระบาด หนี้สาธารณะของประเทศไทยต่อ GDP ประมาณ 40-42% เท่านั้น แต่เมื่อเกิดโควิดแพร่ระบาด รัฐบาลต้องกู้เงินมาแก้ปัญหารวมถึงต้องมาเยียวยาและใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาถึงตอนนี้ หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมาที่ราว 60% กว่า ๆ ในที่สุดรัฐบาลก็แก้ปัญหาด้วยการขยายเพดานหนี้ขึ้นเป็น 70% 

ถามว่า หนี้ที่รัฐบาลใช้แก้วิกฤติโควิดที่เพิ่มมานั้น ก่อให้เกิดศักยภาพหรือโมเมนตั้มที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาขึ้นแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าน้อยมาก เพราะเราใช้หนี้ส่วนนี้เพื่อการเยียวยา จัดซื้อวัคซีน หน้ากาก ค่าบุคคลากร ซึ่งก็จำเป็น แต่การนำมาใช้แบบนี้ไม่ได้เพิ่มศักยภาพการเติบโตไปข้างหน้าของประเทศแต่อย่างใด ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา

ส่วน “หนี้ครัวเรือน” ที่ตอนนี้พุ่งแตะระดับ 90% ต่อ GDP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าอันตรายมาก ๆ ข้อมูลที่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการของบ้านเรานั้น พบว่า เมื่อก่อนสถานการณ์โควิดหรือปลายปี 2562 หนี้ครัวเรือนของเราอยู่ที่ประมาณ 89.3% ของ GDP ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศพบว่า เราสูงสุดเป็นอันดับ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลกที่มีตัวเลขในเรื่องนี้ และเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากเกาหลีใต้เท่านั้น

กระทั่งต่อมา ณ สิ้นปี 2564 หลังโควิดระบาด 2 ปีเต็มพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของเราพุ่งกระฉูดขึ้นมาอยู่ในระดับ 90.1% หรือราว 14.58 ล้านล้านบาท ทำให้น่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก และเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลไทยประกาศให้ปีนี้ (2565) เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน”

การเป็นหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ต่อ GDP เท่ากับว่า จากสิ่งที่เราทำมาหากินได้ในปีนั้น ๆ เป็นหนี้ไปแล้ว 90% ดังนั้นอารมณ์ในการจับจ่ายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจย่อมจะหดหู่ไม่มีจิตใจที่จะจับจ่ายใช้สอย ยิ่งถ้าดูโครงสร้าง GDP ประเทศไทย พบว่าเกินครึ่งมาจากการบริโภคในภาคครัวเรือน ดูอย่างนี้แล้วยิ่งลำบาก

อย่างที่บอกสถานการณ์ในตอนนี้ แม้ภาครัฐจะพยายามผลักดันเศรษฐกิจหรือกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็เป็นไปได้ยาก เพราะหนี้ครัวเรือนระดับนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่ต้องอาศัยการบริโภคภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์หลัก เนื่องจากรายได้ครัวเรือนที่ได้รับในปัจจุบันและในอนาคตจะต้องนำเอาบางส่วนไปชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้นั่นเอง 

ด้วยเหตุนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ ซึ่งเกิดจากหนี้สินไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะหนี้ครัวเรือน และภาวะเงินเฟ้อ คงจะเป็นวิบากกรมของคนไทยไปอีกนาน 

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ในวิกฤติ…ยังมีโอกาส

“วิกฤติอาหาร” หายนะรอบใหม่

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ