TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“วิกฤติอาหาร” หายนะรอบใหม่

“วิกฤติอาหาร” หายนะรอบใหม่

ดังที่รู้กันว่าผลจากวิกฤติโควิด-19 ที่เริ่มเข้าสู่ขาลง ทำให้ความต้องการน้ำมันทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากหลาย ๆ ประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การใช้น้ำมันจึงเพิ่มสูงขึ้น แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ถือว่ารุนแรงถึงขั้นขาดแคลน เพียงแต่น้ำมันดิบในตลาดโลกขยับราคาขึ้นค่อนข้างสูง ส่งผลค่าครองชีพสูงขึ้นและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา

ทันทีที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน สถานการณ์ “วิกฤติพลังงาน” ก็เริ่มชัดขึ้น เพราะรัสเซียคือประเทศที่ผลิตน้ำมันอันดับสองของโลก และมีแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดในโลก วิกฤติพลังงานรอบนี้ทำให้ทั้งโลกปั่นป่วน ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นวิกฤตินี้

สิ่งที่หลาย ๆ คนเริ่มวิตกกังวลมากกว่า นั่นคือ เริ่มมีสัญญาณการเกิด “วิกฤติอาหาร” ที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงกว่าวิกฤติพลังงานเสียอีก ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโลกร้อน นับวันจะยิ่งหนักทำให้สภาพภูมิอากาศปรวนแปร ไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร การผลิตอาหารของโลก

แต่สาเหตุสำคัญจริง ๆ เนื่องจากหลาย ๆ ประเทศที่เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลกไม่มั่นใจต่อสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนว่าจะจบลงเมื่อไร จึงพากันกักตุนอาหารไว้ใช้ในประเทศเพื่อไม่ให้ประชาชนของตนต้องเดือดร้อน หากขาดแคลนหรือมีราคาสูงขึ้น จึงประกาศ “งด” ส่งออกอาหารและวัตถุดิบอาหาร ล่าสุดมีถึง 14 ประเทศซึ่งล้วนเป็นผู้ผลิตส่งออกอาหารรายใหญ่

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจชื่อดังของสหรัฐ Paterson Institute for International Economics ระบุว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้ออาจส่งผลให้โลกต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะธัญพืชและน้ำมันสกัดที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากหลายประเทศได้จำกัดการส่งออกด้วยเหตุผลความมั่นคงทางอาหารของตัวเอง

สะท้อนจากราคาข้าวสาลีได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อินเดียเป็นประเทศล่าสุดที่แบนการส่งออกข้าวสาลีต่อจากรัสเซีย ยูเครน อียิปต์ คาซัคสถาน เซอร์เบีย และโคโซโว การที่อินเดียแบนการส่งออกทำให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกปรับราคาขึ้นทันที 6%

อีกสาเหตุที่ทำให้เกิด “วิกฤติอาหาร” เกิดจากพืชบางชนิด เช่น อ้อยและปาล์ม เป็นพืชที่ใช้ได้ทั้งผลิตผลิตอาหารและพลังงาน เวลาเกิดวิกฤติพลังงาน พืชน้ำมัน เช่น ปาล์มและอ้อย จะถูกนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลและเอทานอล นำไปผสมกับน้ำมันใช้เป็นพลังงานแทน ซึ่งได้ราคาสูงกว่าการนำไปผลิตเป็นอาหาร จึงเกิดการแย่งกันระหว่างอาหารกับพลังงาน 

ล่าสุด บราซิลซึ่งผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกและผลิตเอทานอลอันดับ 2 ของโลก เมื่อบรรดาโรงงานน้ำตาลในบราซิลฉีกสัญญาส่งออกจำนวนราว 4 แสนตัน โดยยอมจ่ายค่าปรับฐานผิดสัญญาเพราะเอาวัตถุดิบอ้อยที่ใช้สำหรับผลิตน้ำตาลไปผลิตเอทานอลเพื่อไปผสมน้ำมันแทนซึ่งได้กำไรดีกว่า 

นั่นหมายความว่าอีกไม่นานน้ำตาลในตลาดโลกจะขาดแคลนและราคาปรับสูงขึ้น อย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม 50% ของโลกก็ระงับการส่งออก ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้นทันที เพิ่งยกเลิกประกาศดังกล่าวเมื่อวันก่อนทำให้สถานการณ์น้ำมันปาล์มในตลาดโลกน่าจะคลี่คลายบ้าง 

ปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลกกำลังผลักดันราคาอาหารให้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเป็นภัยคุกคามต่อความอดอยากและหนี้สินในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศ

มีรายงานว่า การที่รัสเซียบุกรุกยูเครน ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหาร เพราะทั้งสองประเทศ มีสัดส่วนมากกว่า 10% ของอาหารที่ซื้อขายทั่วโลก โดยทั้งรัสเซียและยูเครนผลิตข้าวสาลีส่งออกร้อยละ 30 ของโลก และร้อยละ 60 ของน้ำมันดอกทานตะวัน 

น่าสนใจตรงที่มีอย่างน้อย 26 ประเทศพึ่งพาธัญพืชจากรัสเซียและยูเครนสัดส่วนรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ขณะเดียวกันข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า สงครามจะทำให้พื้นที่การเกษตรของยูเครน 20-30% ไม่ได้รับการเพาะปลูก หรือไม่ได้รับการเก็บเกี่ยวในฤดูกาล 2022 ธัญพืชที่เก็บเกี่ยวแล้วติดปัญหาการขนส่ง เนื่องจากท่าเรือของยูเครนถูกรัสเซียขัดขวาง

ส่วนรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศห้ามส่งออกในช่วงต้นเดือนมีนาคม การส่งออกจากเบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัสเซียถูกคว่ำบาตร จีนสั่งห้ามส่งออกปุ๋ยเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ขณะนี้เกิดปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยทั่วโลก ราคาพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

แต่ที่น่าห่วงที่สุดตอนนี้ ดัชนีราคาอาหารของ FAO ระบุว่า ราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายน ส่งผลต่อประเทศรายได้น้อย เพราะการซื้ออาหารคิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด จากข้อมูลของธนาคารโลก ผู้คน 10 ล้านคนถูกผลักให้เข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกสำหรับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ เปอร์เซ็นต์

ในบ้านเราแม้จะได้ชื่อว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่อย่าประมาทกับวิกฤติอาหารที่กำลังส่อเค้ารุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสินค้าหลาย ๆ อย่างก็เป็นพืชที่สามารถใช้เป็นอาหารและพลังงานจึงเกิดการแย่งกันระหว่างอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับน้ำมันปาล์มที่นำเอาทำเป็นไบโอดีเซลผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อให้ผู้ใช้รถได้ใช้น้ำมันราคาถูก แต่ผู้บริโภคน้ำมันพืชต้องเดือดร้อนที่ต้องซื้อในราคาแพงแถมยังขาดตลาด 

ขณะที่ภาคการเกษตรก็ประสบปัญหาอย่างหนักจากกรณีวัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ยต้องนำเข้าจากต่างประเทศราคาแพง ทำให้ราคาปุ๋ยในประเทศมีราคาแพงเว่อร์ ว่ากันว่าราคาปุ๋ยแพงกว่าราคาข้าวของชาวนา ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น สุดท้ายเกษตรกรแบกรับภาระไม่ไหว ก็อาจจะปลุกแค่พอกิน เพราะปลูกแล้วไม่คุ้ม อาจจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต

แม้เวลานี้วิกฤติอาหารในบ้านเราอาจจะดูว่ายังอยู่อีกไกล แต่อย่างน้อย ๆ ถ้าสินค้าอาหารมีราคาแพงขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง จึงต้องเตรียมแผนรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาวไว้แต่เนิ่น ๆ มิเช่นนั้น จะเป็นหายนะระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าวิกฤติพลังงานก็เป็นได้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“ค่าเงินบาทอ่อน” … ดาบสองคม

นโยบายรถ EV ปลุกผี … “ดีทรอยด์เอเชีย” .. ?

น้ำมัน-ทุนผูกขาด… ดันค่า”ครองชีพ”พุ่ง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ