TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistน้ำมัน-ทุนผูกขาด... ดันค่า”ครองชีพ”พุ่ง

น้ำมัน-ทุนผูกขาด… ดันค่า”ครองชีพ”พุ่ง

วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 (ระหว่างเขียนต้นฉบับ) ตรงกับวัน”แรงงานสากล” ที่ทั้งโลกให้ความสำคัญกับคนที่ใช้แรงงาน ในบางประเทศจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับประเทศไทย แทนที่จะเป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานจะมีความสุข กลับต้องทุกข์หนัก เมื่อรัฐบาลได้ปลดล็อกราคาน้ำมันดีเซลที่เคยตรึงไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรมาหลายปี จากการนำเงินจาก “กองทุนน้ำมัน” มาอุดหนุน ผู้ใช้น้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม จากนี้ไปให้เป็นไปโดยเสรี

ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลสร้างคะแนนนิยมโดยการตรึงราคาน้ำมันดีเซล หากปล่อยให้ราคาสูงขึ้นชาวบ้านจะเดือดร้อน จากค่าขนส่งสินค้า ต้นทุนการผลิตสินค้า ที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ด้วยหลายปัจจัยรุมเร้าในที่สุดรัฐบาลลุงตู่ก็อุ้มไม่ไหว มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท จึงสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายนนี้ เป็นจังหวะเดียวกับต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดใหม่ที่จะใช้ระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 จะปรับขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วยอีกด้วย

รวมถึงต้นทุนราคาก๊าซหุงต้มที่ทยอยลอยตัวเดือนละ 1 บาท/กก. ที่เริ่มจาก 1 เม.ย. 65 โดยถังขนาด 15 กก. ปรับเพิ่มจาก 318 เป็น 333 บาท และ 1 พฤษภาคม 65 จะปรับขึ้นเป็น 348 บาท/ถัง และมิถุยายน 65 เป็น 363 บาทต่อถัง ทั้งหมดนี้มีล้วนมีผลทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นทั้งสิ้น

สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจนกองทุนน้ำมันแบกไม่ไหว เนื่องมาจากปลายปีที่แล้วหลาย ๆ ประเทศในโลกโดยเฉพาะสหรัฐ และยุโรปได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการ “ล็อคดาวน์” จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจที่เคยซบเซากลับมาคึกคัก ความต้องการใช้น้ำมันจึงเพิ่มสูงขึ้นตาม แถมยังถูกซ้ำเติมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ปริมาณการผลิตพลังงานของโลกลดลง

อีกปัจจัยสำคัญ เกิดจากนโยบายพลังงานบ้านเราซับซ้อนซ่อนเงื่อนในที่สุดก็สะดุดขาตัวเอง อันแรกแรกเลย คือ การอิง “ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์” ทั้ง ๆ ที่น้ำมันดิบนำเข้ามากลั่นนั้นกลั่นในโรงกลั่นของไทย จึงทำให้เกิด “ต้นทุนหลอก” ที่ไม่ใช่ต้นทุนจริง ๆ ทั้ง ค่าขนส่งจากสิงคโปร์ ค่าประกันต่าง ๆ ถูกบวกเพิ่มล้วนแต่เป็นตัวเลขปลอม ๆ แต่ประชาชนต้องแบกรับ

นอกจากนี้ ยังมีภาษีที่เก็บซ้ำซ้อนทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีท้องถิ่น ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นไปอีก แต่ที่ร้ายที่สุดคือ การเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันอ้างว่า เอามาชดเชยเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นและเพื่อไม่ให้ประชาชนใช้น้ำมันฟุ่มเฟือย รวมถึงการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนโครงการประหยัดพลังงาน เน้นแคมเปญประหยัดไฟฟ้า

การเรียกเก็บแบบซ้ำซ้อน ทำให้อัตราการจัดเก็บภาษีทั้ง 3 ประเภทและเงินเข้ากองทุนทั้ง 2 กองทุน สูงถึง 45% ของราคาน้ำมัน และไม่ทราบว่าบริหารจัดการยังไงทำให้กองทุนน้ำมันขาดทุนบักโกรก 5 หมื่นกว่าล้านบาท จนต้องโยนภาระให้ประชาชนด้วยการปล่อยให้น้ำมันดีเซลทยอยขึ้นราคา ประเดิมวันแรก 1 พฤษภาคมก็โขกไป 2 บาทต่อลิตร

อย่าลืมว่า น้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งและการผลิตสินค้า บริษัทขนส่งก่อนหน้านี้ก็โดนโขกจากค่าทางด่วนและต้องมาโดนราคาน้ำมันดีเซลซ้ำเติม หากทนไม่ไหวก็ต้องโยนภาระไปให้ผู้ผลิตสินค้าและโยนภาระนี้ไปยังผู้บริโภค ซึ่งตอนนี้สินค้าทยอยปรับขึ้นราคาล่วงหน้า 7-10% ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตาม

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่ปัญหาใหญ่จริง ๆ ที่ไม่ค่อยพูดถึงกัน นั่นคือ “ระบบผูกขาด” ของธุรกิจบ้านเรา ตกอยู่ในกำมือกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มไม่กี่ตระกูล จึงไม่มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ทำให้กลุ่มทุนกลุ่มนี้มีอำนาจเหนือตลาด แม้แต่ธุรกิจน้ำมันที่ดูเหมือนมีหลายรายมีการแข่งขัน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้บริโภคแล้ว ถือว่ายังน้อยมากอีกทั้งส่วนแบ่งตลาดอยู่ในมือรายใหญ่ไม่กี่รายเท่านั้น

“พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์” อดีตเลขานุการรัฐมนตรีพาณิชย์ ได้ยกตัวอย่างการผูกขาดโดยเขียนในเฟสบุ๊กไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ น้ำดื่มมีผู้ผลิตมากมายแต่มีแค่ 5 ยี่ห้อ ที่มีส่วนแบ่งตลาดราว 80% บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 รายมีส่วนแบ่งราว 80% ชาเขียว 2 ราย มีส่วนแบ่ง 80%

แชมพู และของใช้มีผู้ผลิตฝรั่ง 2 ราย และคนไทย 1 ราย แม้จะทำออกมาหลายยี่ห้อ แต่มีส่วนแบ่งตลาด 70-80% มันฝรั่งทอด 2-3 รายส่วนแบ่งตลาด 80-90% ถ่านไฟฉาย 2-3 รายส่วนแบ่งตลาด 80% ไข่ไก่ หมู เนื้อไก่ แม้ผู้ผลิตมากแต่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ 2-3 รายส่วนแบ่งตลาด 70-80% สินค้าหลายตัวมีผู้ผลิตมาก แต่ช่องทางจัดจำหน่าย ร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีกติกามากทำให้ของวางขายเข้าไปยากก็มีแค่ไม่กี่ราย เช่นไอศกรีม หลอดไฟไส้กรอก ขนมปัง

“เวลาผมดูการแข่งขัน ผมจะดูว่าสินค้าตัวนี้ผลิตกี่ราย มีส่วนแบ่งตลาดเท่าไหร่ และผู้ขายมีกำไรแค่ไหน ถ้ากำไรมาก ผู้บริโภคเดือดร้อน ปุ๋ย มีผู้ผลิต 1,000 ราย แต่มี 10 รายมีส่วนแบ่งตลาด 80% และ กำไรเยอะมากทุกราย โทรศัพท์มือถือ กำลังเหลือผู้ให้บริการแค่ 2 ราย จะลดค่าครองชีพ ไม่ยากครับ เพิ่มการแข่งขัน”

ตัวอย่างที่ พลัฎฐ์ เขียนไว้ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสินค้าที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ยังมีธุรกิจที่นับไม่ถ้วนในประเทศไทยที่ถูกผูกขาดอยู่ในมือกลุ่มทุนไม่กี่รายจะแก้ปัญหาค่าครองชีพให้ได้ผลจริง ๆ ต้องลดการผูกขาด เปิดให้ธุรกิจมีการแข่งขันอย่างเสรี เท่านั้น

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

อภินิหาร “Soft Power”

ถึงเวลาถอดรื้อ “บีโอไอ”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ