TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistถึงเวลาถอดรื้อ "บีโอไอ" ...

ถึงเวลาถอดรื้อ “บีโอไอ” …

หากการลงทุนภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ คือ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าแล้ว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ “บีโอไอ” ก็เปรียบเสมือน “เครื่องปั๊มหัวใจ” ที่ช่วยสูบฉีดการลงทุนให้ดำเนินต่อไปได้ เพราะไม่มีบีโอไอ การลงทุนก็มิอาจราบรื่นได้เช่นกัน

ในยุคก่อนเศรษฐกิจฟองสบู่ นับเป็นยุคทองของการลงทุนไทย เพราะนักลงทุนจากญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต หนีค่าแรงราคาแพงมาหาค่าแรงราคาถูกในแถบอาเซียน โดยพุ่งเป้ามายังประเทศไทยและมาเลเซีย 

ในยุคนั้นต้องบอกว่า บีโอไอมีบทบาทสำคัญ นักลงทุนไม่ว่าไทยหรือนักลงทุนต่างชาติ ต้องมาขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อจะได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะยกเว้นภาษี ตำแหน่งเลขาธิการบีโอไอสำคัญถึงขั้นเทียบเท่าปลัดกระทรวงเลยทีเดียว แต่สักสิบกว่าปีมานี้ ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร ตำแหน่งนี้ถูกลดบทบาทลงเทียบเท่าระดับอธิบดีเท่านั้น อาจเป็นเพราะบทบาทของบีโอไอน้อยลงก็เป็นได้

แม้บีโอไอจะมีบทบาทสำคัญ แต่ก็มีคำถามตามมา ว่าประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง จากนโยบายลดแลกแจกแถมสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะนโยบายยกเว้นภาษีเป็นเวลา 8 ปี จะได้จริง ๆ ก็คงทำให้แรงงานไทยมีงานทำด้วยค่าแรงถูก ๆ นโยบาย “เลเบอร์ อินเทนซีฟ” เป็นจุดขาย

แม้นักลงทุนญี่ปุ่นพาเหรดย้ายฐานการผลิตเข้ามา แต่ก็นำ “ซับพลายเชน” ที่ผลิตสินค้าป้อนเข้ามาด้วย บริษัทคนไทยแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร มีแค่รายใหญ่ ๆ ไม่กี่รายเท่านั้นที่มีสิทธิ์ นอกจากนี้ นักลงทุนจากไต้หวันก็เข้ามามาก แต่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ประเภทโรงงานห้องแถว ส่วนใหญ่มาตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางส่งออก แต่เมื่อเกิดฟองสบู่แตก เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 นักลงทุนไต้หวันก็ทิ้งโรงงานหนีกลับประเทศ

กลยุทธ์ในการดึงนักลงทุนของไทยนั้นต่างจากมาเลเซียคู่แข่งสำคัญ ที่ได้เปรียบไทยตรงที่มีแรงงานคุณภาพ โดยเฉพาะวิศวกรมีมากกว่าไทย จึงดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก บริษัทที่มีคุณภาพ มีเทคโนโลยีไปลงทุน ไม่ต้องไปง้อนักลงทุนเหมือนเรา ที่ได้แต่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน 

หลังวิกฤติต้มยำกุ้งดูเหมือนบทบาทของบีโอไอลดน้อยถอยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามที่เป็นคู่แข่งดาวรุ่งพุ่งแรง ได้เปรียบไทยที่มีแรงงานคุณภาพโดยเฉพาะด้านไอที ขยันและราคาถูกกว่าไทย นอกจากจะดึงดูดบริษัทด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกไปลงทุนแล้ว ยังดึงดูดบริษัทต่างชาติในไทยย้ายฐานเข้าไปลงทุนอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้บีโอไอกลับไปทบทวนมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทยใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกติกาใหม่ ด้านการจัดเก็บภาษีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี)

กรณีดังกล่าวเป็นผลมาจากเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว โออีซีดีได้ประกาศบรรลุข้อตกลงเรื่อง “อัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ” จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลกในอัตรา 15% สำหรับการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ตอนนี้หลายประเทศกำลังศึกษารายละเอียดเพื่อรับมือ

ไหน ๆ จะยกเครื่องทั้งที น่าจะถือโอกาสนี้ยกเครื่องครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ปะผุเพียงแค่ทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ต้องทบทวนบทบาท รื้อกระบวนการทำงานใหม่ให้ทันโลกยุคใหม่ เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ เช่น การประกาศผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขว เนื่องจากผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจำนวนไม่น้อย ไม่มีการลงทุนจริง แต่การประกาศจำนวนผู้ได้รับบัตรส่งเสริมทำให้ตัวเลขดูดี แต่เป็นการหลอกตัวเอง ไม่สะท้อนความเป็นจริง ควรจะประกาศตัวเลขผู้ที่ลงทุนจริง ๆ เท่านั้น

ที่สำคัญ การส่งเสริมการลงทุนควรกำหนดให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนต้องถ่ายทอด “โนว์ ฮาวน์” ให้กับคนไทยได้เรียนรู้ภายในเวลากี่ปี และต้องเปิดโอกาสให้คนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้ ไม่ใช่สงวนตำแหน่งเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น

การจูงใจนักลงทุนต่างประเทศด้วยการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีอย่างเดียว นอกจากทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้มหาศาลแล้ว ในระยะหลังไม่ได้ผล เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติไม่สนใจ เขามีทางเลือกมากมาย ทุกประเทศก็แข่งกันให้สิทธิประโยชน์กลายเป็นแข่งกัน ลด แลก แจก แถม แล้วยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่จูงใจมากกว่า เช่น คุณภาพแรงงานดีกว่า ตลาดในประเทศใหญ่กว่า เป็นต้น

เรื่องหนึ่งที่รัฐบาลละเลยมาตลอดแต่มีผลกับการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติไม่น้อย นั่นคือ “การทุจริตคอรัปชั่น” ที่ผ่านมาบริษัทเอกชนและรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศไม่สนับสนุนให้นักลงทุนเอกชนของเขาเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีการทุจริตคอรัปชั่น เพราะเท่ากับเป็นการส่งเสริม แต่บ้านเราปัญหานี้ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ

มีหลายกรณีที่นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจลงทุนแล้วต้องเลิกล้ม เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าหนีกลับบ้าน เพราะโดนมาเฟียท้องถิ่นเรียกเก็บค่าคุ้มครองบ้าง ผู้มีอิทธิพลมีธุรกิจถมดินไปข่มขู่ของาน หรือข้าราชการเรียกเงินใต้โต๊ะจนนักลงทุนทนไม่ไหว เลิกลงทุนในไทยหันไปลงทุนประเทศอื่นแทน 

เหนือสิ่งใด ควรจะกระจายอำนาจการส่งเสริมการลงทุนลงไปในท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจ เพื่อความคล่องตัวของนักลงทุนเหมือนกับในบางประเทศที่ประสบความสำเร็จ หรือต้องฟื้นนโยบายกระจายการลงทุนไปท้องถิ่นแบ่งเป็นโซน และให้สิทธิประโยชน์แต่ละโซนแตกต่างกันเป็นการจูงใจ เพื่อเกิดการกระจายการลงทุนสร้างความเจริญในพื้นที่ต่างจังหวัด

สำคัญที่สุด บีโอไอต้องเร่งปรับบทบาทจากรับเป็นรุก ไม่ใช่แค่รอนักลงทุนมาขอรับการส่งเสริม หรือแค่ไปชักชวนนักลงทุนเท่านั้น แต่ควรจะมีบริการหลังการขาย อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุน ว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง หรือไม่ต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือแบบทันท่วงที เป็นการสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

มอง “วิกฤติศรีลังกา” … แล้วย้อนดูไทย

“บุรีรัมย์ โมเดล” … ความสำเร็จของท้องถิ่น

10 มาตรการเยียวยา … “อุ้ม” แล้ว “เท”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ