TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist10 มาตรการเยียวยา ... "อุ้ม" แล้ว "เท"

10 มาตรการเยียวยา … “อุ้ม” แล้ว “เท”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ประชุมคณะรัฐมนตรีคลอด 10 มาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่ง10 มาตรการที่คลอดออกมา คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ถึง 28 ล้านคน มองอีกด้านเท่ากับว่าปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีคนจน 1 ใน 3 ของประเทศเลยทีเดียว

แต่ถ้าลอง x-ray ไส้ในดูกันชัด ๆ ก็ต้องบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นมาตรการเก่าแพคเกจเก่าไม่มีอะไรใหม่ โดย 7 มาตรการเป็นมาตรการเก่า ไม่ว่า  จะเป็นอุดหนุนค่าก๊าซหุงต้มให้กับครัวเรือน สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน ตกครัวเรือนละ 100 บาท/3เดือน เดือนละ 30 บาท หรือวันละบาท/ครัวเรือน

มาตรการอุดหนุนค่าก๊าซหุงต้มให้หาบเร่แผงลอยจำนวน 5.5 พันคน เดือนละ 100 บาท มาตรการนี้ใช้เงินราว 1.6 ล้านบาทเท่านั้น เป็นมาตรการเดิมของปตท. หากจะว่าไปแล้ว “จิ๊บ จ๊อย” มากทั้งเงินอุดหนุนและจำนวนคนที่ได้ประโยชน์เนื่องจากแม่ค้าทั่วประเทศมีนับล้านล้าน ๆ ราย

มาตรการช่วยค่าน้ำมันเบนซินให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง 1.75 แสนคน เป็นเวลา 3 เดือน เดือนละ 250 บาท น่าสังเกตว่ามีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ทั้งประเทศที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกมีทั้งหมด 20 ล้านคน ประมาณการว่าคนขับขี่มอเตอร์ไซด์ 10 ล้านคนน่าจะเป็นคนมีรายได้น้อยแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ 

ที่สำคัญมาตรการนี้ช่วยเฉพาะผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง 1.75 แสนคนซึ่งน่าจะน้อยกว่าความเป็นจริงมาก และไม่พูดถึงว่าจะช่วยเหลือกลุ่ม “ไรเดอร์” ที่มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซด์ส่งอาหารอย่างไร กลุ่มนี้ที่น่าจะมีหลายแสนคนเช่นกัน อีกทั้งการช่วยค่าน้ำมันเบนซิน ก็ได้ไม่พูดถึงกลุ่มเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเบนซินในการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นรถไถนา หรืออุปกรณ์การเกษตรอื่น ๆ 

กระทั่งมาตรการคงค่าก๊าซ NGV ให้ประชาชน 19.95 บาทต่อกิโลกรัม ให้แท๊กซี่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม การลดเงินจ่ายเงินประกันสังคมให้นายจ้างลูกจ้าง ล้วนเป็นมาตรการเก่าไม่ได้ช่วยค่าครองชีพประชาชนอะไรได้มาก

นอกจากนี้ จะเห็นว่ามี 3 มาตรการ มีแนวโน้มว่าเป็นมาตรการเตรียมลอยแพประชาชนมากกว่ามาตรการช่วยเยียวยา อย่างกรณี “ตรึงราคาน้ำมันดีเซล” ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จะตรึงไว้ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2565 เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 รัฐบาลจะลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล โดยใน 2 เดือนแรกรัฐบาลจะช่วยจ่ายครึ่งหนึ่งในส่วนที่เกิน 30 บาทและตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 การลอยตัวค่าน้ำมันดีเซลเต็มรูปแบบตามราคาตลาด

อย่างไรก็ตาม มาตรการตรึงน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลประกาศว่าจะสิ้นสุดเดือนเมษายนนั้นสวนทางกับประกาศของกระทรวงพลังงานเดิมที่จะตรึงราคาถึงวันที่ 1พฤษภาคม ที่สำคัญนโยบายรัฐจะช่วย “ครึ่งหนึ่ง” หลังลอยตัวน้ำมันดีเซลนั้น ถ้าเอาราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นราคาน้ำมันดิบซึ่งตอนนี้น่าจะอยู่ระหว่าง 105-115 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในไทยจะตก 38-40 บาท แต่รัฐบาลตรึงราคาขายที่ 29.94 บาทต่อลิตร 

หากมีการลอยตัวน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยรัฐบาลช่วยจ่ายครึ่งหนึ่งในราคาที่เกินลิตรละ 30 บาท แต่เมื่อถึงวันที่ 1 ก.ค. 2565 หากสงครามยืดเยื้อ ราคาน้ำมันดิบอาจจะทะละเกิน115เหรียญต่อบาร์เรล ถึงตอนนั้นประชาชนอาจจะต้องจ่ายค่าน้ำมันดีเซลลิตรละ 38 หรือ 40 บาทไปเต็ม ๆ 

ตรงนี้ต้องบอกว่ารัฐบาลแก้ไม่ตรงจุด ควรต้องแก้ที่ต้นเหตุนั่นคือ เลิกอิงราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นสิงคโปร์ ที่เป็น “ต้นทุนแฝง” ไม่ใช่ต้นทุนจริง โดยมีการบวกค่าขนส่ง ค่าประกัน ซึ่งประชาชนต้องแบกภาระทั้งที่น้ำมันทั้งหมดที่ขายในประเทศล้วนกลั่น ณ โรงกลั่นในประเทศทั้งสิ้น

ประเด็นต่อมา “ราคาก๊าซถังละ 15 กิโลกรัม”  วันนี้ราคาจริงอยู่ที่ถังละ 463 บาท แต่รัฐบาลขายอยู่ที่ 318 บาท โดยจะมีการปรับขึ้น 3 เดือนรวด ตั้งแต่เดือน เม.ย. ขึ้นเป็นถังละ 333 บาท เดือนพ.ค. ขึ้นเป็น 348 บาท และเดือนมิ.ย. ขึ้นเป็น 463 บาท หลังจากนั้นต้องลุ้นอีกว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นต่อหรือไม่ เพราะรัฐบาลยังต้องอุดหนุนอีกถึงละ 100 บาท เมื่อคิดราคาก๊าซที่ ณ ปัจจุบัน

สุดท้าย มาตรการช่วยค่าน้ำค่าไฟด้วยการ “ลดค่า FT” 22 สตางค์ ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค. ซึ่งได้สูงสุดเดือนละราว 70 บาทต่อครัวเรือน หลังจากนั้นก็ปล่อยลอยแพ ตรงนี้มีข้อน่าสังเกตว่าคนที่ได้ประโยชน์ใช่คนจนหรือไม่ เพราะการใช้ไฟฟ้ามากหรือน้อยไม่ได้สะท้อนว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือคนจน

อย่าลืมว่าสมัยนี้ครอบครัวคนรุ่นใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางขึ้นไปเป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ หรือทำงานออฟฟิศ แต่งงานแล้วมักจะแยกครอบครัวและไม่มีลูกหรือมีลูกน้อย จะเป็นครอบครัวเล็กใช้ไฟน้อยไม่ถึง 300 หน่วยต่อเดือน คนกลุ่มนี้ คือ คนที่ได้ประโยชน์ ตรงข้ามกับคนยากจนที่อยู่ในชุมชน หรือครอบครัวรุ่นเก่าที่ฐานะไม่ดีมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ใช้ไฟมาก เกิน 300 หน่วยขึ้นไป กลายเป็นว่าคนจนใช้ไฟแพงกว่าคนรวย มาตรการนี้จึงไม่ได้ช่วยคนยากจนจริง ๆ

ส่วนมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคมที่จะช่วยให้ผู้ประกันตนเหลือเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยชดใช้เงินคืนกองทุนประกันสังคมคาดว่าเงินกองทุนน่าจะหายไปกว่าแสนล้านบาท ทั้งจากการลดเงินสมทบ และจ่ายแทนรัฐบาล กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ทุกวันนี้สถานะกองทุนประกันสังคมมีโอกาสเจ๊ง หากรัฐบาลยังลดเงินสมทบเพื่อช่วยค่าครองชีพ อาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดในอนาคต

จะเห็น 10 มาตรการช่วยเหลือคนไทยของบิ๊กตู่ นอกจากไม่มีอะไรใหม่แล้ว ยังดูมั่ว ๆ เวลาในการช่วยเหลือก็สั้นแค่ 3 เดือน เงินอุดหนุนก็จิ๊บจ๊อย แถมฝนตกไม่ทั่วฟ้า สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีเงิน อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณว่า อนาคตประชาชนจะถูกลอยแพค่อนข้างแน่

ผู้เขียน ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“เศรษฐกิจปรสิต”…โรคร้ายเรื้อรัง

Stagflation … ฝันร้ายเศรษฐกิจไทย

หยุด “หนี้ครัวเรือน” = หยุดวิกฤติชาติ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ