สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่พุ่งทะลุ 14 ล้านล้านบาท ส่อเค้าจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ร้อนถึง “รัฐบาลลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องออกมาประกาศให้ปี 2565 ยกระดับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยตั้งเป้าหมาย ให้สำเร็จให้ได้ ส่วนจะจริงจังแค่ไหนหรือจะเป็นแค่วาทะกรรมหรู ๆ ต้องจับตาดูต่อไป
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างยิ่งเพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่าอัตราการเติบโตของเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนชะลอลง เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการก่อหนี้มากขึ้นก็ตาม นับว่ายังน่าเป็นห่วง
ยิ่งเมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) อยู่ที่ 89.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมาก คาดว่าในปี 2565 มีโอกาสที่จะขยับสูงขึ้นกว่า 90% ของจีดีพี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงรุนแรง ทำให้ความสามารถในการหารายได้และการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง นั่นเท่ากับว่าการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนยิ่งมีความท้าทาย
ความยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวง เนื่องมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย มีความสลับซับซ้อนและหลากหลายมิติ ทั้งนี้เพราะหนี้ครัวเรือนของไทยเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง กลไกการปล่อยเงินกู้ก็มีความซับซ้อน ดังนั้นการแก้ปัญหาย่อมไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวจะต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป
ยิ่งหากส่องดูเนื้อในหนี้ครัวเรือนของไทย จะเห็นว่ายึดโยงอยู่กับหลายหน่วยงาน ไม่ใช่แค่ธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ยังมีสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ หนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง สินเชื่อสวัสดิการของข้าราชการ อยู่ใต้ร่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หน่วยงานที่กำกับดูแลเหล่านี้จะมีวิธีปฏิบัติในการแก้ปัญหาหนี้ที่แตกต่างกันออกไป
ดังนั้น ทางออกจากกับดักหนี้ ต้องไม่ได้แก้แบบชั้นเดียวเชิงเดียวต้องมองกันหลาย ๆ มิติ โดยต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อลูกหนี้ใหม่ ต้องมองเห็นปัญหาของลูกหนี้เป็นตัวตั้ง เห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ลูกหนี้ได้รับอยู่ทุกวันนี้ เพื่อหาทางออกให้ลูกหนี้พ้นจากกับดักหนี้ให้ได้
ยิ่งหากเจาะลึกไปยังประเภทของหนี้ก็ยิ่งมีความหลากหลาย มีผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ มากมาย เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้รถ หนี้บ้าน หนี้ครู หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้จากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น ทำให้หนี้ของประชาชนที่มาจากหลากหลายแหล่งไม่มีการกำกับดูแลที่เป็นระบบ
ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้ในเบื้องต้นต้องเริ่มจากรัฐบาลก่อน กล่าวคือ รัฐบาลต้องไม่ออกนโยบายที่ไปกระตุ้นให้คนก่อหนี้ ซึ่งที่ผ่านมา มีบางช่วงบางเวลาที่นโยบายรัฐกลายเป็นตัวเร่งให้คนไทยไปก่อหนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น แต่เป็นเพราะรัฐบาลไปมุ่งเน้นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลักโดยลืมนึกถึงว่าจะมีปัญหาหนี้ครัวเรือนตามมา
ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเห็นจากนโยบายลดแลกแจกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรกในอดีตที่กระตุ้นให้คนเป็นหนี้เพื่อซื้อรถราคาถูกเพราะรัฐบาลอุดหนุน หรือ นโยบายจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจของรัฐบาลปัจจุบัน หรือ นโยบายประชานิยมต่าง ๆเช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่กระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอย ล้วนแต่เร่งให้คนก่อหนี้มากขึ้นทั้งสิ้น
ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องทบทวนนโยบายหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพดานอัตราดอกเบี้ย ที่เกี่ยวข้องกับหลายผลิตภัณฑ์ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงและไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลที่สุดตอนนี้ คือ ครัวเรือนรายได้น้อยจำนวนมากมีทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ หนี้ประเภทหลังนี้ประเมินยากว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เชื่อว่าหากรวมหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบเข้าด้วยกันจะมีอัตราส่วน สูงกว่า 100% ต่อจีดีพีแน่ ๆ ซึ่งหนี้ทั้งสองระบบนี้มีอัตราดอกเบี้ยต่างกันมาก หากรัฐบาลแก้เฉพาะหนี้ในระบบ หนี้ก็ไปโป่งที่หนี้นอกระบบสุดท้ายครัวเรือนก็จะยังหนีไม่พ้นวังวนการเป็นหนี้อยู่ดี
อย่าลืมว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่แค่การลดแลกแจกแถมอย่างที่รัฐบาลกำลังทำอยู่เท่านั้น การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างได้ผล เพราะถ้าสามารถทำให้แต่ละเดือนประชาชนมีภาระการจ่ายหนี้ลดลง ก็จะทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนมีมากขึ้น เป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ต้องใช้งบประมาณแต่อย่างใด
การชูนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากจะหยุดวิกฤติหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นวิกฤติชาติแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลดีที่สุดอีกด้วย ได้แต่ขอว่าอย่าเป็นแค่วาทะกรรมหรู ๆ สุดท้ายก็เงียบหาย
ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี
บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน
สงคราม “รัสเซีย vs ยูเครน” … “เดือด” บ้านเขา “ร้อน” ถึงบ้านเรา