TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistสงคราม "รัสเซีย vs ยูเครน" ... "เดือด" บ้านเขา "ร้อน" ถึงบ้านเรา

สงคราม “รัสเซีย vs ยูเครน” … “เดือด” บ้านเขา “ร้อน” ถึงบ้านเรา

วินาทีนี้เหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างจับจ้องชนิดตาไม่กระพริบ คงหนีไม่พ้นกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ล่าสุรัสเซียได้เปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน บุกเข้าถึงกรุงเคียฟซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครนเรียบร้อยโรงเรียน “ปูติน” แล้ว

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงมาจากกรณีที่ยูเครนพยายามจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การ “นาโต้” ซึ่งเป็นความร่วมมือทางกองกำลังทหารที่มีอเมริกาและพันธมิตรร่วมกันก่อตั้ง ตั้งแต่สมัยที่รัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียด ทำให้รัสเซียไม่พอใจอย่างมาก

แต่สิ่งที่หลาย ๆ ประเทศกำลังวิตกกังวลอย่างหนัก นั่นคือ ผลกระทบที่จะตามมาหลังจากเกิดสงครามระหว่างสองประเทศนี้ บทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่าเมื่อใดที่เกิดสงครามย่อมเกิดผลกระทบมากมายมหาศาล เฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยต้องพลอยโดนหางเลขไปด้วย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนจากเหตุการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากมีข่าวรัสเซียส่งทหารเข้าสู่ภูมิภาคดอนบาส ตลาดหุ้นทั่วโลกตกไปตาม ๆ กัน แม้แต่ตลาดหุ้นรัสเซียเองราคาตกลง 15.6% หรือ 540 จุด ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลง 5% ระหว่างวันแตะระดับ 80 รูเบิล/ดอลลาร์ ส่วนตลาดหุ้นไทยปรับลด 18.88 % ดัชนีอยู่ที่ 1,694.32 จุด

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า รัสเซียถือนั้นถือเป็นอภิมหาอำนาจด้านพลังงานเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก และยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ขนาดใหญ่ ขณะที่ยูเครนก็มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศโดยเป็นผู้ส่งออกรายต้น ๆ ของโลก ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และธัญพืชชนิดต่าง ๆ

หากสองประเทศนี้วิกฤติ ย่อมทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานพุ่งสูงขึ้น ราคาที่ปรับสูงขึ้นจะไปกดดันต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาอาหารทั่วโลกให้สูงขึ้นตาม ยิ่งจะไปซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อสูงที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ขณะนี้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกยังแก้ไม่ตก

นั่นแปลว่า หากสงครามยืดเยื้อออกไป เงินเฟ้อ จากพลังงานราคาพุ่ง ย่อมฉุดเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของโลกชะลอตัวลงหรือาจจะถึงขั้นดิ่งเหว ยิ่งจะไปซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งที่หลาย ๆ ประเทศเพิ่งจะเริ่มฟื้นจากไข้ กลับต้องมาเจอวิกฤติอีกครั้ง และไม่รู้ว่าจะขยายวงออกไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่

สำหรับประเทศไทยแม้จะอยู่ไกลจากทั้งสองประเทศ แต่ก็หนีไม่พ้นโดนผลกระทบดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางอ้อมจากกรณี ราคาน้ำมันและราคาก๊าซที่ปรับขึ้นตามสถานการณ์ของโลก เมื่อสถานการณ์ของโลกเป็นแบบนี้ กลไกตลาดก็ต้องปรับขึ้น จึงทำให้เกิดเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

ในที่ประชุมของสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ได้ประเมินสถานการณ์ว่า ราคาน้ำมันไต่ระดับเกิน 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแน่ ๆ และอาจจะถึง 150 เหรียญต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับเจพี มอร์แกน คาดว่าหากเกิดเหตุปะทะรุนแรงราคาอาจแตะระดับสูงสุดที่ 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หากเป็นเช่นนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อของไทย อาจจะปรับตัวไปถึง 3-4% ต่อปี เลยทีเดียว กรณีเงินเฟ้อของไทยจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง คงหนีไม่พ้นเรื่องท่องเที่ยวและส่งออก โดยเฉพาะเรื่องท่องเที่ยว นักธุรกิจในแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยอมรับว่าวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยอย่างชัดเจน

ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวรัสเซียถือเป็นตลาดใหญ่ ติดอันดับท็อป 6-7 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย โดยในปี 2561-2562 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียราวปีละ 1.4 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศ 100,000 ล้านบาทต่อปี สงครามระหว่างสองประเทศย่อมส่งผลให้นักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมาเที่ยวในไทยลดลง อย่างแน่นอน

เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและการออกเดินทางท่องเที่ยวของชาวรัสเซีย ไทยก็น่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบในอันดับต้น ๆ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ คนรัสเซียให้ความนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว

ซ้ำร้ายหากเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวจากพิษสงคราม ก็อาจเห็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มยุโรปมาไทยลดลงเช่นกัน ต้องยอมรับว่านักท่องเที่ยวจากยุโรปและรัสเซียซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญของไทยในขณะนี้ เรียกว่างานนี้ดับฝันนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลเพื่อหารายได้จากการธุรกิจท่องเที่ยว

ขณะที่การส่งออกทั้งรัสเซียและยูเครนอาจจะไม่ใช่ตลาดใหญ่ที่โดดเด่นของไทย โดยปี 2564 ไทยส่งออกไปรัสเซีย มีมูลค่า 1,027 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.68% ไทยนำเข้าจากรัสเซีย 1,752 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.8% ขณะที่ไทยส่งออกไปยูเครน 134.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 35.72% ส่วนไทยนำเข้าจากยูเครน 251.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.72% แต่ก็ถือว่ามีอนาคต

แต่ที่น่าห่วงมากกว่า คือ ตลาดยุโรป โดยไทยส่งสินค้าออกไปยุโรปเป็นอันดับ 4 ของตลาดส่งออก ข้อมูลล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 64 ตลาดยุโรป ขยายตัวร้อยละ 54.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และอัญมณี และเครื่องประดับ เป็นต้น หากเศรษฐกิจยุโรปมีปัญหาประเทศไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน

ไม่รู้ว่ามาตรการล่าสุดซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินที่นำโดยสหรัฐ กลุ่มประเทศอียู อังกฤษ และแคนนาดา ที่ “คว่ำบาตรทางการเงิน” ขับธนาคารใหญ่รัสเซียออกจาก SWIFT ซึ่งเป็นเครือข่ายการโอนและชำระเงินระหว่างประเทศความปลอดภัยสูงที่เชื่อมต่อกับสถาบันการเงินทั่วโลกมากกว่า 11,000 แห่งถือว่ารุนแรงที่สุดจะฟาดหางมาถึงเศรษฐกิจบ้านเราหรือไม่

คงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทำการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อออกมาตรการรองรับทันท่วงที หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะมีผลกระทบจากราคาน้ำมันซึ่งจะส่งผลถึงราคาสินค้าในประเทศ และเงินเฟ้อ ตามมาอย่างแน่นอนถึงตอนนั้นเศรษฐกิจไทยอาจจอยู่ในสภาพกู่ไม่กลับเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเดือดระอุ ไม่ได้มีความร้อนแรงเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น ในโลกโซเชียลบ้านเราก็ถกเถียงกัน ฟัดกันอุตลุด ระหว่างกองเชียร์รัสเซียกับคนที่เห็นใจยูเครน เรียกว่าร้อนแรงพอ ๆ กันเลยทีเดียว

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ดรามา “แบงค็อก”

จะข้ามพ้น “วิกฤติน้ำมันแพง” อย่างไร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ