TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistดรามา "แบงค็อก"

ดรามา “แบงค็อก”

กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในโลกโซเชียลกันอย่างคึกคัก มีความเห็นต่างอย่างร้อนแรง เมื่อ ครม.มีมติประกาศชื่อ “กทม.” เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) ตามสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ จนในที่สุดราชบัณฑิตฯ ต้องออกมาชี้แจงว่า ยังสามารถใช้ได้ทั้งสองชื่อ แต่เป็นที่น่าสังเกต ชื่อเดิม “Bangkok” ต่อท้ายอยู่ในวงเล็บ หลายคนบอกกลายเป็นแค่ชื่อเล่น 

หากพลิกปูมจะรู้ว่ากว่าจะมาเป็นชื่อ ‘กรุงเทพฯ’ ที่เรียกขานกันในปัจจุบันนั้น โลกได้รู้จักคำว่า ‘Bangkok’ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา กล่าวคือ “บางกอก” เป็นชื่อท้องถิ่นที่ชาวบ้านเรียกขานกันมานานหลายร้อยปี แม้เดี๋ยวนี้จะไม่ได้เรียกแล้วก็ตาม

ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อมาเป็น Krung Thep Maha Nakhon เห็นว่า เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศไทย ก่อนหน้านี้เหมืองหลวงหลาย ๆ เมืองก็เปลี่ยนชื่อมาแล้ว อย่างกรณีเมืองหลวงของประเทศคาซัคสถานจากชื่อเดิม “อัสตานา” ก็เปลี่ยนมาเป็น “นูร์-ซุลตัน” หรือเมือง “บอมเบย์” ในประเทศอินเดียก็เปลี่ยนมาเป็น “มุมไบ” เป็นต้น

แต่ในกรณี บอมเบย์ มาเป็น มุมไบ นั้น บริบทอาจะแตกต่างกรณีอื่น ๆ ตรงที่ มุมไบ เป็นชื่อดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ตอนที่อังกฤษยึดครองอินเดียได้เปลี่ยนมาเป็นบอมเบย์ แต่เมื่ออินเดียได้เอกราชคืน ก็เปลี่ยนมาเป็น มุมไบ เหมือนเดิมซึ่งไม่ยากต่อการจดจำ  

ประเด็นที่กลุ่มที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อให้น้ำหนักมากที่สุด เพราะคำว่า Bangkok เสียงมันไปคล้องจองกับทั้งกิริยาและส่วนนั้นของผู้ชายในภาษาอังกฤษกลุ่มนี้เห็นว่าคำว่า Bangkok เป็นคำไม่สุภาพ มักจะถูกฝรั่งเอามาล้อเลียน

ฝ่ายที่คัดค้านการเปลี่ยนชื่อก็เห็นว่า การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้จะสร้างผลกระทบมหาศาล เนื่องจากคำว่า Bangkok เป็น “ต้นทุน” ประเทศ หากมีการเปลี่ยนจะสร้างความยุ่งยากในการติดต่ออย่างเป็นทางการกับต่างประเทศ ในการติดต่อทางธุรกิจ รวมถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของไทยในตำราวิชาการในระดับสากลอีกด้วยซึ่งเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” เห็นควรให้ใช้คำว่า Bangkok ต่อไปตามเดิม อีกทั้งชื่อนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและเป็นชื่อแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยเพราะมีรากศัพท์มาจาก “บางกอก” ซึ่งเป็นภาษาไทยเช่นกัน

นอกจากนี้ ในทางการตลาดคำว่า Bangkok นั้น “แบรนด์” ที่ทรงคุณค่าหากเทียบในระดับภูมิภาคนี้ Bangkok ถือเป็นแบรนด์ที่เข้มแข็ง ซึ่งการตลาดสมัยใหม่ต้องสู้กันด้วยแบรนด์ เพราะแบรนด์เป็นเรื่องของการสร้างการจดจำ การรับรู้ เรื่องของภาพลักษณ์ การสร้างบุคลิกให้กับสินค้านั้น ๆ สินค้าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวทางการตลาด ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้มากน้อยแค่ไหน  

ในโลกธุรกิจสมัยใหม่แบรนด์จึงมีความสำคัญและมีมูลค่า ถึงขั้นมีการซื้อขายกันด้วยมูลค่ามหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะแบรนด์ไม่ใช่แค่ชื่อ แต่เป็นเรื่องของฐานลูกค้าการยอมรับต่อสินค้านั้น ๆ หากลูกค้ารักและศรัทธา เรียกว่า “ความภักดีในแบรนด์” (Brand Loyalty) ก็จะมีมูลค่าสูง ดังนั้นกว่าจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ ต้องทุ่มเททั้งทุนและเวลามหาศาล 

สำหรับในธุรกิจท่องเที่ยว Bangkok และ Phuket เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก นักท่องเที่ยวรู้จัก Phuket เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงาม มีเสน่ห์ ส่วน Bangkok คนทั่วโลกรู้จักในฐานะเมืองหลวง เป็นดินแดนแห่งสตรีทฟูดส์ชั้นดี เป็นศูนย์รวมธุรกิจ เป็นศูนย์กลางการเงิน ที่ตั้งสำนักงานและเป็นศูนย์ราชการ ดังนั้น การเปลี่ยนชื่อจาก Bangkok มาเป็น Krungthep Maha Nakhon ซึ่งยาวเฟื้อย ยากต่อการจดจำของชาวต่างชาติ  จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ตัวอย่างง่าย ๆ ขนาด เมียนมาร์ ย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งมาอยู่ที่เมืองเนปิดอว์มาหลายสิบปี จนป่านนีคนยังรู้จักย่างกุ้งมากกว่า 

ที่สำคัญประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว คงต้องประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ สร้างการจดจำกันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจเอกชน โรงแรมต่าง ๆ ก็ต้องทำใหม่ ตั้งแต่ป้ายโฆษณาแหล่งท่องเที่ยว ต้องทำการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้ลูกค้าในต่างประเทศเข้าใจ ต้องทำเว็บไซต์กันใหม่หมด 

อย่าลืมว่า ชาวต่างชาติคุ้นเคยกับคำว่า Bangkok มานาน การทำความเข้าใจใหม่คงจะยุ่งยากไม่น้อย อีกทั้งคำว่า Bangkok มีความกระชับ เรียกชื่อและจดจำง่ายเรื่องนี้ ไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนเกือบ 20% ของจีดีพี แต่ยังรวมไปถึงการติดต่อธุรกรรมต่างประเทศ การค้าการส่งออก การเดินทาง การศึกษา ต่างก็ได้รับผลกระทบ ต้องเริ่มทำความเข้าใจกันใหม่ทั้งหมด

“ธีรภัทร เจริญสุข” นักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านวัฒนธรรม ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เรื่องเปลี่ยนชื่อกรุงเทพฯ ภาษาอังกฤษจาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon ไม่ใช่เรื่องแค่ตลกอย่างที่คิด เพราะเมื่อเป็นมติครม. และประกาศของราชบัณฑิตฯ เท่ากับว่า หน่วยงานราชการทั้งหมดต้องปฏิบัติใช้ตาม ตามระเบียบสารบรรณฯ ของสำนักนายกฯ เมื่อทุกหน่วยงานราชการต้องปฎิบัติตาม เท่ากับป้ายทั้งหมดของราชการ ต้องเปลี่ยนตามคิดเป็นเงินเท่าไร ไม่อยากนับ 

นอกจากนี้ ต่อไปในเอกสารราชการ ต้องเปลี่ยนจาก Bangkok เป็น Krungthep Maha Nakhon จาก 7 ตัวอักษร เป็น 19 ตัวอักษร (รวมช่องไฟ 2 ช่อง เป็น 21 ตัวอักษร) พื้นที่กระดาษและหมึกที่จะต้องเสียเพิ่มเติม คือ 3 เท่าตัวในปี 2014 มีงานวิจัยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนฟอนต์จาก Times New Roman เป็น Garamond ที่บางลง สามารถประหยัดเงินค่าหมึกพิมพ์และกระดาษไปได้ 234 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ล้วนมีเหตุมีผลด้วยกันทั้งนั้น เข้าตำรา “สองคนยลตามช่อง” แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ควรจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

จะข้ามพ้น “วิกฤติน้ำมันแพง” อย่างไร

เกิดน้อย…ปัญหาใหญ่

เมื่อ “ซาอุฯ” เปลี่ยนไป .. ไทยจะได้อะไร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ