TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเมื่อ "ซาอุฯ" เปลี่ยนไป .. ไทยจะได้อะไร

เมื่อ “ซาอุฯ” เปลี่ยนไป .. ไทยจะได้อะไร

ในที่สุดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียที่ต้องหยุดชะงัก นานถึง 32 ปี ก็เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เบื้องลึกความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศสะบั้นลงไม่ใช่เพราะกรณี “เกรียงไกร เตชะโม่ง” ขโมยเพชรจำนวนมหาศาลเท่านั้น แต่ความไม่พอใจกลับให้น้ำหนักไปที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเห็นว่ารัฐบาลไทยในสมัยนั้นไม่จริงจังในการแก้ปัญหา เฉพาะอย่างยิ่งทางการไทยไม่สามารถคลี่คลายคดีฆาตกรรมนักการทูตและการหายตัวไปของนักธุรกิจซาอุดีอาระเบียได้

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียไม่ได้เห็นประเทศไทยเป็นศัตรู แต่แค่แสดงความไม่พอใจในท่าทีรัฐบาลไทย ดังนั้นแม้ความสัมพันธ์ทางการทูตจะถดถอย แต่ทางด้านการค้าก็คงยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการค้าล่าสุดในปี 2564 ทั้งสองฝ่ายมีการค้าระหว่างกัน คิดเป็นมูลค่า 233,074.6 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้ารถยนต์, ไม้, เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็น, ยาง อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป และได้นำเข้าสินค้าน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบีย  แต่ต้องสูญเสีย “นักท่องเที่ยว” กระเป๋าหนักและ “แรงงาน” ราว ๆ 2 แสนคนที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล จนถึงวันนี้ยังมีแรงงานไทยหลงเหลืออยู่ราว ๆ หมื่นกว่าคน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความสันพันธ์จะฟื้นกลับมาอยู่ในระดับปกติ แต่อย่าลืมว่าบริบทของทั้งสองประเทศที่ห่างเหินกันไปนานได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะนโยบายด้านแรงงานที่เรียกว่า “SAUDIZATION” ที่ลดอัตราการจ้างงานแรงงานต่างชาติลง โดยกำหนดให้รัฐ-เอกชนจะต้องจ้างคนของเขาทำงานร้อยละ 20 ของคนงานทั้งหมด ย่อมจะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในอนาคต อาจจะไม่เฟื่องฟูเหมือนอดีต แต่ก็ยังพอมีช่องว่าให้สอดแทรกบ้างตรงที่คนซาอุดีอาระเบียไม่ค่อยชอบทำงานหนักเท่าไรนัก

การที่แรงงานไทยได้ห่างหายไปจากตลาดแรงงานในซาอุดีอาระเบีย นานกว่า 30 ปี ทำให้มีแรงงานจากชาติต่าง ๆ เข้ามาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานอินเดียที่มีทักษะสูง อย่างพวกวิศวกร ฟิลิปปินส์ที่ถนัดงานด้านบริการ แม่บ้าน พยาบาล ที่มีความได้เปรียบด้านภาษา ส่วนแรงงานระดับล่างก็จะมีปากีสถาน บังคลาเทศเข้ามาแทนที่โอกาสที่แรงงานไทยจะเข้าไปแทรกก็คงไม่ง่าย

แม้ทางรัฐบาลรุ่นใหม่ของซาอุดีอาระเบียจะประกาศ “วิสัยทัศน์ 2030” เปลี่ยนจากประเทศที่เคยพึ่งพาน้ำมันเป็นรายได้หลัก เริ่มหันมามองหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ โดยเฉพาะการค้าขาย และการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ โดยลงทุนโครงการก่อสร้างระดับเมกะโปรเจกต์ที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก อาจจะเป็นผลดีต่อแรงงานจากไทยบ้าง แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นตลาดแรงงานในซาอุดีอาระเบียอาจจะไม่ง่ายเหมือนในอดีต

ขณะเดียวกันหลังจากที่ตลาดแรงงานซาอุดีอาระเบียปิดประตูไม่ต้อนรับ แรงงานไทยก็หันหัวเรือไปขายแรงงานในอิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่มีอัตราค่าแรงสูงกว่า ข้อมูลจากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ปัจจุบันอัตราค่าแรงงานไร้ฝีมือในตะวันออกกลางอยู่ราว ๆ 500 เหรียญสหรัฐหรือราว 16,585 บาทต่อเดือน แรงงานกึ่งฝีมือ 520 เหรียญ หรือ 17,212 บาทต่อเดือน แรงงานฝีมือ 600-800 เหรียญสหรัฐหรือ 19,860-26,480 บาทต่อเดือน ขณะที่ค่าแรงในเกาหลีใต้และอิสราเอลตกเดือนละ 50,000 บาท ญี่ปุ่นชั่วโมงละ 270 บาท ไต้หวันเดือนละ 30,000 บาท ค่าแรงที่ต่างกันมากคงไม่จูงใจแรงงานไทยอยากจะไปขายแรงงานตะวันออกกลางเท่าไรนัก 

เหนือสิ่งใด หากแรงงานไทยจะกลับไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย ต้องปรับตัวให้เข้าวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่คุ้นชิน ภาพจำในอดีตที่คนรุ่นพ่อถูกหลอกถูกโกงจากตัวแทนหางานเอกชน ต้องไปตกระกำลำบากเป็นหนี้เป็นสิ้น บางคนบ้านแตกสาแหรกขาด จนมีวลีอมตะ “ไปเสียนา มาเสียเมีย” ยังตามหลอนถึงรุ่นลูก ๆ

ประกอบปัจจุบันนี้ในประเทศเองยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก บรรดาโครงการก่อสร้างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ โรงงานต่าง ๆ ต้องนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว กัมพูชามาทดแทน 3-4 ล้านคน ส่วนคนไทยก็หันไปทำงานด้านบริการสบายกว่า อีกทั้งทักษะต่าง ๆ ของแรงงานไทยก็ยังไม่ได้มีการพัฒนาให้สูงขึ้นสอดล้องกับที่ตลาดต้องการ

สิ่งที่น่าสนใจในวิสัยทัศน์ 2030 คือ ความมั่นคงด้านอาหาร ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เร่งแสวงหา “ที่ดิน” เพื่อใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวเพื่อป้อนประชาชนประเทศตัวเอง จึงน่าจับตาดูว่าการฟื้นสัมพันธ์กับไทยในครั้งนี้ จะเกี่ยวข้องกับการหาที่ดินเพื่อรองรับความมั่นคงด้านอาหารหรือไม่ 

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ คงจำกันได้ในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ไทยเคยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำ “เกษตรพันธะสัญญา” (contract farming) เพื่อผลิตข้าวให้ซาอุดีอาระเบียมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จเพราะโดนต่อต้าน หรือไม่กี่ปีมานี้ก็จะเห็นข่าวลือว่ามีเศรษฐีจากซาอุดีอาระเบียมากว้านซื้อที่นาปลูกข้าวในแถบภาคกลางของเรา แต่ข่าวลือนี้ก็เงียบหายไป

มุมมองของซาอุดิอาระเบียต่อประเทศไทยตอนนี้ น่าจะเป็นเรื่องการเป็น “ครัวของโลก” เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก ตรงนี้แหละที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและคนไทยมากกว่าการคิดขายแค่แรงงานราคาถูกอีกต่อไป

อีกเรื่องที่น่าจะเป็นโอกาสจริง ๆ คือ เรื่องการท่องเที่ยว หลังจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียไม่ให้คนของเขาเข้ามาเที่ยวในเมืองไทย นักท่องเที่ยวชาวซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ก็หันไปเที่ยวประเทศมาเลย์แทน ปีหนึ่งนับแสน ๆ คน หากการกลับมาคืนดีกันก็น่าจะปลุกการท่องเที่ยวไทยคึกคักอีกครั้ง 

ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นแค่บันไดขั้นแรก ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศจะก้าวต่อไปอย่างไรยั่งยืนหรือไม่ขึ้น อยู่ทั้งรัฐบาลและข้าราชการไทยจะมองเห็นผลประโยชน์ของประเทศมากน้อยแค่ไหน… ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เสือลำบาก “เศรษฐกิจแย่-การเมืองยุ่ง”

ไข้หวัดนก ถึง “อหิวาต์หมู” บทเรียนซ้ำซาก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ