TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเสือลำบาก “เศรษฐกิจแย่-การเมืองยุ่ง”

เสือลำบาก “เศรษฐกิจแย่-การเมืองยุ่ง”

ขณะที่เรากำลังเผชิญภาวะราคาสินค้าหลาย ๆ ตัวขยับเพิ่มสูงขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์นี้เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกพุ่งกระฉูด ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกบ้านเราขยับตามทันที โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลทำให้ราคาค่าขนส่งสินค้าแพงขึ้นตามไปโดยอัตโนมัติ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้ราคาสินค้าหลาย ๆ ตัวก็แอบขยับขึ้นตามไปด้วย

ล่าสุด สินค้าหมวดอาหารซึ่งเป็นเรื่องของปากท้องโดยตรงก็ทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก เพราะราคาหมูแพงไม่ว่าจะไปซื้อหมูสดสำหรับทำอาหารทานเองหรือราคาอาหารที่ขายในร้าน เนื่องมาจากที่ผ่านมาหมูขาดแคลนอย่างหนักเป็นผลมาจากหมูตายด้วยโรค ASF ระบาด บรรดาเจ้าของฟาร์มและกลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยทั่วประเทศล้มหายตายจากไปกว่าแสนราย ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากวัตถุดิบราคาแพง ความต้องการบริโภคหลังเปิดประเทศมีมากขึ้น 

ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่หมูเท่านั้นที่แพงขึ้น ราคาอาหารอื่น ๆ ที่ทดแทนกันได้อย่างเนื้อไก่หรือวัตถุดิบอื่น ๆ ก็ทยอยขึ้นตาม เพราะคนหันมาบริโภคขึ้น แถมสินค้าบางอย่างก็ฉวยโอกาสแอบขึ้นราคาแบบ “มั่วนิ่ม” และขึ้นครั้งละมาก ๆ 

ตอนนี้ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนเรื่องน้ำมันปาล์มขาดแคลน ราคาก็ขยับขึ้นใกล้ ๆ ขวดละ 70 บาทแล้ว บางห้างบางสาขาก็ไม่มีสินค้าบนชั้นวาง ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งราคาขยับขึ้นไปถึง 62-63 บาท/ขวด ส่วนร้านค้าปลีกที่เป็นโชห่วย ราคาอยู่ที่ 65-67 บาท และยิ่งต่างจังหวัดที่ไกล ๆ ออกไปราคาก็จะสูงกว่านี้นับว่าเป็นการซ้ำเติมประชาชนอย่างยิ่ง 

นับตั้งแต่เราเผชิญกับโควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ ประชาชนต้องประสบปัญหาเรื่องรายได้มาอย่างยาวนาน นอกจากเงินในกระเป๋าจะไม่เพิ่มแล้ว หลายคนรายได้ยังหดหายเพราะตกงานไม่มีงานทำ สะท้อนจากหนี้ครัวเรือที่แตะ ๆ เกือบ 90% ต่อจีดีพี แรงงานจากชนบทที่เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ต่างเริ่มพากันทยอยขนย้ายครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิม แม้ไม่มีงานทำก็ยังมีข้าวกินมีที่อยู่ ดีกว่าอยู่กรุงเทพฯ ค่าครองชีพก็แพง งานก็ไม่มีทำ

เศรษฐกิจไทยตอนนี้อยู่ในสภาพ “เงินเฟ้อและเงินฝืด” ประดังเข้ามาพร้อม ๆ กัน ความเป็นอยู่ของประชาชนยากลำบาก ซ้ำเติมวิกฤติที่เป็นอยู่ เศรษฐกิจทั้งระบบกำลังจะพังพินาศ และในระยะยาวจะถลำลึกจนยากจะฟื้น 

ขณะที่ข้าวของแพงแต่รัฐบาลที่บริหารประเทศแทนที่จะเอามาเวลามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน ก็ต้องมาเจอมรสุมทางการเมืองเริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้ กลายเป็นรอยร้าวมองหน้ากันไม่ติดระหว่าง “พลังประชารัฐ” กับ “ประชาธิปัตย์” ในการหาเสียงมีการสาดโคลนเข้าใส่กันอย่างรุนแรง

ไม่กี่วันนี้ก็เพิ่งเกิด “อาฟเตอร์ช็อก” ทางการเมืองตามมาอีกระลอก เมื่อพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและหนุน “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติขับ “ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า” เลขาธิการพรรคและส.ส.ในกลุ่ม 21 คนพ้นพรรค ล่าสุดได้พากันอพยพไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทยเรียบร้อยแล้ว

งานนี้ แม้บาดแผลเป็นของพลังประชารัฐ แต่ความเจ็บปวดปฏิเสธไม่ได้ว่า “ลุงตู่” รับไปเต็ม ๆ เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่า “ร.อ.ธรรมนัส” คือ ไม้เบื่อไม้เมามาตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การที่กลุ่มนี้ออกมาอยู่พรรคใหม่ก็เท่ากับเสือติดปีก จากนี้ไปจะต่อรองหรือตีรวนหรือจับมือฝ่ายค้านก็ทำได้ง่ายไม่ต้องฟังหรือทำตามมติพรรคอีกต่อไป

ใคร ๆ ก็รู้เช่นกันว่ายี่ห้อ “ลุงตู่” ประเภท “ยอมหักไม่ยอมงอ” นั่นแปลว่าอุณหภูมิทางการเมืองนับจากนี้ไปนับวันจะร้อนแรงและดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมแตกหักได้ทุกเมื่อ เสถียรภาพรัฐบาลที่ผ่านวิกฤติการเมืองนอกสภาฯ มาได้ นับจากนี้ไปต้องเจอศึกในสภาฯ ที่ดุเดือดเข้มข้นยิ่งกว่า 

ขณะที่ฝ่ายค้านก็อาศัยจังหวะนี้ยื่นอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ต้องลงคะแนน คาดว่าประเด็นที่อภิปรายหนีไม่พ้นเรื่อง “หมูป่วย หมูแพง” และสินค้าขึ้นราคา แม้ไม่มีการลงมติ แต่งานนี้อย่างน้อยก็ “ดิสเครดิตรัฐบาล” ให้เสียแต้ม ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่รัฐบาลต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากส.ส.พรรครัฐบาล เมื่อเสียงหายไป 21 เสียง ทำให้เสียงฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านสูสีขึ้นมาทันที ในกรณีที่กลุ่มส.ส.21 เสียงยกมือหนุนฝ่ายค้าน

ปี 2565 จึงเป็นปีที่ยากลำบากของคนไทยอีกปี แม้เริ่มต้นมาต้องเจอกับโอไมครอน แต่อาจจะเข้าตำรา “ต้นร้ายปลายดี” เพราะเป็นไปได้ว่า โอไมครอนจะมาปิดเกมโควิด-19 ให้คนได้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ แต่ประเทศไทยต้องมาเจอกับเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ข้าวของราคาแพง ค่าครองชีพสูงขึ้น 

ซ้ำร้ายกว่าต้องมาเจอวิกฤติการเมืองสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล อย่าลืมว่าเศรษฐกิจกับการเมืองนั้นเป็นคู่แฝดที่แยกกันไม่ออก หากการเมืองมั่นคง ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อมั่นก็กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย นักลงทุนก็กล้าวางแผนระยะยาวกล้าลงทุนมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้เร็ว

แต่เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ทุกอย่างต้องชะงักงันเพราะไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น 

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ไข้หวัดนก ถึง “อหิวาต์หมู” บทเรียนซ้ำซาก

ไขความจริง “วิกฤติหมู” ที่ไม่หมู

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ