TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistไขความจริง "วิกฤติหมู" ที่ไม่หมู

ไขความจริง “วิกฤติหมู” ที่ไม่หมู

ย่างเข้าปีเสือไม่ทันไร รัฐบาลก็ต้องเจอ “หมูดุ” ไล่กัด เมื่อราคาหมูหน้าเขียงล่าสุดพุ่งทะยานกว่า 200 บาท/กิโลกรัม บางเขียงขายกันสูงถึง 230 บาท/กิโลกรัม คาดว่าในช่วงตรุษจีนอาจจะถึง 300 บาท/กิโลกรัม เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ และราคาหมูอาจจะพุ่งไม่หยุด หากการแก้ปัญหาของรัฐบาลเกาไม่ถูกที่คัน เพราะปัจจัยที่ทำให้หมูราคาแพงมีหลาย ๆปัจจัย การแก้ปัญหาต้องคลี่ออกทีละปมไม่ใช่แก้แบบเหมารวม 

ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้ราคาหมูแพง ปัจจัยแรก คือ “ต้นทุนการเลี้ยงสูง” โดยเฉลี่ยราว ๆ 30% เนื่องมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ผลิต “อาหารสัตว์” ปรับตัวสูงขึ้นทุกตัว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ วัคซีนและผลิตภัณฑ์ยาต่าง ๆ ก็ปรับขึ้นหมด ประกอบกับฟาร์มต่าง ๆ ต้องลงทุนด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ยิ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีก

ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ล่าสุด ระบุว่าต้นทุนการเลี้ยงหมูในปี 2562 จะอยู่ราว ๆ 66-67 บาท/กิโลกรัม ครั้นมาในปี 2565 ต้นทุนพุ่งเกิน 80-82 บาท/กิโลกรัม ทำให้ราคาหมูมีชีวิตขยับจาก 68.77 บาท/กิโลกรัม เป็น 96-100 บาท/กิโลกรัม และคาดว่าจะพุ่งไปถึง 102-108 บาท/กิโลกรัม ในปี 2565 แต่ข้อมูลเท่าที่ทราบจากผู้เลี้ยงรายย่อยบางรายต้นทุนตก 120บาท/กิโลกรัม เลยทีเดียว

ปัจจัยที่สอง สืบเนื่องมาจากการบริโภคในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 กลับมาสูงขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลคลายมาตรการต่าง ๆ มีการปลดล็อกดาวน์และเปิดประเทศ คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยกันคึกคักขึ้นหลังจากซบเซามานาน ส่งผลให้ความต้องการบริโภคหมูเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับปริมาณหมูขุนที่เข้าสู่ตลาดลดลงจากปกติกว่า 30% ราคาพุ่งจึงกระฉูดทันที 

ปัจจัยสุดท้าย ถือเป็นสาเหตุสำคัญ เนื่องจากเกิดโรค “อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” (African Swine Fever: ASF) ระบาดในฟาร์มต่าง ๆ ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์ระดับรุนแรงทำให้หมูล้มตายไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายกลาง ๆ ที่เลี้ยงแบบโรงเปิด การบริหารจัดการอาจจะยังไม่ดีพอ ต้องฆ่าทำลายหมูทิ้ง 40-50% เท่าที่ทราบบางฟาร์มต้องฆ่าทิ้งทั้ง 100% ต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก มีภาระหนี้สินตามมา ยอมปล่อยให้ฟาร์มร้าง ไม่กล้าเลี้ยงต่อ เพราะไม่มีทุนและกลัวว่าหมูจะตายอีก ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเพราะทำให้ปริมาณหมูในตลาดน้อยลงไปอีก 

ตามข้อมูลกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ผลผลิตสุกรจาก 22.53 ล้านตัวในปี 2562 เหลือ 19.27 ล้านตัวในปี 2564 และคาดเหลือ 12.98 ล้านตัวในปี 2565 ปกติจำนวนผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุดที่มีผู้เลี้ยง 1.9-2 แสนราย หลังเกิดโรคระบาดเหลือแค่ 7-8 หมื่นรายเท่านั้น โดย 1 ใน 3 ของจำนวนหมูทั้งหมดจะเป็นฟาร์มรายใหญ่ แต่ผลผลิตก็ออกสู่ตลาดได้แค่ 50-60% เท่านั้น

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเกิดจาก โรค “อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” ที่ระบาดมานานนับปี แต่กรมปศุสัตว์ในฐานะที่ดูแลโดยตรงกลับไม่ยอมรับความจริงกับผู้เลี้ยงว่ามีโรคนี้ระบาดในฟาร์มหมู และไม่ยอมพูดความจริงกับประชาชน ทุกวันนี้ยังยืนยันว่าไม่มีโรคดังกล่าวขณะที่เกษตรกรต่างพากันยืนยันและมีการตรวจพิสูจน์มาแล้วก็ตาม 

ทำไมกรมปศุสัตว์ไม่ยอมรับว่ามีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แต่บอกว่าหมูป่วยเป็นโรคเพิร์ส (โรคระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจของสุกร) ซึ่งร้ายแรงน้อยกว่า เพราะหากยอมรับรัฐบาลจะต้อง “จ่ายชดเชย” ให้กับผู้เลี้ยง ที่ผ่านมารัฐบาลได้ถมเงินไปกับการแก้วิกฤติโควิด-19 ระบาดจน “ถังแตก” อาจจะไม่มีเงินมาชดเชยได้ หรือที่ต้องปิดข่าวเพราะไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกหวั่นจะกระทบผู้เลี้ยงหรือผู้ส่งออกรายใหญ่ ๆ ไม่สามารถส่งออกได้ คล้ายกับกรณีไข้หวัดนกระบาดในฟาร์มไก่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่มีการปิดข่าวทำให้ผู้เลี้ยงไก่รายย่อยและรายกลางต้องเจ๊งระเนระนาด 

ผลกระทบจากกรณีนี้ไม่เพียงแค่ “หมูขาดตลาด” จนทำให้ “หมูราคาแพง” ขึ้นเท่านั้น แต่จะกระทบกับโครงสร้างผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ เนื่องจากการระบาดครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ฟาร์มหมูรายย่อยแต่ละฟาร์มตายไม่ต่ำกว่า 50% บางฟาร์มตายหมด ทุกวันนี้ฟาร์มหมูหายไปจากวงจรมากถึง 70% ทั้งหมดเป็นผู้เลี้ยงรายย่อย

ในแง่ของผู้บริโภคก็คงต้องกินหมูแพงอีกนาน เพราะวงจรการเลี้ยงหมูต้องใช้เวลานาน 6 ถึง 12 เดือน คาดว่ากว่าการผลิตหมูจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติคงราว ๆ 2 ปี นั่นแปลว่าคนไทยจะต้องกินหมูแพงอย่างนี้ต่อไปอีกนาน แม้รัฐบาลจะมีนโยบายงดส่งออก 3 เดือน ประมาณว่าจะมีหมูเข้าสู่ระบบ 1 ล้านตัว แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้ไทยส่งออกหมูไปต่างประเทศน้อยมาก 

เหนือสิ่งใด กรณีนี้ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึง “เขียงหมู” ที่ขายในตลาดทั่วไป เมื่อหมูราคาแพงจนไม่คุ้มก็ต้องเลิกราไป อีกทั้งบรรดาฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีระบบการบริหารที่ดีสามารถบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำและความสูญเสียจากหมูตาย 30% เท่านั้น ยังมีหมูเป็นเหลืออีก 70% ที่จะ “ดั๊มพ์ราคา” ลงมาเขย่าเขียงหมู ในที่สุดก็จะเหลือแต่หมูชำแหละจากฟาร์มขนาดใหญ่ที่ขายในโมเดิร์นเทรดและแผงของตัวเองเท่านั้น

แทบไม่ต้องพูดถึงผลกระทบถึงผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจโดยรวม ราคาหมูแพงทำให้เกิดเงินเฟ้อจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จะเห็นได้จากราคาอาหารไม่ว่าจะเป็นข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ต่างเริ่มทยอยปรับราคากันบ้างแล้ว เรื่องหมูซึ่งไม่หมูจริง ๆ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ระเบิดเวลา …หรือ “ยากระตุ้นเศรษฐกิจ”

ภาษีขายหุ้น…ฤาจะ “กระตุกหนวดเสือ”

2564 … อีก 1 ปีที่หายไป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ