TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistภาษีขายหุ้น...ฤาจะ “กระตุกหนวดเสือ"

ภาษีขายหุ้น…ฤาจะ “กระตุกหนวดเสือ”

โค้งสุดท้ายปี 2564 ใกล้จะสิ้นปีอีกไม่กี่วันข้างหน้า คนในแวดวงตลาดหุ้นต่างต้องช็อกไปตาม ๆ กันเมื่อกระทรวงคลังทิ้งระเบิดเข้าใส่ด้วยการส่งสัญญาณว่าเตรียมนำนโยบายเก็บ “ภาษีขายหุ้น” หรือ “Financial Transaction Tax” ในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขายเกิน 1 ล้านต่อเดือนออกมาใช้

ตอนแรกคิดว่าเป็นแค่ข่าวโคมลอย แต่เริ่มมีความชัดเจนเมื่อ “เอกนิติ นิติทัณฑ์” อธิบดีกรมสรรพากร ได้ออกมาตอกย้ำว่าภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมากกว่า 30 ปีแล้ว โดยการเรียกเก็บภาษีจะต้องดูหลายปัจจัยประกอบโดยเฉพาะเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสม และยืนยันว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวนั้น ประชาชน 85% หรือนักลงทุนรายย่อยจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มีมาตั้งแต่ ปี 2534 แต่ได้รับการยกเว้นมาตลอด คราวนี้ก็ถึงเวลาที่กระทรวงคลังจะหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นธรรมและเป็นการปฏิรูประบบภาษี แม้ว่าคนในตลาดหุ้นอาจจะมองว่า มาตรการนี้ออกมาเพราะ “รัฐถังแตก” จากการที่ต้องถมเงินแก้วิกฤติ ในห้วง 2 ปีที่โควิด-19 แพร่ระบาด

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การจัดเก็บภาษีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มี 2 รูปแบบและมีความแตกต่างกัน ดังนี้ ภาษีประเภทแรก เรียกว่า “Capital Gain Tax” เป็นภาษีกำไรจากเงินลงทุน หรือภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดจากส่วนต่างของราคาหุ้น ซึ่งในหลายประเทศมีการเรียกเก็บภาษีนี้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการเรียกเก็บภาษีในส่วนนี้ 

ส่วนภาษีประเภทที่สองเรียกว่า “Financial Transaction tax” หรือภาษีขายหุ้นที่กระทรวงคลังกำลังจะนำออกมาใช้ คือ การเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในกฎหมายกำหนดไว้ว่าการขายหุ้นในตลาดฯ 1 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย หรือ ขายหุ้น 1ล้านบาทต้องเสียภาษี 1,000 บาท

อันที่จริงนโยบายที่จะเก็บภาษีจากนักลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมีมาเป็นระยะ ๆ แต่ส่วนใหญ่เสนอให้กับ “ภาษีกำไรหุ้น” Capital Gain Tax ล่าสุดเมื่อปี 2562 สภาพัฒน์ฯ ก็เสนอนโยบาลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยด้วยการเสนอให้รัฐเก็บภาษีในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ได้รับการคัดค้านจากกระทรวงคลัง และตลาดหลักทรัพย์ฯ แผนนี้จึงต้องพับไป

แม้ว่ากระทรวงคลังยืนยันว่าการเก็บภาษีครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบรายย่อยแต่เอาเข้าจริง ๆ ก็คงหนีไม่พ้น สะท้อนจากความเห็นของนักลงทุนรายย่อยรายหนึ่งที่ได้อรรถาธิบายเรื่องนี้ว่า มาตรการเก็บภาษีหุ้นที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาทนั้น เป็นการคิดภาษีจากมูลค่าฐานการลงทุนรวมกับส่วนต่างกำไรราคาหุ้น ไม่ใช่การคิดภาษีเฉพาะกำไรจากการขายหุ้นอย่างเดียว 

นั่นเท่ากับมีการคิดภาษีส่วนต้นทุนหุ้นด้วย หากนักลงทุนซื้อหุ้นที่มีต้นทุนแพงมาก อาทิ ต้นทุนต่อหุ้นหลัก 100 บาท แต่มีส่วนต่างกำไรต่อหุ้นเพียงหลักสิบบาท ก็จะกำไรส่วนต่างราคาหุ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แถมยังโดนหักภาษีอีก แทนที่ผู้ลงทุนจะได้กำไรการลงทุนหุ้น อาจจะขาดทุนจากที่โดนหักภาษีได้ 

นักลงทุนรายนั้นบอกว่า ในช่วงระยะสั้นมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นแน่นอน

แม้เรื่องการเก็บภาษีจะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะดำเนินการเสียทีเพราะที่ผ่านมา คนบางกลุ่มมองตลาดหุ้นบ้านเราเป็น “แหล่งเก็งกำไร” นักเก็งกำไรเข้ามาหาประโยชน์ในระยะสั้น ๆ ฟันกำไรเหนาะ ๆ โดยไม่ต้องจ่ายภาษี คนกลุ่มนี้มักจะอ้างว่าสหรัฐอเมริกายังมีการเก็บภาษีกำไรหุ้น บ้านเราก็น่าจะต้องเสียภาษีเช่นกัน

แต่กลุ่มคัดค้านก็อ้างว่า “ตลาดหุ้น” ได้มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ถ้าไม่มีตลาดหุ้น ธุรกิจของไทยคงไม่ใหญ่โตอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ขนาดเศรษฐกิจไทยก็ไม่โตเท่านี้ เพราะมีตลาดหุ้นทำให้ธุรกิจเข้ามาระดมทุนได้มีต้นทุนการเงินต่ำกว่าการกู้แบงก์ที่ต้องเสียดอกเบี้ย และเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย โดยเฉพาะธุรกิจ SME การเก็บภาษีจะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น และเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน

กลุ่มที่คัดค้านยังย้ำอีกว่า หากกระทรวงคลังยืนยันจะเก็บภาษีจริง ๆ “ได้คุ้มเสียหรือไม่” แต่ที่แน่ ๆ จะทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศตื่นตระหนกตกใจหอบเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่มีนโยบายเก็บภาษีแทน ซึ่งตลาดเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก็ไม่เก็บภาษีในตลาดหุ้นแต่อย่างใด

อันที่จริงหากรัฐบาลจะหารายได้เข้าคลัง นอกจากจะคิดถึงการเก็บภาษีขายหุ้น น่าจะลองหยิบนโยบายในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ลดภาษีรายได้นิติบุคคลให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จาก 30% เหลือ 20% ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ราว 200,000 ล้านบาทมาปัดฝุ่นใหม่อาจจะง่ายกว่ามาตรการเก็บภาษีที่กำลังคิดจะทำ 

เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอย่าลืมว่าตลาดหุ้นบ้านเราไม่ธรรมดา ใครทำอะไรกระทบกระทั่งอาจจะต้องเจออิทธิฤทธิ์ได้ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เป็นวันที่หุ้นไทยร่วงหนักครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เป็นผลมาจากกระทรวงการคลังออกมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อสกัดการเก็งกำไรในค่าเงินบาทที่กำลังแข็งค่า จนทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงไปราวๆ 100 จุดหรือราว ๆ 20% 

ในที่สุดรัฐบาลยุคนั้นต้องประกาศ “ยกธงขาว” ยอมแพ้ ยกเลิกประกาศใช้มาตรการดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่มาตรการนี้ถูกออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้า ถ้ามาตรการดังกล่าวสามารถหยุดการแข็งค่าของเงินบาทได้ ผู้ส่งออกก็จะขายของได้มากขึ้น กำไรมากขึ้น และตลาดหุ้นก็ “น่าจะดี” จากผลประกอบการที่ดีของบริษัทผู้ส่งออก   

เมื่อมีบทเรียนแล้วคงเป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบว่าจะสรูปบทเรียนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นอัตราภาษี หรือจังหวะเวลาที่เหมาะสม ยังไงเสียอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ยิ่งห้วงเวลาที่เศรษฐกิจเปราะบางอย่างนี้ รัฐบาลอาจจะตายน้ำตื้นได้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

2564 … อีก 1 ปีที่หายไป 

“สองเครื่องยนต์” บอด …. ดับฝัน “ท่องเที่ยวไทย” ฟื้น

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ