TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist2564 ... อีก 1 ปีที่หายไป

2564 … อีก 1 ปีที่หายไป

นับถอยหลังอีกราว ๆ 2 สัปดาห์ก็จะสิ้นปี เชื่อว่าหลายคนจะอาศัยช่วงเวลาใกล้สิ้นปีมานั่งทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทั้งเรื่องราวส่วนตัว เหตุบ้านการเมือง ว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวย่างเข้าสู่ปีใหม่ คิดแล้วน่าใจหาย เพราะปีนี้เป็นปีที่ 2 ปีที่โลกรวมทั้งประเทศไทยต้อง “ติดกับดักโควิด” ยังหาทางออกจากกับดักไม่ได้

เมื่อปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่ “สูญเปล่า” ของเกือบทุกประเทศทั่วโลก เพราะต้องทุ่มเทสรรพกำลังทั้งสมอง ทรัพยากร และงบประมาณมาสู้กับโควิด แต่ในปี 2564 หลายประเทศเริ่มเห็น “แสงสว่างปลายอุโมงค์” แต่น่าเสียดายประเทศไทยนอกจากต้องเสียเวลากับการแก้ปัญหาโควิดแล้วเรายังมีปัญหา “ความขัดแย้ง” ภายในทับซ้อนขึ้นมา ทั้งความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งในสังคม จนอาจจะเรียกว่าในปี 2564 เป็น “อีกปีที่หายไป” อย่างน่าเสียดาย

ในปีนี้ต้องบอกว่าเป็นปีที่เราต้องเผชิญกับวิกฤติในทุกมิติ ทั้งการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ในระลอก 2 เมื่อต้นปี จนรัฐบาลต้องประกาศ “ล็อกดาวน์” อีกรอบ ทั้งที่ในปี 2563 ประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากทั่วโลกว่าแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ดี จะเห็นได้จากดัชนีชี้วัดทั้งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตน้อยมากมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็น 0 หลายเดือนติดต่อกันจนเกือบสิ้นปี แต่เบื้องหลังจริง ๆ เป็นเพราะเรามีการสุ่มตรวจหาเชื้อน้อยจึงพบมีผู้ป่วยน้อยไปด้วย

ครั้นเกิดการระบาดระลอก 2 และระลอก 3 ตัวเลขจึงพุ่งพรวดอย่างน่าตกใจ ด้วยความที่ปี 2563 ทั้งปี พบตัวเลขผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อน้อยทำให้ชะล่าใจ เมื่อตัวเลขพุ่งพรวดพรวดในการระบาดระลอกใหม่ช่วงปลาย ๆ ปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ทำให้เกิดปัญหา ​”การบริหารจัดการ” และเกิดความไม่เป็นเอกภาพในรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ไม่ทันสถานการณ์จึงถูกสังคมตั้งคำถามมากมาย

คาถารัฐบาลในการแก้ปัญหาแพร่ระบาดของรัฐบาลโควิด-19 ที่ใช้มาตลอดนั่นคือ ประกาศ “ล็อกดาวน์” แต่กลับส่งผลข้างเคียงสร้างความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง ทั้งในเรื่อง “เศรษฐกิจ” และ “สังคม” แต่ละครั้งที่ล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ไม่เฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเท่านั้น 

ยังรวมถึงธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิง โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมายได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ คนต้องตกงาน ไม่มีงานทำ ต้องขาดรายได้ เมื่อไม่มีรายได้ ก็ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย รัฐก็ต้องออกมาตรการเยียวยาซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบไม่สิ้น เงินงบประมาณไม่พอก็ต้องกู้มาเยียวยาชาวบ้านและพื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ SME ถึง 2 งวด งวดแรก 1 ล้านล้านบาท และงวด 2 อีก 5แสนล้านบาท

แม้รัฐบาลจะอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจสารพัดมาตรการเยียวยา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อแต่ก็เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวและเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ใช่มาตรการระยะยาว ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ขณะที่ในหลายประเทศอัดเงินเข้าสู่ระบบด้วยการเยียวยาผู้ประกอบการ ทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ คนยังมีงานทำ เมื่อมีการฉีดวัคซีนไประดับหนึ่งประชาชนเกิดความมั่นใจธุรกิจก็เริ่มฟื้นตัว

เมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้นก็ย่อมมีการบริโภคพุ่งสูงขึ้น จึงส่งผลให้มีความต้องการสินค้า ประเภท น้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ ราคาน้ำมันสูงขึ้น และเงินเฟ้อมาซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เริ่มฟื้นตัว 

จึงไม่แปลกใจที่หลาย ๆ สำนักต่างคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโต ราว ๆ 0.7%-1% ต่อจีดีพีเท่านั้น ขณะที่หลาย ๆ ประเทศเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกันแล้ว ในด้านเศรษฐกิจแม้ไม่ถดถอยมากเท่ากับปี 2563 แต่ก็แทบไม่เติบโต การที่เศรษฐกิจไม่เติบโตหรือเติบโต้น้อยเหมือนถูก “บอนไซ” ปี 2564 จึงเสมือนเป็นปีที่ “หายไป” คงต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าที่จะเศรษฐกิจจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด หลาย ๆ สำนักวิจัยคาดว่าราว ๆ กลางปี 2566 โน่น

แต่ที่น่าห่วงไม่แพ้เรื่องเศรษฐกิจคือ เรื่อง “สังคม” ในช่วงโควิด-19 ระบาดช่องว่างระหว่าง “คนรวย” กับ “คนจน” ของไทยกลับถ่างกว้างมากขึ้น คนรวย รวยเพิ่มขึ้น คนจนกลับจนลง คนในสังคมก็ขัดแย้งทางความคิดกันอย่างรุนแรง ระหว่าง “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่” เป็นความแตกแยกที่กระแทกซ้ำแผลเก่าระหว่าง “คนในเมือง” กับ “คนรากหญ้า” แต่ความแตกแยก “ระหว่างรุ่น” ลึกซึ้งเกินกว่าที่ประสานกันได้และจะกลายเป็น “แผลเป็น” ในอนาคต

ขณะที่ “การเมือง” บ้านเรายังเล่นพรรคเล่นพวก พรรคร่วมรัฐบาลที่ลึก ๆ ขัดแข้งขัดขากันตลอด ทำให้การทำงานไม่คล่องตัวสะท้อนจากปัญหาเรื่อง “วัคซีน” แม้กระทั่งพรรคที่เป็นแกนนำหนุนหลัง “ลุงตู่” ก็ขัดแย้งกันเองจนเกิดการสั่งปลดรัฐมนตรีกลางอากาศ ในสภาฯ ขัดแย้งกันระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรครัฐบาล แม้กระทั่งฝ่ายค้านกับฝ่ายค้านก็ขัดแข้งขัดขากัน ทำให้การประชุมสภาฯ ล่มหลายครั้ง เพราะนักการเมืองต่างยึดประโยชน์ของพวกของพรรคมากกว่าของชาติและประชาชน

อย่าลืมว่า เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นพื้นฐานหรือเป็นโครงสร้างหลักที่จะทำให้ประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ถ้าโครงสร้างหลักไม่มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นประเทศชาติก็จะล้าหลัง ก้าวไม่ทันเพื่อน นักลงทุนที่เคยมาลงทุนก็อาจจะหันหัวเรือไปลงทุนที่อื่นแทน

หากสภาพบ้านเมืองยังเป็นอย่างนี้ ทุกคนยังอยู่แบบตัวใครตัวมัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ปล่อยให้เวลาในแต่ละปีที่ผ่านไปไม่มีการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจสังคมการเมือง ในที่สุดประเทศไทยก็อาจจะเป็นรัฐที่ล้มเหลวเหมือนกับที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลาย ๆ ประเทศ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

“สองเครื่องยนต์” บอด …. ดับฝัน “ท่องเที่ยวไทย” ฟื้น

น่าห่วงเศรษฐกิจไทย … “บนแข็ง ล่างอ่อน”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ