TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistน่าห่วงเศรษฐกิจไทย ... "บนแข็ง ล่างอ่อน"

น่าห่วงเศรษฐกิจไทย … “บนแข็ง ล่างอ่อน”

เมื่อวันก่อน “ดร เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 หัวข้อ ‘The Future of Thai Economy and Finance: อนาคตเศรษฐกิจและการเงินไทย’ ว่า อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทยในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องเติบโตแบบ Inclusive หรือ “ทั่วถึงมากกว่าเดิม” เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำสูงและไม่สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

พร้อมอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสามารถสะท้อนออกมาได้ชัดเจนผ่านข้อเท็จจริง 3 ประการ ได้แก่

ข้อเท็จจริงประการแรก ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุด 50 อันดับแรกของประเทศตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes มีทรัพย์สินเท่ากับประชากร 13 ล้านครัวเรือน หรือ 0.0004% ของครัวเรือนทั้งประเทศ มีทรัพย์สินเกือบ 50% ของทั้งประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่เกิดจากการเติบโตของรายได้และความมั่งคั่งเฉพาะในบางกลุ่มมาเป็นเวลายาวนาน

ตรงนี้ในความเห็นส่วนตัวเท่าที่ติดตามที่นิตยสาร Forbes ได้มีการจัดอันดับทุกปีแต่ที่น่าสังเกต คือ เศรษฐีเมืองไทย 50 อันดับแรกแทบไม่ค่อยเปลี่ยนหน้า จะมีหน้าใหม่เป็นยาดำสอดแทรกเข้ามาบ้างปีละไม่เกิน 1-2 คน แปลว่า คนรวยก็ยังผูกขาดความรวยและยิ่งรวยขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อเท็จจริงข้อที่ 2 ที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติพูดถึง คือ 50% ของกำไรภาคธุรกิจทั้งประเทศกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่เพียง 600 รายในตลาดหลักทรัพย์ สะท้อนถึงความได้เปรียบของบริษัทเหล่านี้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ปัจจุบัน SMEs ไทยกว่า 60% ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน

ข้อเท็จจริงประการสุดท้าย 2 ใน 3 ของผลผลิตของเศรษฐกิจโดยรวมกระจุกตัวอยู่ในแค่ 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น

สะท้อนให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ “รวยกระจุก จนกระจาย” ไม่ใช่แค่ระดับบุคคลแต่ยังเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่อีกด้วย ดังจะเห็นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เพียงบางพื้นที่เท่านั้น

“ดร.โกร่ง” สัญญาณเตือนภัย “เศรษฐกิจไทย”

True ผนึก dtac … ข่าวดีหรือข่าวร้ายของผู้บริโภค?

อันที่จริง “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” เราพูดกันมานาน แม้แต่ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคสช. (ขณะนั้น) ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อ 7 ปีที่แล้วก็ได้ยกมาเป็นหนึ่งในข้ออ้างและยืนยันว่าจะต้องเร่งทำการปฏิรูปประเทศเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำโดยเร่งด่วน แต่ที่ผ่านมานอกจากไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาดเกือบ 2 ปี ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนกลับยิ่งถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางอย่างมาก นั่นหมายความว่า เราจะโตแบบเดิม ๆ โดยหวังพึ่งพาเศรษฐกิจที่เติบโตจากบางกลุ่มคน บางกลุ่มธุรกิจ และบางพื้นที่อย่างไม่ทั่วถึงไม่ได้ อีกต่อไป ประกอบกับในรอบ 10 ปีมานี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่เกิน 4% โดยเฉลี่ยตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนไม่ว่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดฯ และมาเลเซียที่โตเฉลี่ยราว 6-7%

อัตราการเติบโตจีดีพีที่โตต่ำเตี้ยเรี่ยดินแถมส่วนใหญ่ไปตกอยู่ใน “กระเป๋ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่” ไม่กี่ตระกูล กระจายไปไม่ถึงมือชาวบ้าน เฉพาะอย่างยิ่งคนจน คนระดับรากหญ้าแทบไม่ได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจเติบโตในห้วงทศวรรษที่ผ่านมาแต่อย่างใด

การเติบโตอย่างไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งล่าสุดพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะ ๆ 90% ของ GDP โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้และยอดหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จาก 10 ปีก่อน การที่หนี้ครัวเรือนที่สูงนี้ทำให้ไม่มีกำลังซื้อ จึงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของประชาชน เมื่อรายได้ไม่โตก็จำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอย แต่ด้วยภาระหนี้ที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การจะก่อหนี้เพิ่มก็ทำได้ยากต้องไปพึ่งเนื้อนาบุญ “หนี้นอกระบบ” ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ยาก

ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดทำให้เกิดการว่างงานที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ จากรายงานของสภาพัฒน์ฯล่าสุดระบุว่าในไตรมาส 3 คนมีงานทำ 37.6 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.6% ถ้าคิดจำนวนคนก็เป็นแสนคนเลยเดียว ยังมีประเภทที่ยังมีงานทำแต่เวลาทำงานลดลง เดิมเคยมีโอทีตอนนี้ไม่มีแล้ว รวมทั้งคนว่างงานชั่วคราว ซึ่งตั้งแต่เกิดโควิด-19 แพร่ระบาดมามีคนว่างงานแล้ว 8.7 แสนคน มากกว่าช่วงโควิด-19 ระบาดปีที่แล้ว ที่มีคนว่างงานแค่ 4.7 แสนคนเท่านั้นรอบนี้หนักกว่า

ทุกวันนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ คนเกือบครึ่งประเทศ เป็นพวก “หาเช้ากินค่ำ” หรือแม้จะมีเงินเดือนก็ประเภท “เดือนชนเดือน” ไม่มีเหลือเก็บ หรือเหลือสำหรับออม ขณะที่คนชั้นบนก็จะยังมีกำลังซื้อสูง ยังเป็นประเภท “ช้อปง่าย จ่ายแหลก แดกด่วน” ไม่เดือดร้อน แต่คนข้างล่างไม่มีจะกิน ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ลงทุนสร้างงานให้คนมีงานทำแต่ใช้วิธีกู้มาแจกแบบเทกระจาดเป็นการแก้ปัญหาแค่ชั่วคราวเท่านั้น

หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหาปล่อยให้กลุ่มคนข้างบนแข็งโป๊ก ทิ้งให้กลุ่มคนข้างล่างอ่อนปวกเปียกอย่างนี้ ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำวิกฤติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางการเมือง วิกฤติสังคมตามมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ