TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"ดร.โกร่ง" สัญญาณเตือนภัย "เศรษฐกิจไทย"

“ดร.โกร่ง” สัญญาณเตือนภัย “เศรษฐกิจไทย”

ย่างหนาวแรกของปีนี้ประเทศไทยได้สูญเสียนักเศรษฐศาสตร์ระดับ “กูรู” ที่เคยมีบทบาทชี้เป็นชี้ตายอนาคตเศรษฐกิจไทยมาแล้ว บุคคลที่จะพูดถึงคือ “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” ที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “ดร.โกร่ง” อดีตที่ปรึกษา อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีคลัง และอดีตรัฐมนตรีช่วยคลังหลายรัฐบาล 

“ดร.โกร่ง” คือครูของนักข่าว ที่คอยอรรถาธิบายความรู้เรื่องเศรษฐกิจให้กับนักข่าวสายเศรษฐกิจหลาย ๆ คนในยุค 20-30 ปีที่แล้ว จะได้ไม่ต้องเขียนข่าวผิด ๆ ผมเองก็เคยเป็นหนึ่งใน “นักเรียนน้อย” หลังห้อง จึงอยากจะเล่าถึงบทบาทท่าน ที่มีบทบาทและคุณูปการต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง

ดร.โกร่งเป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่จบด็อกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์สาขา “เศรษฐมิติ” จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) สหรัฐอเมริกา และเป็นศิษย์เอกของศาสตราจารย์ Lawrence Kline นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ดร.โกร่งเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและการทำแบบจำลองเศรษฐกิจทำให้เข้าใจภาพใหญ่และเชื่อมโยงภาพย่อยของระบบเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี จึงทำนายอนาคตเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำ จนได้รับฉายาว่า “โหรเศรษฐกิจ” ทุก ๆ ปลายปี สื่อมวลชนและนักธุรกิจจะรอฟังว่าดร.โกร่งจะทำนายเศรษฐกิจปีหน้าอย่างไร

จุดเด่นอีกอย่างของ “ดร.โกร่ง” ที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ คือ สามารถอธิบายเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่เป็นเรื่องยาก ๆ ให้เป็นเรื่องง่าย ๆ ชาวบ้านฟังเข้าใจได้ มีศัพย์แสงทางวิชาการเท่าที่จำเป็น ความสามารถเฉพาะตัวนี้เองเมื่อคราวดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา “ป๋าเปรม” พลเอกเปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นจึงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจค่อนข้างมาก 

นอกจากจะเป็นที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลความคิดในเรื่องเศรษฐกิจต่อพลเอกเปรมแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุดในขณะนั้น ผลงานรูปธรรมที่คนทั่วไปได้รับรู้มากที่สุด คือ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการ “ลดค่าเงินบาท” ในสมัยพลเอกเปรม ซึ่งเศรษฐกิจไทยตอนนั้นเป็นยุคข้าวยากหมากแพง เพราะน้ำมันราคาแพงประกอบกับค่าเงินบาทผูกติดอยู่กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐสกุลเดียว ค่าเงินบาทตอนนั้น 23 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมี “มูลค่าแข็งเกินจริง” ทำให้ราคาสินค้าไทยที่ส่งออกไปขายต่างประเทศแพงกว่าคู่แข่งจึงขายไม่ได้

รัฐบาลพลเอกเปรมจึงตัดสินใจลดค่าเงิน จาก 23 บาทต่อดอลลาร์เป็น 27บาทต่อดอลลาร์ พร้อมยกเลิกจากการผูกติดกับเงินสกุลดอลลาร์เพียงสกุลเดียว หันมาใช้ระบบ “ตระกร้าเงิน” ผูกติดเงินหลายสกุลแทน หลังจากลดค่าเงินบาทเศรษฐกิจไทยที่กำลังซบเซาก็เริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าและปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

การลดค่าเงินบาทเป็นเรื่องใหญ่ หากตัดสินใจพลาดแค่นิดเดียวย่อมอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศ นั่นแปลว่ารัฐบาลเองก็จะอยู่ไม่ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรม เบื้องหลังการถ่ายทำเรื่องนี้ “ดร.โกร่ง” คือ คนที่ทำหน้าที่อธิบายถึงความจำเป็นว่าทำไมต้องลดค่าเงินบาทจนกระทั่ง “พลเอกเปรม” ยอมรับและตัดสินใจประกาศลดค่าเงินตามคำแนะนำ

ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรม รัฐบาลได้ลงทุนโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ซึ่งเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์แรก ๆ ของไทยที่ใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่หลังไหลเข้ามาลงทุนในอาเซียน โดยเล็งเป้าหมายมายังประทศไทยอันดับแรก 

โครงการนี้ช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยจากประเทศเกษตรกรรมและกึ่งอุตสาหกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมเต็มตัว มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมที่ทันสมัย อย่างโครงการปิโตรเคมี อุตสาหกรรมรถยนต์ ถือว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในยุค “โชติช่วงชัชวาล” โดยสภาพัฒน์ฯ เป็นเจ้าภาพมี ดร.โกร่ง อยู่เบื้องหลังคอยช่วยผลักดัน

ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ราว ๆ ปี 2539-2540 ดร.โกร่งเป็นคนแรกที่ส่งสัญญาณเตือนให้รัฐบาลพลเอกชวลิตประกาศลดค่าเงินบาท เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณไม่สู้ดีนัก ตอนนั้นทั้งแบงก์ชาติ และนักเศรษฐศาสตร์คนอื่น ๆ นายแบงก์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ซึ่งรัฐบาลพลเอกชวลิตฟังกลุ่มคัดค้านการลดค่าเงินบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้พลเอกเปรม.กระซิบพลเอกชวลิตให้ฟังดร.โกร่ง

ต่อมาค่าเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนักกระทั่งไหลรูดอ่อนค่าจาก 30 กว่าบาท เป็น 52 บาท ธุรกิจเอกชนส่วนใหญ่ที่เชื่อรัฐบาลตอนนั้นจึงไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงเอาไว้ ทำให้ต้องแบกหนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัวจนนำไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง ในที่สุดประทศไทยต้องเข้าโครงการเงินกู้ IMF จำใจยอมรับเงื่อนไขสุดโหด ซึ่งดร.โกร่งเองก็ออกมาคัดค้านการเดินตามก้น IMF อย่างถึงพริกถึงขิง จนรัฐบาลยุคนั้นมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม

เมื่อครั้งเป็นที่ปรึกษารัฐบาลพลเอกเปรม ดร.โกร่งเป็นหัวหอกคัดค้านกระทรวงพาณิชย์ที่มีนโยบายเก็บค่า “พรีเมี่ยมข้าว” จากพ่อค้าส่งออกข้าว เพราะเห็นว่าในที่สุดภาระนี้ก็จะตกอยู่กับชาวนาคนยากคนจนจน นโยบายนี้ถูกยกเลิก และอยู่เบื้องหลังผลักดันนโยบายกระจายรายได้สู่ชนบทเป็นนโยบายแห่งชาติ

เมื่อดำรงตำแห่งประธานที่ปรึกษานายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็คัดค้านโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดอย่างเอาจริงเอาจัง ดร.โกร่งยืนยันว่าหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์เดินหน้าโครงการนี้ต่อไปจะก่อให้เกิดการ “คอรัปชั่น” อย่างใหญ่หลวงจนอาจจะทำให้รัฐบาลพังได้ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตัดสินใจเดินหน้าต่อไม่ฟังเสียงทักท้วง ในที่สุดก็พังจริง ๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด

แม้สิบปีหลังที่ “ดร.โกร่ง” ออกมาอยู่วงนอก แต่ก็ยังอดเป็นห่วงบ้านเมืองไม่ได้ จึงมักจะออกมาส่งสัญญาณเตือนอย่างตรงไปตรงมาผ่านบทความบทสัมภาษณ์โดยไม่เกรงกลัวว่ารัฐบาลนั้น ๆ จะโกรธแค้น ท่านทำหน้าที่นี้จนกระทั่งล้มป่วยลง

น่าเสียดายนับจากนี้ประเทศไทยจะไม่มีคนที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณคอยเตือนรัฐบาลที่ทำนอกลู่นอกทางอีกแล้ว

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ