TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"บิทคับ" พลุลูกใหม่ "เอสซีบี เอกซ์"

“บิทคับ” พลุลูกใหม่ “เอสซีบี เอกซ์”

ในแวดวงธุรกิจการเงินปีนี้เห็นจะไม่มีค่ายไหนสร้างความฮือฮาได้เท่ากับ “เอสซีบี เอกซ์” แน่ ๆ แต่ละจังหวะก้าวหวือหวาตลอดไม่นานมานี้ก็ดังเป็นพลุแตก เมื่อตัดสินใจแปลงร่างยานแม่จาก “เอสซีบี” มาเป็น ​”เอสซีบี เอ็กซ์” หลังจากนั้นก็แตกตัวเป็นยานลูกเดินหน้าหาธุรกิจใหม่ ๆ จับมือพันธมิตรรายใหม่สร้าง “น่านน้ำใหม่” ที่ไม่เคยทำมาก่อน

แต่ไม่มี “ดีล” ไหนที่กลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์” ได้เท่ากับ “เอสซีบีเอส” หรือ บล.ไทยพาณิชย์ ยานลูกของ “เอสซีบี เอ็กซ์” เข้าซื้อหุ้นในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจ “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” ในสัดส่วน 51% คิดเป็นมูลค่ารวม 17,850 ล้านบาทจาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด ที่มี “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

หลายคนอาจจะคิดว่าแพงแต่ถ้าดูผลประกอบการของบิทคับนับจากวันก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา บิทคับมีอัตราการเติบโต 1,000% ทุกปี ปี 2561 มีรายได้ประมาณ 3 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวมประมาณ 3,279 ล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะมีรายได้รวมกว่า 5,000 ล้านบาท ผู้บริหารเอสซีบีเอ็กซ์ดีดลูกคิดรางแก้วแล้วเห็นว่าคุ้มเพราะธุรกิจนี้ต้องมีอนาคตสดใสแน่ ๆ

พลันที่ เอสซีบีเอสเข้ามาถือหุ้นทำให้ บิท คับ แคปปิตอล โฮลดิ้ง สตาร์ตอัพด้านดิจิทัลของไทย กลายเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวที่ 2 ของไทยที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ราว 35,000 ล้านบาททันที

เหนือสิ่งใดการที่ “เอสซีบีเอส” เข้าไปถือหุ้นใหญ่เท่ากับตอกย้ำว่าอนาคตของคริปโต (crypto) ย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งในธุรกิจการเงินของไทยในอนาคต ขณะเดียวกันเท่ากับสร้างความมั่นใจให้กับนักลงลงทุนรวมถึงคนที่สนใจก็จะเชื่อมั่นและมีความเข้าใจมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่เคยสนใจก็จะหันมาสนใจ ซึ่งที่ผ่านมา “คริปโต” ถูกมองในแง่ลบมาโดยตลอด

การที่เอสซีบีเอสใช้วิธีลัดด้วยการเข้ามาถือหุ้นบิทคับ 51% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ง่ายกว่าการ “ปั้น” ธุรกิจขึ้นมาเอง เพราะการทำแพลตฟอร์มเองต้องใช้เวลา อีกทั้งทำมาแล้วก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ การซื้อเบอร์หนึ่งอย่างบิทคับ ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 92% ย่อมดีกว่าแน่ ๆ แถมยังจะได้ลูกค้าเดิม ได้เทคโนโลยี ได้บุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ที่จะเกิดจากสินทรัพย์ดิจิทัลอีกมากมาย 

นอกจากนี้ ฐานลูกค้าเก่าของเอสซีบีเอกซ์ 16 ล้านราย อาจจะมีบางส่วนสนใจโยกย้ายมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น สมมติแค่ 10% ก็มีลูกค้าใหม่เพิ่มอีกตั้ง 1.6 ล้านราย รวมกับลูกค้าเดิมบิทคับฯ ตลาดก็จะใหญ่ขึ้นทันที นั่นหมายถึงค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

เรียกว่างานนี้เอสซีบี เอ็กซ์ ถือหุ้นในบิทคับ ที่เป็นรายใหญ่นอกจากได้ภาพลักษณ์ที่ดีแล้ว ยังถือว่าได้ทำการตลาดไปในตัว สะท้อนจากปรากฏการณ์เกิดขึ้นหลังจากการแถลงข่าว “สปอร์ตไลท์” ก็จับไปยังเอสซีบี เอ็กซ์ทันที เป็นการสร้างแบรนด์ให้คนจดจำได้ง่าย 

ขณะที่ในฟากของ “บิทคับ” ในเชิงธุรกิจแล้วการมีพาร์ทเนอร์เป็นแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างเอสซีบี เอ็กซ์มาถือหุ้น ย่อมทำให้การทำงานมีความคล่องตัวมีทุนหนากว่าการเป็นแค่ “สตาร์ตอัพ” แน่ ๆ

แถมมีอำนาจต่อรองกับหน่วยงานกำกับดูแลมากขึ้นก่อนหน้านี้ “ท๊อป-จิรายุส” คงได้บทเรียนจากการเป็นรายเล็กที่ต้องล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย เพราะสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ จึงถูกหน่วยงานทีกำกับดูแลทุกหน่วยงานเข้าตรวจสอบอย่างหนัก ด้วยข้อหาต่าง ๆ แต่เขาก็อดทนเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า นี่คือเทคโนโลยีการเงินในอนาคต

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าหลังจากเอสซีบี เอกซ์จัดการทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ก็อาจจะดันบิทคับ เข้าตลาดหลักทรัพย์ ถึงตอนนั้นมูลค่าน่าจะได้มากกว่าที่ซื้อมาตอนนี้หลายเท่า หลังจากวันแรกที่ข่าวนี้ออกมา บรรดานักเล่นหุ้นรายย่อยก็ช่วยแบ่งภาระไปแล้วส่วนหนึ่ง สะท้อนจากราคาหุ้นของเอสซีบีเอ็กซ์ปรับตัวสูงขึ้นทันที

ตรงนี้แหละที่หลายคนมองว่า “ดีล” นี้เป็น “วิน-วินเกม” หรือ “วิน-วินบิสสิเนส” แต่อย่าลืมว่า นี่คือ การร่วมมือกันระหว่างองค์ธุรกิจแบบเก่าที่มีอายุกว่า 100 ปี ย่อมมีวัฒนธรรมแตกต่างจากสตาร์ตอัพที่มีอายุแค่ไม่กี่ปี คงต้องเฝ้าติดตามดูกันต่อไป

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ