TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistแปรวิกฤติ "น้ำมันแพง" ... เป็นโอกาส "ฟื้นเศรษฐกิจ"

แปรวิกฤติ “น้ำมันแพง” … เป็นโอกาส “ฟื้นเศรษฐกิจ”

ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกพุ่งพรวดทันทีหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กลายเป็นแรงกระเพื่อมส่งผลถึงราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลในบ้านเราปรับตัวสูงขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง หากเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมัน วันที่ 30 ก.ย. 2564 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับขึ้นไปเฉลี่ยเกือบ 10 บาทต่อลิตร อย่างราคาดีเซลปรับขึ้นเฉลี่ย 9.7 บาทต่อลิตร เบนซิน เฉลี่ย 8.9 บาทต่อลิตร ข้ออ้างหนีไม่พ้นขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม การขึ้นลงของราคาน้ำมันที่ผ่านมามีหลายสิ่งที่คนไทยคลางแคลงใจ โดยเฉพาะ “ความโปร่งใส” อย่างกรณี การปรับขึ้นราคาขายปลีกในประเทศ ราคาที่หน้าปั๊มกับราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นลงสอดคล้องกันหรือไม่ เพราะคนไทยไม่น้อย รู้สึกว่าเวลาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นไม่กี่วัน ต่อมาราคาขายปลีกบ้านเราขึ้นตาม แต่เวลาราคาตลาดโลกปรับตัวลง แต่ราคาขายปลีกบ้านเรากลับไม่ลงตาม

ต้นตอทำให้ราคาน้ำมันในประเทศแพงเพราะ “โครงสร้างราคาน้ำมัน”​ ในบ้านเราซับซ้อนโดยแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้

ส่วนแรก “ต้นทุนเนื้อน้ำมัน” ที่ซื้อมาจากโรงกลั่น หรือ “ราคา ณ โรงกลั่น” ซึ่งอ้างอิงมาจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ตรงนี้คนสงสัยกันมากว่า ในเมื่อเรานำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น ณ โรงกลั่นในบ้านเรา ทำไมต้องไป “อ้างอิงราคา”​ ณ โรงกลั่นสิงคโปร์ ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่ม เนื่องจากมีการ “บวกค่าใช้จ่ายเทียม” อย่างค่าขนส่งทางเรือ ค่าประกันภัย และค่าอื่น ๆ เข้าไป ถามว่าเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่

ส่วนที่ 2 เป็น “ค่าภาษี” และ “เงินนำส่งกองทุน” ต่าง ๆ ที่รัฐบาลเรียกเก็บ มีสัดส่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 32% ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล หรือ “ภาษีบำรุงท้องถิ่น” และภาษีมูลค่าเพิ่ม มีข้อน่าสงสัยว่าทำไมรัฐบาลต้องเก็บภาษีซ้ำซ้อนอีก ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มก็มีการเก็บทุกขั้นตอนที่มีการซื้อขาย ทำไมไม่เก็บเฉพาะภาษีที่จำเป็นจริง ๆ ประเภทใดประเภทหนึ่ง หรืออาจจะ “ลดอัตราภาษี” แต่ประเภทลงก็ได้

ขณะเดียวกันยังจัดเก็บเงินเข้า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” อ้างว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน แปลความได้ว่าหากน้ำมันราคาถูก คนจะใช้ฟุ่มเฟือยจึงต้องทำให้ราคาสูง ๆ โดยหักเงินค่าน้ำมันเข้ากองทุน คนจะได้ใช้น้ำมันอย่างประหยัดเป็น “ตรรกะวิบัติ” และยังมีการจัดเก็บเงินเข้า “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” อ้างว่าเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของการจัดเก็บเงินนำส่งทั้ง 2 กองทุนนั้นคนไทยกังขาใน “ความโปร่งใส” ประชาชนไม่เคยได้รับรู้ว่าในแต่ละวัน เข้ากองทุนน้ำมันเท่าไรออกเท่าไร ไม่รู้ว่าตัวเลขที่เปิดเผยจริงหรือไม่ อีกทั้ง “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” เป็นที่ร่ำลือว่าเป็นแหล่งผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่มที่เอาโครงการอนุรักษ์พลังงานมาบังหน้า

ต้นทุนส่วนที่ 3 เป็นค่าการตลาดของผู้ประกอบการ หรือปั๊มน้ำมัน มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 6% เป็นรายได้จากการขายน้ำมันที่หน้าหน้าปั๊ม ซึ่งยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ อันนี้เป็นส่วนที่คนอาจจะคลางแคลงใจบ้างว่าสูงไปหรือไม่แต่ก็ยังพอรับได้

นี่คือ เบื้องหลังที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในบ้านเราสูงกว่าที่ควรจะเป็นและสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศที่โครงสร้างราคาน้ำมันไม่ซับซ้อน

อย่าลืมว่าราคาน้ำมันนั้นเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ “น้ำมันดีเซล” เป็นปัจจัยสำคัญในการขนส่งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค จึงไม่เพียงกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์ แต่ยังกระทบไปถึงค่าโดยสาร ค่าขนส่งต่าง ๆ รวมถึงกระทบต่อราคาสินค้าให้ปรับราคาขึ้นได้

จะเห็นว่าทันทีราคาน้ำมันขึ้น ราคาปุ๋ยของชาวไร่ชาวนาปรับขึ้นตามทันที แม้แต่สินค้าจำเป็นที่ขายในห้างก็ทยอยขยับราคา หากรัฐบาลยังปล่อยให้น้ำมันขึ้นราคาไปเรื่อย ๆ ก็เท่ากับประชาชนต้องแบกรับภาระ “ค่าครองชีพ” สูงขึ้นตามด้วย

การที่รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการให้ “กองทุนน้ำมัน” กู้เงิน 2 หมื่นล้านมาอุดหนุนผู้ใช้น้ำมันดีเซลเพื่อตรึงราคาไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ไม่ใช่ทางออก รัฐบาลจะต้อง “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” นั่นคือ ต้องทบทวน “โครงสร้างราคาน้ำมัน” ใหม่ทั้งหมด ให้อยู่กับข้อเท็จจริงอะไรที่เคยเอาเปรียบผู้ใช้น้ำมันควรจะ “ตัดทิ้ง” เช่น สูตรคิดราคาน้ำมันที่อ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ต้องยกเลิก ควรจะมาคิดต้นทุนตามความเป็นจริง

การจัดเก็บภาษีน้ำมันในอัตราปัจจุบันถึงที่ต้องเวลาทบทวนเเละเปลี่ยนแปลงกันใหม่ แม้กระทั่ง “ค่าการตลาด” ที่ดูเหมือนไม่สูงมาก แต่เมื่อเทียบกับปริมาณที่ใช้ในแต่ละปี ทำให้บริษัทน้ำมันมีกำไรมหาศาล

การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ด้านหนึ่งอาจมองว่าเป็นวิกฤติประเทศ และเป็นงานที่ “ท้าทาย” รัฐบาล แต่หากรัฐบาลมี “กึ๋น” และยึดเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง จะสามารถแปรวิกฤติเป็นโอกาสได้ด้วยการ “รื้อโครงสร้างราคาน้ำมัน” ซึ่งใช้มานานหลายสิบปี ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อตัดทอนสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคและทำให้ “ต้นทุน” ราคาสินค้าที่เป็นภาระค่าของชีพของประชาชนให้ต่ำลง

การจะทำอย่างนี้ได้รัฐบาลจะต้อง “มองเห็น” โอกาสและกล้าพอที่จะลงมือทำหรือไม่

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ