TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเปิดก็เสี่ยง - ปิดก็เจ๊ง

เปิดก็เสี่ยง – ปิดก็เจ๊ง

หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มทยอยเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว เท่ากับตอกย้ำว่าในที่สุด​ “มนุษย์โลก” ต้องยกธงขาวยอมแพ้ให้แก่ “เชื้อโรค” อย่างสิ้นเชิง จึงหันมาใช้นโยบายอยู่ร่วมกับ “โควิด-19” แทน

รวมทั้งประเทศไทยของเราเมื่อ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีแถลงผ่านทีวีไม่กี่วันก่อนว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวในบ้านเราได้. โดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องฉีดวัคซีนครบโดส และเงื่อนไขอื่น ๆ เล็กน้อย และตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม อนุญาตให้ร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบันเทิงจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นปกติ

หากดูไทม์ไลน์ในการเปิดเมืองจะเห็นว่า เป็นในห้วงเวลา “ไฮซีซั่น” ของฤดูท่องเที่ยว อีกทั้งใกล้ ๆ ปลายปีจะมีเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตรงนี้แหละที่รัฐบาลหวังจะหารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศ หลังจากเครื่องยนต์ปั๊มเศรษฐกิจตัวนี้ช็อตไปดื้อ ๆ เกือบ ๆ 2 ปีตอนนี้ถือเป็นการรีสตาร์ทเครื่องยนต์ใหม่อีกครั้ง

เบื้องหลังการเปิดประเทศ ก็ต้องบอกว่างานนี้เป็นไฟต์บังคับ จากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจล้วน ๆ ถ้ารัฐบาลยังขืนปิดประเทศยาวกว่านี้ ธุรกิจท่องเที่ยวและห่วงโซ่ที่เกี่ยวเนื่องทั้งหลาย ที่มีคนต้อง “พึ่งเนื้อนาบุญ” อยู่ในวงจรนี้เกือบ ๆ 20 ล้านคน ที่ตกงานมาเกือบ ๆ 2 ปี ก็มีหวังล้มหายตายจากเพราะอดตายไม่มีจะกิน

แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า “เปิดเมืองก็มีความเสี่ยง” จากยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นแน่ ๆ มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งเดนมาร์ก และชิลี ที่เปิดประเทศเป็นประเทศแรก ๆ ของโลก ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งกระฉูด แต่หาก “ปิดประเทศ” ต่อไปบรรดาธุรกิจไม่เฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้น รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ก็อาจจะเจ๊งหนักกว่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ จะมีคนตกงานอีกมหาศาล

“ลุงตู่” จึงแทบไม่เหลือทางเลือกให้ตัดสินใจ จึงต้องเล่นเกมเสี่ยง แม้ว่าหากเปิดแล้วต้องกลับมา “ปิดประเทศ” อีกครั้งก็ตาม อย่าลืมว่าการเปิดประเทศมันมี “ราคาที่ต้องจ่าย” แค่เชิญศิลปินดังระดับโลก “”ลิซ่า” และ “อันเดรอา โบเซลลี” มาเปิดคอนเสิร์ตเบาะ ๆ ก็ 500 ล้านบาทแล้ว ยังไม่รวมถึงต้นทุนอื่น ๆ ทั้ง “ต้นทุนเศรษฐกิจ” และ “ต้นทุนทางสังคม” ที่คนในประเทศต้องแบกรับ

ส่วนความเสี่ยงจากโควิด-19 จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น หลังเปิดประเทศอย่างที่หลายคนเป็นห่วง ว่าจะมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศนั้น ถ้าดูเงื่อนไขการเข้าประเทศแล้วและดูบทเรียนจาก “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” แล้วไม่น่าห่วง แต่ที่น่าห่วงกว่า คือ เปิดเมืองแล้วจะมีใครมาเที่ยวหรือไม่ จะมามากน้อยแค่ไหนต่างหาก

ยิ่งเมื่อดูกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายที่ “ลุงตู่” ยกตัวอย่าง 5 ประเทศ เช่น นักท่องเที่ยวจีน เป็นตลาดใหญ่ของไทยก่อนโควิดระบาด นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวเมืองไทยปีละเกือบๆ 11.ล้านคน จากนักท่องเที่ยวทั้งหมดราว 40 ล้านคน แต่วันนี้จีนยัง “ปิดประเทศ” ไม่อนุญาตให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศ แม้จะออกมาได้ แต่กลับไปต้องถูกกักตัว 3 สัปดาห์ คงไม่มีใครอยากมาเที่ยว ไม่คุ้มกับเสียเวลากักตัว

ฟันธงว่า ความหวังนักท่องเที่ยวจีนจะมาเที่ยวเมืองไทย ในระยะใกล้ ๆ นี้เป็นไปได้ยาก คงต้องหวังผลยาว ๆ ไม่รู้ว่าเมื่อไร

ขณะที่นักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปอย่างเยอรมัน อังกฤษ หรือสหรัฐจากสถิติ ไม่ติด 1 ใน 5 นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวบ้านเรา ประกอบกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ตั้งแต่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอก่อนช่วงโควิดระบาดก็มักจะเที่ยวในประเทศใกล้ ๆ หรือเที่ยวในยุโรปด้วยกันเอง เพราะราคาถูกกว่ากลุ่มนี้ก็คงไม่มาแน่ ๆ

สิงคโปร์เป็นอีกประเทศที่ “ลุงตู่” ยกตัวอย่าง ซึ่งก็แปลกใจ เพราะสิงคโปร์ไม่ติด 1 ใน 5 นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทย ส่วนใหญ่จะมาเที่ยวใกล้ ๆ อย่างหาดใหญ่ หรือภูเก็ต แต่ล่าสุดเมื่อสองสามวันก่อน “สำนักข่าวบลูมเบริ์ก” รายงานว่ารัฐบาลสิงคโปร์ต้องปิดประเทศอีกครั้ง หลังจากยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าห่วง โอกาสจะมาเที่ยวในเร็ว ๆ นี้คงยาก

อันที่จริง หากดูตัวเลขนักท่องเที่ยวในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการปรากฎว่าต่ำกว่าเป้าถึง 5 เท่า ก็น่าจะเดาออกว่าเปิดประเทศแล้วผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งในคนในวงการเล่าว่า ตัวเลขแถลงนั้นเป็น “ตัวเลขปั้น” ไม่ใช่ตัวเลขจริง ของจริงต่ำกว่านี้มาก จึงไม่ต้องห่วงว่าจะมีนักท่องเที่ยวนำเชื้อโควิด-19 มาแพร่

แต่ที่น่าห่วงมากที่สุด คือ “ความเสี่ยงจากแรงงานเถื่อน” จากประเทศเพื่อนบ้านที่ลักลอบเข้ามาทำงานหลังเปิดประเทศเหมือนกรณี​ “สมุทรสาคร” ซึ่งทุกวันนี้ยังมีแรงงานจากพม่า “ลักลอบ” เข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนอย่างต่อเนื่อง โดยมีขบวนการค้าแรงงานเถื่อน นำเข้ามาเมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับได้ นำมาตรวจพบว่ากว่าร้อยละ 10 ติดโควิด

แรงงานเถื่อนจะเป็น “ระเบิดเวลา” ที่จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยพุ่งสูงหากรัฐบาลและผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่เอาจริงเอาจังยังเห็นแก่ผลประโยชน์ตัวเองมากกว่าประโยชน์ชาติ

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศก็ไม่ใช่จะมีแต่ความเสี่ยงข้อดีก็มีอย่างน้อย ๆ “ในเชิงจิตวิทยา” ก็เรียก “ความเชื่อมั่น” จากนักลงทุนได้สะท้อน “เงินบาทแข็งค่าขึ้น” ทันทีจากหลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศเป็นผลมาจากเริ่มมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น แม้จะยังต้องลุ้นว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากน้อยแค่ไหน

ต้องบอกว่าการเปิดประเทศครั้งนี้ เป็นเกมชี้ชะตาอนาคตทางการเมืองของ “ลุงตู่” และอนาคตของประเทศเลยทีเดียว … ถ้าเปิดประเทศแล้วผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงจนเกิดการระบาดอีกรอบ รวมถึงเศรษฐกิจไม่กระเตื้องขึ้นตามเป้าที่วางไว้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ