TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistแผนน้ำท่วม ... ทศวรรษที่สูญเปล่า

แผนน้ำท่วม … ทศวรรษที่สูญเปล่า

อย่างที่รู้ ๆ กันว่าน้ำท่วมใหญ่จากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องประชาชนใน 31 จังหวัด ได้รับความเดือดร้อน เรือกสวนไร่นาเสียหายอย่างหนัก แม้น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เพราะเพิ่งเจอแค่ลูกเดียว

แต่ในแง่ของความรู้สึก “ภาพจำน้ำท่วมใหญ่” ปี 54 ยังตามมา “หลอน”​ สร้างความหวาดผวาแก่ชาวบ้านกลัว จะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ได้สร้างความเสียหายมหาศาลมีมูลค่าสูงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท และมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 5.3 ล้านคน

นอกจากนี้ บรรดาโรงงานสำคัญ ๆ ในนิคมอุตสาหกรรม หลายแห่งถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนการส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศได้รับความเสียหาย คิดเป็นกว่า 70% ของความเสียหายทั้งหมดและยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 54 ลดลงไปถึง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ที่สำคัญ หลังเหตุการณ์คราวนั้นมีหลายโรงงานที่เป็นของต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามแทน เพราะไม่เชื่อมั่นในแผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลไทย คราวนี้ก็เช่นกัน บรรดานักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของโรงงานที่เป็นคนญี่ปุ่นต่างก็พากันหวาดผวาว่าน้ำท่วมปีนี้จะซ้ำรอยปี 54 

เรียกว่าน้ำท่วมใหญ่มีทั้งผลกระทบโดยตรงทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากบ้านเรือนได้รับความเสียหาย และยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากมหาอุทกภัยในครั้งนั้น ทำให้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ต้องเร่งจัดทำ “แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” อย่างเร่งด่วนสำหรับการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมในปี 2555

แผนยังไม่ทันเป็นรูปเป็นร่างก็ถูก “คสช.” นำโดย “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทำรัฐประหารในปี 2557 พร้อมยึดอำนาจบริหารและยึด “แผนการบริหารจัดการนํ้าระดับชาติ” มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท มาบริหารจัดการเอง

หลังจากนั้นรัฐบาลคสช.ได้จัดทำและประกาศใช้ “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี” (พ.ศ. 2558-2569) พร้อมตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขึ้นมากำกับดูแล โดยมี “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน 

หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมานี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

แต่น่าเสียดายจนถึงวันนี้ เวลาผ่านไปเกือบ ๆ 8 ปี นับตั้งแต่กลุ่มคสช.ยึดการบริหารจัดการนํ้าหลายแสนล้านบาทไปดูแล แทบจะไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย การขับเคลื่อนแผนแม่บทสู่การปฏิบัติส่วนใหญ่ก็ยังไปไม่ถึงไหน แค่พายุ “เตี้ยนหมู่” ถล่มลูกเดียวจมน้ำเกือบครึ่งประเทศ 

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกลายเป็น “เสือกระดาษ”​ ไม่มีน้ำยาอะไร ทั้งที่โดยหลักการต้องมีหน้าที่ดูแลบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและในทุกมิติ รวมถึงมีอำนาจสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทุกหน่วยงาน แต่เอาเข้าจริงกลับสั่งใครไม่ได้ ทำได้แค่ประสานหน่วยงานต่าง ๆ เท่านั้น ส่วนการปฏิบัติงานต่าง ๆ ก็ยังเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเดิม ๆ ที่เคยรับผิดชอบอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งที่งบประมาณที่ได้รับแต่ละปี นับแสนล้านบาท เท่ากับ “ตำพริกละลายแม่น้ำ”​ ผลที่ได้ไม่คุ้มค่า ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน งบประมาณที่ใช้แต่ละปีอย่างดีก็ทำได้แค่ขุดลอกคูคลอง ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดสึกหรอ เป็นการใช้งบแบบเบี้ยหัวแตก ซึ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แทนที่จะแก้วิกฤติระยะยาว 

ซ้ำร้ายไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจาก “บิ๊กตู่”​ เดินทางไปตรวจน้ำท่วมที่สุโขทัย กลับมาก็โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า ได้สั่งให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ให้จัดทำ “แผนรับมือนํ้าท่วมระดับประเทศ” คำสั่งดังกล่าวเป็นการสั่งงานทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติที่บิ๊กป้อมดูแล

สะท้อนว่า แม้แต่คนระดับนายกรัฐมนตรียังไม่เห็นความสำคัญของสำนักนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำแม้แต่ “บิ้กป้อม” ในฐานะประธานเองก็เพิ่งตื่นจากภวังค์ออกมาสั่งให้สนง.ทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ จัดการวางแผนบริหารจัดการนํ้าเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน ทั้งที่นั่งอยู่ในตำแหน่งนี้มาตั้งนานหลายปี

น่าเศร้าใจ 10 ปีที่ผ่านมา ยังไปไม่ถึงไหนกลายเป็น “ทศวรรษ” แห่งความสูญเปล่า ทั้งที่ไม่ว่าน้ำท่วมหรือภัยแล้ง ล้วนสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านและเศรษฐกิจประเทศทั้งสิ้น

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

มีของดี …แต่ไม่มีกึ๋น

“โจ้ …. เอฟเฟค” … เลิกเถอะ “สินบน”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ