TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"โจ้ .... เอฟเฟค" ... เลิกเถอะ "สินบน"

“โจ้ …. เอฟเฟค” … เลิกเถอะ “สินบน”

กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก กรณีของ “พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล” หรือ อดีตผู้กำกับโจ้ ในปัจจุบันนอกเหนือข่าว “คลุมถุงดำ” จนทำให้ผู้ต้องหาขาดอากาศหายใจตายแล้ว ข่าวที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน คือ ข่าวความร่ำรวยจากการเป็นหัวหน้าทีมเข้าจับกุมรถหรู

ไม่น่าเชื่อว่าตลอด 6 ปี ที่อดีตผกก.โจ้ สามารถจับรถหรู 368 คัน นำของกลางประมูลขายทอดตลาดกว่า 1,000 ล้านบาท รับส่วนแบ่งจาก “เงินรางวัล” ไปแล้วประมาณ 300 ล้านบาท

ในส่วนของรายได้แบ่งเป็น 2 ส่วนส่วนแรกได้รับเงินสินบน 30% ส่วนที่สองรางวัลนำจับ 25% รวมเบ็ดเสร็จ 55% จากยอดประมูลขายรถของกลาง ซึ่งรายได้ดังกล่าวทำถูกต้องตามกฎหมายศุลกากรกำหนดไว้ทุกอย่าง

น่าสังเกตว่าการที่กำหนดให้รางวัลจากการแจ้งเบาะแสและรางวัลนำจับมากมายมหาศาล ในทางกลับกันกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐอาศัยเป็นช่องโหว่ในการทำมาหากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

จะว่าไปแล้ว วิธีการที่อดีต ผกก.โจ้ กระทำนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ซึ่งในแวดวง “คนมีสี” มีการกระทำมากันมาทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่หลายคนทำแล้วรู้จักพอ รีบชิ่งออกจากวงการ เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัย แต่อดีตผกก.โจ้นั้นอาจจะมั่นใจตัวเองหรือว่ามีแบ็กดี ก็ไม่ทราบ จึงยังไม่ยอมถอนตัว ซึ่งหากไม่มีคดีถุงดำ เรื่องนี้คงไม่ปูดขึ้นมาให้สังคมรับรู้

ถามว่าทำไมจึงเกิดปัญหานี้ขึ้นมา ก็ต้องบอกว่าต้นตอของปัญหาจริง ๆ คือ กฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็น “แรงจูงใจ” ให้คนที่มีอำนาจหน้าที่กล้าพอที่จะเสี่ยงกระทำความผิด เพราะหากทำสำเร็จก็จะได้โบนัสก้อนโต เป็นเงินสินบนและเงินรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยในการจับกุมนั้นสูงถึงร้อยละ 55 จากเงินค่าขายของกลางและไม่มีเพดาน นั่นเอง

ที่สำคัญ ตามระเบียบศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2517 (ซึ่งใช้ก่อนปี พ.ศ.2560) โดยเงินสินบนรางวัลยังได้อภิสิทธิ์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด

ฉะนั้น กระบวนการจับรถแล้วนำไปสู่การขายทอดตลาดของกรมศุลกากร จึงกลายเป็นช่องทางทำมาหากินจนร่ำรวยอู้ฟู้ และยังกลายเป็นเครื่องมือในการ “ฟอกรถหรู” ของเหล่ามิจฉาชีพอีกด้วย

งานนี้แทบไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย ถ้านำรถเข้ามาเอง ผ่านด่านได้ แล้วก็แจ้งจับกุมเอง พร้อมนำรถเข้าสู่กระบวนการจับของเถื่อนของกรมศุลกากร ก็สามารถไปประมูลกลับมาได้ และได้เงินรางวัลอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าประมูลได้ชัวร์ ๆ ก็ต้องทำกันเป็นขบวนการโดยการ ร่วมมือกับเจ้าของเต้นท์รถมือสอง ในการถอดองค์ประกอบรถบางชิ้นที่สำคัญออก แล้วจึงค่อยไปจับส่งรถให้ตำรวจ และให้ศุลกากร

ครั้นเมื่อนำรถออกประมูล ก็ใช้วิธีตั้งราคาสูง ๆ ไว้ เพื่อกันท่าคู่แข่งซึ่งปกติก็จะไม่มีใครมาแย่งซื้อ เพราะรถขาดองค์ประกอบสำคัญที่ถอดออกก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อจัดประมูลครบ 3 ครั้ง ไม่มีใครประมูลไป ราคาประมูลก็จะกลายเป็นว่าแล้วแต่คนประมูลจะให้เท่าใดเพราะ เป็นตลาดของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของการประมูล 

เมื่อได้ใบประมูลไปแล้ว พวกมิจฉาชีพก็เอาองค์ประกอบชิ้นส่วนของรถที่ตัวเองถอดออกไปมาใส่กลับคืน เป็นรถที่สมบูรณ์ นำไปจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย นำออกขายได้ในราคาสู งๆ ฟันกำไรเหนาะ ๆ

มองอีกมุมหนึ่ง กระบวนการนำจับของกรมศุลกากร ถูกมิจฉาชีพ ยืมมือไปเป็นเครื่องมือ “ฟอกรถ” ผิดกฎหมายจนขาวสะอาด แถมกำไรและได้เงินรางวัลอีกต่างหาก

ทันทีเรื่องนี้ตกเป็นข่าวโด่งดังกลับไม่เห็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างกระทรวงคลังออกมาแอคชันอะไร ทั้ง ๆ ที่ควรจะต้องสั่งสอบว่ามีการสมคบคิดกันระหว่างอดีตผู้กำกับโจ้ กับข้าราชการกรมศุลกากร เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กันหรือไม่ เป็นไปได้อย่างไรที่ ตำรวจคนเดียวเป็นเจ้าของสำนวนมากถึง 368 คัน 

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการกล่าวหาคนทำงานแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็รู้สึกเห็นใจเจ้าหน้าที่ศุลกากรส่วนใหญ่ที่ทำงานนี้ล้วนมีความเสี่ยง แต่อย่าลืมว่าเรื่องอย่างนี้อดีตผู้กำกับโจ้ทำคนเดียวไม่ได้แน่ ๆ ต้องมีการทำกันเป็นขบวนการ เพื่อคลายข้อสงสัยของสังคม ก็น่าจะต้องตรวจสสอบ

ที่สำคัญอยากจะฝากให้ “คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทบทวนกฏหมายการให้สินบนและรางวัลนำจับเสียใหม่ ให้สมเหตุสมผลหรือควรจะยกเลิกไปเลย เพราะการจับกุมสิ่งผิดกฏหมายเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว

การให้สินบนและรางวัลนำจับอย่างที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ อาจจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนได้

เครดิตภาพจาก : lamborghini.com

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ