TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเดิมพัน "เปิดประเทศ"

เดิมพัน “เปิดประเทศ”

ประเทศไทยตกเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อสำนักข่าว “ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่าไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่เตรียมเปิดประเทศ กำหนดดีเดย์ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยทั้ง 5 ประเทศมี 3 ประเทศ คือ เดนมาร์ก, สิงคโปร์. และชิลี ประชาชนได้รับวัคซีนครบโด๊สไปแล้ว 74%, 81% และ 87.4%ตามลำดับ

นั่นแปลว่าประเทศเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันหมู่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่อัฟริกาใต้ที่ฉีดวัคซีนครบโสแค่ 12% แต่การติดเชื้อลดลงค่อนข้างมาก จนเกิดความมั่นใจว่าจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ ส่วนไทยตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง สถิติการติดเชื้อยังสูงเฉลี่ย 1.5 หมื่นคน/วัน เสียชีวิตกว่า 200 คนต่อวัน ขณะที่ฉีดวัคซีนครบโดสแค่ 18% เท่านั้น

ปัจจัยหลัก ๆ ที่ต้องเปิดประเทศ คือ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก “มาตรการล็อกดาวน์” เสียหายหนัก และสัดส่วนการฉีดวัคซีนสูงเพียงพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ คงมีเพียงไทยเปิดประเทศ เพราะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจนฝืนต่อไปไม่ไหว

อย่าลืมว่าตอนที่รัฐบาลประกาศจะเปิดประเทศใน 120 วันนั้น คนไทยเพิ่งจะติดเชื้อแค่ 2 พันกว่าคน คนเสียชีวิตแค่ 41 คนเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งกระฉูดเป็นหลักหมื่นกว่า ๆ มาเป็นสัปดาห์ ถ้าเศรษฐกิจไม่หนักจริง “ลุงตู่” คงไม่กล้าดันทุรังเปิดประเทศท่ามกลางความหวาดวิตกของหลาย ๆ ฝ่ายแน่ ๆ แม้แต่นักธุรกิจในวงการท่องเที่ยวเองยังตั้งคำถามว่า “เราพร้อมหรือยัง” จะได้คุ้มเสียหรือไม่

อันที่จริงก่อนหน้านี้รัฐบาลทดลองเปิดประเทศมาแล้ว ในโครงการนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” และ “สมุย พลัส” (สมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า) ปรากฎว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวสองเดือนแรกที่เข้ามาเที่ยวภูเก็ตไม่ถึง 5% ต่ำกว่าเป้าหมายมาก แต่รัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป ทั้ง ๆ ที่ต้องแลกกับต้นทุนและการเสียสละของชาวภูเก็ตมหาศาล

ทุกวันนี้คนภูเก็ตต้องติดเชื้อโควิด-19 วันละกว่า 200 คน ล่าสุด ชาวเลราไวย์ ติดเชื้อโควิดทะลุ 220 ราย ต้องกักตัวเอง 14 วัน ออกไปทำมาหากินไม่ได้ และไร้การเยียวยาจาก “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และจากการสอบถามผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ทำธุรกิจซักรีด บอกว่าก่อนยุคโควิด-19. เคยมีรายได้เดือนละเป็นล้าน ทุกวันนี้แม้จะมีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รายได้เหลือเดือนละไม่ถึงหมื่น

หากจะให้คะแนน “ภูเก็ตแซนบ็อกซ์”​ ก็ต้องบอกว่า” สอบตก” อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

แต่แทนที่กระทรวงท่องเที่ยวจะสรุปบทเรียน “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการ ยังใส่เกียร์เดินหน้าเปิดประเทศเฟส 2 ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ อีก 4 จังหวัด คือ ชลบุรี (บางละมุง, สัตหีบ), ประจวบฯ (หัวหิน) เพชรบุรี (ชะอำ) และเชียงใหม่ (อ.เมือง, แม่ริม, ดอยเต่า) ทั้งที่จังหวัดเหล่านี้ส่วนใหญ่เพิ่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ไม่ถึง 20%

แถมยังเตรียมลุยเฟส 3 อีก 25 จังหวัด และกทม.ในราว ๆ วันที่ 15 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดเปิดประเทศตามที่ “ลุงตู่” ประกาศตามมาด้วย เฟส 4 จะเป็นจังหวัดที่เป็นด่านชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านในทุกภาคของประเทศราว ๆ เดือนมกราคม 2565 ถือเป็นการเปิดประเทศสมบูรณ์แบบ

มีใครสังเกตหรือไม่ หลังจากที่ “ลุงตู่” ประกาศแผนเปิดประเทศ ดูจะมีเพียงกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เท่านั้นที่กระตือรือร้นพยายามผลักดันให้เปิดให้ได้ ขณะที่กระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ดูยังชิล ๆ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว

แม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวทั้งหลาย ก็ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะเปิดประเทศได้ และถ้าเปิดจริง ๆ ก็ยังไม่ชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะควบคุมการแพร่ระบาดในระดับที่ชาวต่างชาติมั่นใจ และกล้าเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยได้

ฟันธงชนิดไม่ต้องกลัวธงหัก ยังไงหลังจากเปิดประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาคงไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้แน่ ๆ แต่สิ่งที่ตามมานั่นคือ อาจจะเกิดการระบาดระลอกใหญ่ คนติดเชื้อเพิ่มหลายหมื่นคนอาจจะถึงขั้น “ปิดประเทศ” ใหม่เข้มข้น และนานกว่าเดิม ไม่รู้ว่าถึงตอนนั้นแล้ว บรรดานักธุรกิจจะรับได้หรือไม่ และจะมีใครในรัฐบาลจะกล้าออกมารับผิดชอบหรือไม่

เมื่อเสี่ยงอย่างนี้แล้ว ทำไมรัฐบาลยังเดินหน้าเปิดประเทศ อย่างที่บอก ถ้าไม่เปิดธุรกิจท่องเที่ยวก็ยิ่งทรุดหนักเรื่อย ๆ แต่ที่ติดปลายนวมตามมา นั่นคือ การเปิดประเทศทำให้ต้องมีการเร่งระดมฉีดวัคซีนขนานใหญ่ ซึ่งอาจจะเข้าทางใครบางคนในการขอจัดสรรโควต้าวัคซีนหรือไม่

แต่ไหน ๆ ก็จะเดินหน้าเปิดให้ได้แล้ว รัฐควรจะมีมาตรการรองรับแบบเข้มข้น หากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ เช่น ควรจะต้องมี “ดัชนี” เป็นตัวชี้วัดว่า ควรหยุดหรือเดินหน้าต่อ เช่น กำหนดตัวเลขผู้ป่วยเป็นเท่าไหร่, ผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลเท่าไหร่ และมีผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ เมื่อถึงจุดนี้จะต้องเบรกทันที

อย่าลืมว่าการเปิดประเทศนั้น ประตูได้เปิดกว้างกว่าการคลายล็อกดาวน์หลายเท่า การเตรียมพร้อมรับมือจะต้องเข้มข้นกว่าเดิมหลายเท่าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบุคลลากรทางการแพทย์, โรงพยายาบาล และโรงพยาบาลสนาม ต้องมีเพียงพอและทันท่วงที

เท่าที่ดูตอนนี้มีแต่แผนเดินหน้าแต่ยังไม่เห็นแผนตั้งรับแต่อย่างใด

อันที่จริงความล้มเหลวของภูเก็ตแซนบ็อกก็น่าจะเป็นสัญญาณว่า เมื่อเปิดประเทศแล้วจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไหนกล้ามาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งมีสถิติการติดเชื้อสูงอันดับ 10 ของโลก … ต้องบอกว่าเดิมพันครั้งนี้สูงจริง ๆ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ