TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistทำไมต้อง ... SCB X

ทำไมต้อง … SCB X

กรณี “SCB” ประกาศลอกคราบตัวเอง แปลงร่างใหม่เป็น “SCB X” พลิกโฉมจาก “สถาบันการเงิน” ที่อยู่ในธุรกิจนี้มานานถึง 115 ปี มาเป็น “เทคคอมปะนี” นับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความฮืฮา และยังเป็นกระแสให้คนได้พูดถึงกันไม่หยุดกระทั่งวันนี้

สำหรับโครงสร้างภายใต้ SCB X ที่ถูกเรียกว่า “ยานแม่” แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ 1.ธุรกิจที่เป็น Cash ​Cow ธุรกิจที่สร้างรายได้และทำกำไร จะเป็นธุรกิจธนาคาร และบริษัทหลักทรัพย์จำกัด และ 2.ธุรกิจ New Growth กลุ่มธุรกิจที่สร้างการเติบโตใหม่ เน้นประสิทธิภาพ และลดต้นทุน สามารถเลือกกลุ่มการเติบโต หรือ segment product ได้ 

โดยใช้วิธีแตกหน่อเป็น “บริษัทตระกูล X” ราว 15-16 บริษัท ตามที่ได้แถลงข่าวไปแล้ว ว่ามีบริษัทอะไร มีภารกิจอะไรบ้าง ใครเป็นแม่ทัพ ซึ่งล้วนคนรุ่นใหม่ระดับ “หัวกะทิ” จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ส่วนหนึ่งนักเรียนทุนถูกทาบทามมารับภารกิจนี้ และได้รวมตัวบ่มเพาะได้ระยะหนึ่งแล้ว

ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองแบบกลับหัวกลับหางชนิด 360 องศาครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การ “รีเอ็นจีเนียนิ่งองค์กร” แต่เป็นการเปลี่ยนแพลตฟอร์มธุรกิจ จากที่เคยเป็นแค่ธนาคาร มีรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย และก่อนหน้านี้ก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียม

แต่ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนมากกว่าการเป็นแค่ธนาคาร แม้ “SCB” เคยยิ่งใหญ่อันดับต้น ๆ ยังต้องมาอยู่ใต้ร่มเงา SCB X เป็นเรื่องที่ท้าทายผู้บริหารอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “นายอาทิตย์ นันทวิทยา” “ซีอีโอ” ที่ตัดสินใจเรื่องนี้ต้องใช้ความกล้าหาญมาก ๆ

ทำไมต้องเปลี่ยน แม้หลายคนจะบอกว่าธุรกิจธนาคารอาจจะเป็นธุรกิจเก่าไปแล้ว ผลตอบแทนในช่วงหลัง ๆ อาจจะไม่ดีเหมือนก่อน จะอยู่ราว ๆ 10% เท่านั้น แต่อย่าลืมว่าธนาคารเป็นธุรกิจ “เสือนอนกิน” ไม่ว่าเศรษฐกิจจะวิกฤติแค่ไหน ธุรกิจอื่นเจ๊งระเนระนาด แต่ธนาคารยังมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ

แต่ที่ต้องเปลี่ยนตัวเอง เป็นเพราะเห็นโอกาสที่จะสร้างผลกำไรมากขึ้น จากเทรนด์ของโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น

สะท้อนข้อมูลจาก We Are Social และ Hootsuite ระบุว่า ในปี พ.ศ.2563 คนไทยทำธุรกรรมผ่าน “โมบายแบงกิ้ง” เป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 68.1% ต่อเดือน 

ข้อมูลยังระบุอีกว่า คนไทยซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 74% ใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เฉลี่ย 5 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน

ยิ่งสถานการณ์โควิดที่จะอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง ทำให้ไลฟ์สไตล์คนไทยลดการเดินทางออกนอกบ้าน เลี่ยงจับเงินสด และใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี

อันที่จริงในธนาคารอื่น ๆ ก็ทำธุรกิจคล้าย ๆ กับธุรกิจบริษัทตระกูล X อยู่แล้ว แต่ยังอยู่ใต้ร่มเงาธุรกิจแม่ ยังไม่แตกตัวออกมา แต่การที่บริษัทตระกูล X แตกตัวออกมานั้น เป็นเพราะหากทำธุรกิจอยู่ใต้ร่มเงา SCB เดิมนั้นมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก

ยิ่งในช่วงหลังเข้ามาสู่ “ยุคฟินเทค” ธนาคารเริ่มไม่ได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะถูกคุมด้วยกฎระเบียบของแบงก์ชาติ เริ่มจะสู้คู่แข่งหน้าใหม่ไม่ได้ สะท้อนจากคำพูดของซีอีโอในวันแถลงข่าวที่ว่า” “ราคาบริษัทแกร็บมีมูลค่ากว่าแบงก์ไทยพาณิชย์อีก”

ดังนั้น การ “ดีดตัวเอง” ออกมาเป็นอิสระ ทำให้การรุกน่านน้ำใหม่ ๆ เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่หลากหลายขึ้น จะมีความคล่องตัวกว่าการอยู่ใต้ร่มเงาของ SCB เดิมอย่างแน่นอน พร้อมกับกำหนดวิสัยทัศน์ใน 5 ปี จะเป็น “กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค” ที่มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านคน จากปัจจุบัน 16 ล้านคน จะทำกำไรเพิ่มขึ้น 1.5-2 เท่า ด้วยมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ การจะขยายฐานลูกค้าให้ถึงเป้าหมาย นั่นแปลว่า ต้องขยายฐานลูกค้าด้วยการบุกตลาดอาเซียน อย่างเวียดนามที่กำลังโต อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่เป็นตลาดใหญ่ และอาจจะรวมถึงตลาดจีนในอนาคต

นอกจากนี้ จะใช้กลยุทธ์ร่วมมือพันธมิตรธุรกิจในการขยาย เช่น การตั้งบริษัท AISCB เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ (digital lending) และบริการทางการเงินอื่น ๆ เป็นการร่วมทุนกับ AIS ซึ่งมีฐานลูกค้าในมือถึง 40 ล้านคน

ยังร่วมทุนกับ MGC Group ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ จัดตั้ง Alpha X บริการธุรกิจให้เช่าซื้อ ลิสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมทั้งการร่วมทุนเครือ CP จัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน Decentralized Finance ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดใหม่อื่น ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ

การปรับโครงสร้างธุรกิจที่จะมีการแตกบริษัทย่อยออกมา 15-16 บริษัท เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ พร้อมกับการผลักดันบริษัทเหล่านั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป ดังนั้น เป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาทย่อมเป็นไปได้

อย่าลืมว่าจุดแข็งของทุนธนาคารรวมถึง “SCB” คือ “เงินทุนแข็งแกร่ง” แต่หากเสริมด้วย “แพลตฟอร์มเทคโนโลยี” ในการเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ ๆ ย่อมสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ คู่แข่งเดิมคงจะหนาว ๆ ร้อน ๆ ไม่น้อย จะเห็นว่าอิทธิฤทธิ์ของ SCB X หลังวันแถลงข่าว ทำหุ้นกลุ่มสินเชื่อ (ลิสซิ่ง) ราคาหุ้นร่วงทั้งวัน

โบราณว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน หากจะมองอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่า การถอดรื้อธุรกิจแบบขนานใหญ่ครั้งนี้จะราบรื่นไร้ขวากหนาม กลับกันย่อมมีความเสี่ยงไม่น้อย จะเห็นว่าบางบริษัทตระกูล X ที่ธุรกิจยังมีเส้นแบ่งไม่ชัดเจนอาจจะเป็นการแข่งขันกันและแย่งลูกค้ากันเอง

ในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรที่ยังมีทั้งแบบเก่ากับแบบใหม่ จะทำอย่างไรไม่ให้มีความขัดแย้ง เพราะอย่าลืมว่า คนที่อยู่ในร่มเงาธุรกิจเดิมนั้นค่อนข้างจะ “อนุรักษ์” ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมีวัฒนธนธรรมแบบคนรุ่นใหม่ เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนต้องบริหารจัดการให้ดี

อย่างไรก็ตามการที่ SCB X ประกาศปักธงก่อนใคร ในด้านภาพลักษณ์ ย่อมมีความได้เปรียบ แต่ธุรกิจนั้นต้องดูกันยาว ๆ เพราะกว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมยุคดิจิทัลสมบูรณ์แบบอย่างน้อย ๆ ก็ต้องรอ 3-5 ปี

ดังนั้น การที่ฝันไกล ๆ แต่จะไปถึงหรือไม่ จึงต้องเฝ้าดูกันต่อไป

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ