TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอย่าเล่นการเมือง...จนเศรษฐกิจพัง

อย่าเล่นการเมือง…จนเศรษฐกิจพัง

วันนี้ (1 พ.ย.64) เป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศต้องลุ้นระทึก และเฝ้าติดตามอย่างใจจดใจจ่อ เพราะเป็นวันที่รัฐบาลตัดสินใจประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ให้นักท่องเที่ยว 46 ประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศท่ามกลางความเป็นห่วงของคนไทยส่วนใหญ่ พร้อมกับตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า “ไทยเราพร้อมเปิดประเทศแล้วจริงหรือ?”

สิ่งที่หลาย ๆ คนเป็นห่วง ตรงที่การเปิดประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมืออย่างดี แต่เป็นจังหวะเวลาที่พรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรัฐบาลเกิดความขัดแย้งภายในอย่างหนัก อย่างที่ทราบ ๆ กัน อยู่ระหว่าง “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พรรคให้การสนับสนุน กับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาฯ พรรครุนแรงถึงขั้น “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” งานนี้คงจะจบยาก และพร้อมระเบิดได้ทุกเวลา

เหนือสิ่งใด ศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังได้ขยายวงกระทบชิ่งไปยังพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ หลัง “บิ๊กตู่” มอบหมายให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม กำกับดูแลหน่วยงาน 4 กรม ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่ ร.อ.ธรรมนัส อดีตรมช.เกษตรฯ เคยดูแล ก่อนที่จะถูก “ปลดออกจากตำแหน่ง” งานนี้กลายเป็นข้ามหน้าข้ามตา “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลและ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตรฯ จากประชาธิปัติย์

การมอบหมายงานใหม่ให้ “บิ๊กป้อม” ดูแลได้จุดกระแสความไม่พอใจให้กับประชาธิปัติย์อย่างมาก แม้ภายหลังจะได้กลับมาดูแลเหมือนเดิม แต่แก้วที่ปริร้าวคงยากจะประสาน งานนี้ “บิ๊กตู่” กับ “ประชาธิปัติย์” คงมองหน้ากันลำบาก ยังไม่นับการปัดแข้งปัดขา ปีนเกลียวกับ “พรรคภูมิใจไทย” เรื่องการบริหารสถานการณ์โควิดตลอดเกือบ 2 ปี

ในห้วงเวลาที่การเมืองฝุ่นตลบ ก็มักจะมีข่าวปล่อย ข่าวลือแพร่สะพัด ทั้งเรื่องปรับครม. เตรียมยุบสภาฯ นับถอยหลังเลือกตั้ง ออกมาเป็นระยะ ๆ นั่นย่อมทำให้ฝ่ายการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ยังห่วงหน้าพะวงหลัง วุ่นวายอยู่กับการแก้ปมความขัดแย้ง มัวเสียเวลากับการแก้เกมการเมือง ความทุ่มเทในการทำงานก็ทำได้ไม่เต็มที่

ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้มีผลแค่ทางการเมือง แต่ยังส่งผลสะเทือนถึงเรื่องเศรษฐกิจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง อย่างที่ทราบกันดีว่า “หัวใจสำคัญ” ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้นั้น รัฐบาลจะต้องทำให้ภาคธุรกิจเอกชน นักลงทุนมี “ความเชื่อมั่น” แต่ความเชื่อมั่นจะเกิดได้ “รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ” นั่นแปลว่า รัฐบาลจะต้องมีความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

หากรัฐบาลมีเสถียรภาพมั่นคง การทำงานก็จะเกิด “ความต่อเนื่อง” หากเปลี่ยนรัฐบาล หรือเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบ่อย ๆ นโยบายหรือโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ก็จะไม่ต่อเนื่อง อดีตที่ผ่านมาก็มีให้เห็น เวลารัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะรื้อทิ้งนโยบายของรัฐบาลเก่าและรัฐมนตรีคนก่อน ๆ ที่เคยทำไว้ จึงทำให้ไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนไทยหรือนักลงทุนต่างชาติก็ตาม

ฉะนั้น เศรษฐกิจกับการเมืองจึงเป็นเสมือนคู่แฝดที่แยกจากกันไม่ออก ในห้วงเวลาเกือบ ๆ 2 ปีที่ประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์โควิด19 ระบาด ได้รับความเสียหายอย่างมาก ธนาคารโลกและฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้โตแค่ 0.8%-1% เท่านั้น เรียกว่าเกือบจะบ๊วยในอาเซียน 

ขณะความเสียหายโดยรวมของการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ลากยาวนี้ มีแนวโน้มสูงถึงกว่า 7.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.8% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีความเสียหายราว 3 แสนล้านบาทเท่านั้น

ที่สำคัญมีครัวเรือนกว่า 62% มีปัญหาการเงินไม่พอใช้ เนื่องจากได้รายลดลงอย่างมาก อีกทั้งคนไทยไม่ถึง 2 ใน 5 หรือคิดเป็น 38% ที่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินเกิน 3 เดือน ส่วนยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี เป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะล่าสุดอยู่ที่ 9.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 57.01 %ของ จีดีพีเลยทีเดียว

เหนือสิ่งใด ความเสียหายของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ส่งผลให้ 3 กรมภาษีของกระทรวงการคลัง เก็บภาษีในปี 64 ต่ำกว่าเป้าถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท

ทั้งหมดนี้ คือ ความล้มเหลวในการบริหารจัดการโควิดของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งที่ประเทศอยู่ในวิกฤติต้องการการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แต่แทนที่ทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลจะเร่งหาทางแก้ปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว กลับเกิดความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น

ในวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งเป็นวันเปิดประเทศและตรงกับวันเปิดสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งยังมีกฎหมายสำคัญ ๆ หลายฉบับรอที่จะนำเข้าสู่การพิจารณากฎหมาย อาจจะมีบางฉบับที่เสนอโดยรัฐบาล เช่นกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินมาอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ก็ต้องเสนอ พ.ร.ก.เงินกู้เข้าสู้สภาฯ เพื่อขอออกเป็น พ.ร.บ. เป็นต้น

หากความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล หรือความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างก๊วน “ร.อ.ธรรมนัส” กับ”ฝ่าย “บิ๊กตู่” เล่นกันเลยเถิดถึงขั้นที่กฎหมายสำคัญ ๆ ถูกคว่ำ ทำให้ไม่ผ่านสภาฯ ซึ่งนอกจากจะมีผลต่ออนาคตรัฐบาลแล้ว ยังมีผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

หากเป็นเช่นนั้นจริง นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง และสร้างความเสียหายอย่างมาก ก็ได้แต่เตือนสติว่า ยังไงก็อย่าเล่นการเมืองกันจนลืมชาติบ้านเมือง เล่นกันเลยเถิดจนเศรษฐกิจต้องพังพินาศ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ