TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistTrue ผนึก dtac ... ข่าวดีหรือข่าวร้ายของผู้บริโภค?

True ผนึก dtac … ข่าวดีหรือข่าวร้ายของผู้บริโภค?

ข่าวใหญ่ส่งท้ายปีคงไม่ได้มีแค่ SCBx เข้าไปถือหุ้นใหญ่ Bitkub เท่านั้น แต่กลายเป็นว่ากระแสข่าวดี ดีลประวัติศาสตร์ของธุรกิจโทรคมนาคมระหว่าง True ของเครือซีพีกับ dtac ของฝั่งเทเลนอร์ กรุ๊ป กลับสร้างความฮือฮากว่า แต่จะตกล่องปล่องชิ้นกันว่าจะร่วมหอลงโรงกันรูปแบบไหน ก็คงจะต้องรอฟังถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของทั้งสองค่ายอีกครั้งคาดว่าในวันนี้ (จันทร์ 22 พฤศจิกายน 2564)

แต่จากคำชี้แจงของฝั่งเทเลนอร์ กรุ๊ป ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน dtac แจ้งตลาดหลักทรัพย์ออสโล ประเทศนอร์เวย์ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับเครือซีพีเกี่ยวกับความร่วมมือแบบ “Eco Partner” หรือสร้างพันธมิตรธุรกิจอย่างเท่าเทียมกันในกลุ่มธุรกิจสื่อสารคมนาคม 

ส่วน Eco Partner จะมีความหมายหรือนิยามอย่างไร จะเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจแบบใหม่ ๆ หรือจะเป็นแค่ “วาทะกรรมสวยหรู” เพื่อจะ “เลี่ยงบาลี” ก็คงจะรู้ในวันที่ทั้งสองค่ายแถลงข่าวอย่างเป็นทางการนั่นแล

แต่ที่แน่ ๆ เป้าหมายการผนึกพลังกันก็เพื่อเขย่าบัลลังก์แชมป์ “AIS” ที่อยู่ใต้ร่มเงาของอินทัช ซึ่งเป็นผู้นำตลาดตั้งแต่ออกสตาร์ตจนถึงวันนี้ โดยมีส่วนแบ่งตลาด 44% จำนวนผู้ใช้บริการราว 43 ล้านเลขหมาย ล่าสุด Gulf ยักษ์ใหญ่แห่งวงการพลังงานเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งด้วยการเข้ามาร่วมถือหุ้น

แต่ถ้า True ควบรวมกิจการตามที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ก็จะก้าวมาครองแชมป์ ขึ้นแท่นผู้นำแทน ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการราว ๆ 32 ล้านเลขหมาย ส่วน dtac มีผู้ใช้บริการราว 19 ล้านเลขหมาย หากรวมกันส่วนแบ่งก็จะแซงขึ้นแท่นเป็นที่ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 52% เลยทีเดียว 

การควบรวมกิจการครั้งนี้ทั้ง True และ dtac น่าจะแฮปปี้ทั้งคู่ในส่วนของ True เองที่ผ่านมามีธุรกิจในเครือข่ายทุกอย่างเหมือนกับ AIS แต่ที่เป็นรองแค่ผู้ใช้บริการมือถือ หากได้ลูกค้ามาจาก dtac นั่นแปลว่า True ก็พร้อมที่จะท้าชน AIS ได้ทุกรูปแบบ 

ขณะที่ dtac คงเหนื่อยล้าจากการเป็นเบอร์ 3 ที่ตามเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ห่าง ๆ ก็คงอยากจะทิ้งตลาดนี้ หิ้วกระเป๋ากำเงินสดกลับบ้านดีกว่า เพราะก่อนหน้านี้เทเลนอร์ก็ได้ลงนามควบรวมกิจการกับบริษัท Axiata Group Berhad ของมาเลเซียและในพม่าเองก็กำลังหาคนมาซื้อกิจการเช่นกัน

เหนือสิ่งอื่นใดในทางธุรกิจนั้นการควบรวมกันจะเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของธุรกิจ เพราะจะเกิดการประหยัดต้นทุนมหาศาล แต่สำหรับผู้บริโภคแล้ว ไม่ต้องเดาเลยว่าผลกระทบที่จะตามมาจะเป็นอย่างไร เพราะการควบรวมของสองค่ายทำให้การแข่งขันเดิมที่มีรายใหญ่ 3 ราย คือ AIS True และ dtac ที่มีส่วนแบ่งรวมกัน 97% ที่เหลือเป็นของ NT (National Telecom เป็นองค์กรใหม่เกิดจากการรวมตัวกันของ CAT กับ TOT) มีผู้ใช้บริการแค่ไม่กี่หมื่นราย หรือราว ๆ 3% เมื่อเทียบกับประชากร 69 ล้านคน ถือว่าเป็นธุรกิจผูกขาดเกือบจะสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว แล้วยิ่งมาเหลือแค่ 2 รายใหญ่ผู้บริโภคแทบไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย

หากเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่มีประชากรแค่ 5 ล้านกว่า น้อยกว่าไทยเกือบ 14 เท่า แต่มีผู้ให้บริการ 4 ราย ประกอบด้วย Sing Tel, M1, Star Hub และ TPG Telecom ผู้ประกอบการจากออสเตรเลียที่รัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้ลงสนามแข่งเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ในสิงคโปร์ยัง มีผู้ประกอบการที่เช่าเครือข่ายจากผู้ประกอบการหลัก หรือที่เรียกว่า MVNO (Mobile Virture Network Operate) “เครือข่ายเสมือน” อีกถึง 9 ราย ยิ่งทำให้การแข่งขันยิ่งมีมีความดุเดือดเข้มข้นเพื่อแย่งเค้ก 5 ล้านกว่าคน ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่ำลง คุณภาพการบริการระบบโทรศัพท์ดีขึ้น การเข้าถึงง่ายขึ้น

นั่นแปลว่า ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการบริการโทรศัพท์และระบบโทรศัพท์ของคนสิงคโปร์มีน้อย ต่างจากประเทศไทยที่ผลการศึกษาพบว่า มีความล้ำเหลื่อมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างมาก สาเหตุมาจากไม่สามารถจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือนและรายครั้งได้ 

จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมค่าบริการโทรศัพท์ในสิงคโปร์ที่เคยสูงถึง 70-80 ดอลลาร์สิงคโปร์ เหลือแค่ 30 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน ขณะที่ค่าบริการอินเทอร์เน็ตใน 5 ปีที่ผ่านมาก็ลดลงอย่างมาก การแข่งขันที่เข้มข้นนอกจากจะช่วยให้เกิดการแข่งขันด้านราคาแล้ว ยังกระตุ้นให้แข่งขันในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้มีประสิทธิภาพสูงส่งผลค่าบริการถูกลงอีกด้วย 

นี่คือข้อดีของระบบที่มีการแข่งขันสูง ตรงข้ามหากตลาดมีการแข่งขันน้อยรายก็จะเกิดระบบ “กึ่งผูกขาด” นอกจากผู้บริโภคจะไม่ได้สินค้าบริการที่มีคุณภาพ เพราะผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุน แถมราคาก็แพงเพราะไม่มีใครเข้ามาแย่งตลาด

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของ True กับ dta ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้ายทาย “ผู้คุ้มกฎ” อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. ที่ดูแลเรื่องนี้อย่างยิ่ง เพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค ไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการผนึกรวมกันของสองค่ายใหญ่ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คงไม่ใช่แค่การควบรวมกันแบบปกติธรรมดา ประเภทหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสองแน่ ๆ ต้องมีความสลับซับซ้อน จะต้องตีความกันด้วยความรอบคอบที่สุด

อย่าลืมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยทุกคนให้ความสนใจ ส.ส.ที่อยู่ในสภาฯ ก็ไม่ควรเพิกเฉย ต้องออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน อย่าฝากความหวังไว้กับกสทช.อย่างเดียว เพราะหากปล่อยให้มีการผูกขาดขึ้นมาจริง ๆ ไม่เพียงส่งผลกระทบกับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศในอนาคตเพราะจะไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ กล้าเข้ามาลงทุน

ดีลประวัติศาสตร์ครั้งนี้ จึงมีความสำคัญกับภาพลักษณ์ประเทศ และคนไทยทุกคนอย่างยิ่ง ดังนั้น จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรมจริง ๆ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ