TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistไข้หวัดนก ถึง "อหิวาต์หมู" บทเรียนซ้ำซาก

ไข้หวัดนก ถึง “อหิวาต์หมู” บทเรียนซ้ำซาก

ปรากฏการณ์ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” หรือ ASF (African swine fever) จนล้มตายเป็นเบือนั้น มีการประเมินว่าโรคระบาดครั้งนี้มีหมูจากฟาร์มต่าง ๆ ทั่วประเทศล้มตายมากเป็นประวัติการณ์ราว ๆ 700,000 ตัว มูลค่าความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

จะว่าไปแล้วกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด รวมถึงการแก้ปัญหาและ “การปกปิดข้อมูล” ของ “รัฐบาล” และ “หน่วยงานราชการไทย” ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นกัน กรณีที่เป็นดัชนีชี้วัดความล้มเหลวและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลและระบบราชการไทยได้ดีที่สุด คือ กรณีโรคไข้หวัดนกระบาดในฟาร์มไก่เมื่อเกือบ ๆ 20 ปีที่แล้ว

หากย้อนกลับไปราว ๆ ปี 2546-2549 ประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดของ “ไข้หวัดนก” ถึง 3 ระลอกใหญ่ ๆ ทำให้ผู้เลี้ยงไก่โดยเฉพาะฟาร์มขนาดกลางและฟาร์มรายย่อยได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนต้องเลิกอาชีพนี้ไปเลย รวมถึงก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมมากมาย ได้มีการประเมินความสูญเสียด้านการส่งออกสัตว์ปีกมากกว่า 100,000 ล้านบาท รวมถึงมีการทำลายไก่ไปมากกว่า 60 ล้านตัว มีคนต้องตกงานนับแสนคน 

การแก้ปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานราชการไทยในกรณีไข้หวัดนกเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็คล้าย ๆ กรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่กำลังระบาดในปัจจุบัน กล่าวคือ ทั้งไร้ประสิทธิภาพและมีการ “ปกปิดข้อมูล” ทั้งที่โรคไข้หวัดนกเริ่มเข้ามาระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี 2546 และพบว่ามีไก่และสัตว์ปีกล้มตายเป็นจำนวนมากจนเป็นข่าวใหญ่โต แต่รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรงเกษตรฯ สมัยนั้นรวมถึงกรมปศุสัตว์ก็ยืนยันว่าไม่ใช่ไข้หวัดนก กลับบอกว่าไก่และสัตว์ปีกที่ล้มตายเพราะเป็น “อหิวาตกโรค” หรือ “เป็นโรคหลอดลมอักเสบ” ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่า  

จากการปกปิดข้อมูลเหล่านี้นี่เอง ทำให้โรคไข้หวัดนกแพร่ระบาดลุกลามใหญ่โตจนผู้เลี้ยงได้รับความเสียหายอย่างหนัก กระทั่งต่อมามีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดพากันออกมายืนยันหนักแน่น รวมถึงสื่อมวลชนต่าง ๆ ช่วยกันนำเสนอข่าวกันคึกโครม และช่วยกันเปิดโปงพฤติกรรมรัฐบาลและนักการเมืองและข้าราชการที่ปกปิดข้อมูล 

ในที่สุดรัฐบาลในขณะนั้นก็ต้องออกมายอมรับ แต่กว่าจะออกมายอมรับได้ก็ใช้เวลานาน ต้องแสดงหลักฐานและผลการสอบสวนโรคในห้องแล็บเพื่อยืนยัน แต่ทุกอย่างก็สายเกินไป เพราะโรคได้ระบาดออกไปจนยากควบคุม และสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของเกษตรกรจำนวนมาก 

เบื้องหน้าเบื้องหลังเรื่องนี้ต่อมาทราบว่าเป็นเพราะรัฐบาลสมัยนั้นเกรงอกเกรงใจกลุ่มทุนเจ้าของฟาร์มรายใหญ่ที่ส่งออกไก่ไปต่างประเทศ หากรัฐบาลยอมรับว่าไก่ที่ตายเกิดจากไข้หวัดนกจะกระทบภาพลักษณ์ธุรกิจส่งออกไก่ได้

นอกจากจะปกปิดข้อมูลแล้ว แถมการแก้ปัญหาก็เลือกปฏิบัติ อย่างกรณีการเข้าตรวจสอบและทำลายไก่ในฟาร์มก็จะเลือกเข้าเฉพาะฟาร์มขนาดเล็กของชาวบ้าน ส่วนฟาร์มขนาดใหญ่ซึ่งเป็นระบบฟาร์มระบบปิดกลับไม่ยอมเข้าไปตรวจสอบและทำลาย ในการเลือกปฏิบัติเช่นนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เชื้อไข้หวัดนกยังคงอยู่เพราะทำให้การตรวจสอบและทำลายไก่และสัตว์ปีกที่ติดเชื้อทำได้ไม่ทั่วถึง

อีกทั้งในการแก้ปัญหา รัฐบาลก็เน้น “สร้างภาพทางการเมือง” เช่นการจัดงานกินไก่โชว์ที่ทำเนียบรัฐบาลและท้องสนามหลวง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวบ้านกล้ากินไก่ แต่ไม่ได้มีมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

จะเห็นว่า 20 ปีผ่านไปประวัติศาสตร์ก็ยังซ้ำรอย การปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานราชการก็เป็นแบบเดิม ๆ อย่างกรณีหมูป่วยด้วยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทั้งที่ข้อมูลชี้ว่าโรคนี้เข้ามาระบาดในไทยตั้งแต่ 2562 และได้แพร่กระจายไปจังหวัดต่าง ๆ แต่ทางกรมปศุสัตว์ก็ปฏิเสธข่าวมาตลอด เพิ่งจะแถลงข่าวยอมรับความจริงเมื่อไม่กี่วันมานี่เอง คนในรัฐบาลเองก็ไม่มีใครออกมาพูดอะไรปล่อยให้มีการปกปิดเรื่องนี้มานานถึง 2 ปี

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายหนึ่งเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าคนเลี้ยงหมูเขารู้เรื่องนี้กันทั่ว แต่ก็พูดอะไรไม่ได้เพราะว่าต้องการขนย้ายหมูที่ยังไม่เป็นโรคออกจากฟาร์มเพื่อลดความสูญเสีย ซึ่งในการขนย้ายต้องมีใบอนุญาต แต่อำนาจออกใบอนุญาตขนย้ายขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ฉะนั้นหากใครไม่ปกปิดเรื่องหมูป่วยก็จะไม่ได้รับอนุญาต เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจึงตกอยู่ในสภาพหวานอมขมกลืน

ถามว่าทำไมต้องปกปิด ก็คงเป็นเหตุผลเดียวกับกรณีไข้หวัดนก นั่นคือ ต้องการ “ปกป้องการส่งออก” ทั้งที่การส่งออกหมูนั้นมีมูลค่าน้อยกว่าการบริโภคในประเทศมาก ในการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูป รวมทั้งการสูญเสียโอกาสการส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นรวมกันปีละราว ๆ 20,000 ล้านบาทเท่านั้น จึงเทียบไม่ได้กับการบริโภคในประเทศ และความเสียหายของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย

อย่าลืมว่าการปกปิดข้อมูลทำให้ฟาร์มขนาดกลางและผู้เลี้ยงรายย่อยต้องล้มหายตายจาก ต้องออกจากวงจรธุรกิจนี้กว่าแสนราย การหลับหูหลับตาปกป้องการส่งออกเอาใจกลุ่มทุนและผู้เลี้ยงรายใหญ่จึงได้ไม่คุ้มเสีย

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ไขความจริง “วิกฤติหมู” ที่ไม่หมู

ระเบิดเวลา …หรือ “ยากระตุ้นเศรษฐกิจ”

ภาษีขายหุ้น…ฤาจะ “กระตุกหนวดเสือ”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ