TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเกิดน้อย...ปัญหาใหญ่

เกิดน้อย…ปัญหาใหญ่

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาปัญหา “เด็กเกิดน้อย” เป็น “ปัญหาใหญ่” ของสังคมโลกที่ทุกประเทศกำลังเผชิญไม่ว่าสหรัฐฯ เกาหลี ญี่ปุ่น กำลังปวดหัวกับเรื่องนี้ ขณะที่ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นชะตากรรมนี้เช่นกัน ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยเกี่ยวกับการเกิดของประชากรไทยว่า ขณะนี้คนไทยเกิดต่ำกว่าปีละ 6 แสนคน เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี

ยิ่งน่าเป็นห่วง เมื่อข้อมูลปี 2563 พบว่ามีเด็กไทยเกิดใหม่แค่ 5.8 แสนคน ในปี 2564 ลดลงไปเหลือเพียง 544,570 คน เท่านั้น ถือว่าต่ำมาก ๆ ยิ่งน่าใจหายเมื่อพบว่าปี 64 เป็นปีแรกที่มี “คนเกิดใหม่” น้อยกว่า “คนตาย” คาดว่าไม่เกิน 10 ปีจากนี้ไป อัตราการเกิดของคนไทยจะลดต่ำกว่า 5 แสนคนต่อปีแน่นอน

นั่นแปลว่า โครงสร้างประชากรของไทยได้เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จาก “สังคมเยาว์วัย” เป็น “สังคมคนแก่” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง โดยในปี 2565 นี้ ประเทศไทยจะมีประชากรเด็กเพียง 16-17% ของประชากรทั้งหมด และผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยวอชิงตันระบุว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 23 ประเทศที่ประชากรลดลงมากที่สุด คาดกันว่าอีก 80 ปี ประชากรไทยจะลดจาก 71 ล้านคน เหลือ 35 ล้านคนเท่านั้น

ย้อนอดีตเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในยุคสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก คนไทยในยุคนั้นจึงมีค่านิยมมีลูกมาก ดังคำพูดที่ว่า “มีลูกไว้ทันใช้” มีลูกไว้ใช้งาน เด็กส่วนใหญ่จึงเติบโตมาแบบที่ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าไหร่ หรือเรียกได้ว่าถูกเลี้ยงมาแบบ “ตามมีตามเกิด” เน้นปริมาณไม่เน้นคุณภาพ

กระทั่ง ราว ๆ ปี 2514 ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าเป็นห่วง อัตราการเกิดสูงถึงร้อยละ 3.3 รัฐบาลขณะนั้นจึงมี “โครงการชะลอการเกิด” เริ่มจริงจังในปี 2517 โดย มีชัย วีระไวทยะ ได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาประชากรและชุมชน รณรงค์คำขวัญ “ลูกมากจะยากจน” ผลักดันการใช้ยาคุมกำเนิดและถุงยาอนามัยในชนบท สามารถลดจำนวนการมีลูกจากครอบครัวละ 7 คนเหลือแค่ 2 คน อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจากร้อยละ 3.3 เหลือแค่ร้อยละ 2.5 เท่านั้น

แต่ในห้วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอยู่หลายครั้งหลายหน ล่าสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามากระทบกับเศรษฐกิจแบบเต็ม ๆ คนส่วนใหญ่ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร ชีวิตจะมีความมั่นคงแค่ไหน เศรษฐกิจจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนหนุ่มคนสาวมีค่านิยมเปลี่ยนไป คู่แต่งงานเริ่มมีการวางแผนครอบครัว ค่านิยมการมีลูกเมื่อพร้อมทั้งการเงินและความสามารถในการเลี้ยงดูเพื่อให้ลูกเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ หากไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ดี สู้ไม่มีเสียเลยจะดีกว่า ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

อีกทั้งก่อนหน้านี้ ค่านิยมคนรุ่นใหม่ จะรักความเป็นอิสระ เสรี ไม่อยากมีภาระ ไม่อยากมีบ่วงมาผูกมัด อยากทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงาน ท่องเที่ยว อยากใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ค่านิยมดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก

เมื่อเด็กเกิดใหม่น้อยลง นั่นย่อมหมายถึง ประเทศไทยในอนาคตจะมีแรงงานมีคนทำงานน้อยลง ทำให้เกิดภาวะแรงงานขาดแคลน และส่งผลกระทบไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตมีปัญหา บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมหลัก ๆ ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน ต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติ และที่สำคัญนักลงทุนต่างชาติจะไม่สนใจเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ในอนาคตประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกัน การที่เด็กเกิดใหม่น้อยลงย่อมหมายถึงจำนวนผู้บริโภคจะน้อยลง อำนาจซื้อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลงตามด้วยเช่นกัน อย่างที่รู้ ๆ กันว่าการบริโภคเป็นเครื่องยนต์หลักตัวหนึ่งที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในประเทศจะเติบโตได้จะต้องอาศัยอำนาจซื้อจากคนวัยทำงาน คนวัยนี้มีอำนาจซื้อสูง มีพฤติกรรม “ช้อปง่าย จ่ายแหลก แดกด่วน” แต่เมื่อขาดแคลนคนวัยทำงาน โอกาสที่จะสร้างการเติบโต ทางเศรษฐกิจด้วยตลาดภายในประเทศเป็นไปได้ยาก

เหนือสิ่งใด ถ้ามีแรงงานน้อยลง ฐานภาษีที่จะเป็นรายได้รัฐที่จะนำมาพัฒนาประเทศก็ลดน้อยลงเช่นกัน ย่อมกระทบฐานะทางการคลังของประเทศ ขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมวัยชราอย่างเต็มตัว จะมีคนที่อยู่ในวัยพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนในกลุ่มนี้ต้องการสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะจากค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับรายได้จากการเก็บภาษีที่จะมีน้อยลงเรื่อย ๆ เช่นกัน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและสภาพัฒน์ฯ พบว่า ในปี 2537 อัตราส่วนการพึ่งพิงวัยสูงอายุ อยู่ที่ 10.7% จนกระทั่งในปี 2563 ตัวเลขนี้อยู่ที่ 27.7% และคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะพุ่งขึ้นไปถึง 56.5% นั่นหมายความว่า ประชากรวัยแรงงาน 100 คน จะต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุถึง 56 คน เลยทีเดียว ในอนาคตสังคมไทยจะเข้าสู่สังคม “แก่ จน ไม่มีคนดูแล” อย่างมิอาจปฏิเสธได้

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายไม่ใช่เพียงแต่เรื่องคนเกิดน้อยเท่านั้น แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เกิดมาแล้วมีคุณภาพหรือไม่ สภาพสังคมไทยตอนนี้ กลายเป็นว่า “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ” เรียกว่าเจอ 2 เด้ง ตรงนี้น่าคิดว่าจะทำอย่างไรให้จำนวนที่มีอยู่น้อยต้องมีคุณภาพด้วย

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อ “ซาอุฯ” เปลี่ยนไป .. ไทยจะได้อะไร

เสือลำบาก “เศรษฐกิจแย่-การเมืองยุ่ง”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ