TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจะข้ามพ้น "วิกฤติน้ำมันแพง" อย่างไร

จะข้ามพ้น “วิกฤติน้ำมันแพง” อย่างไร

ปัญหาราคาน้ำมันยุ่งเหยิงเป็นลิงแก้แห ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งทุกวันนี้ เนื่องมาจากโครงสร้างราคาน้ำมันบ้านเราสลับซับซ้อน “บิดเบี้ยว” ใช้สูตรไขว้มั่วไปหมด อาจเป็นเพราะน้ำมันเป็นสินค้าการเมือง ซึ่งรัฐบาลในอดีตใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือจึงผูกเงื่อนปมจนแก้ลำบาก

เหตุที่น้ำมันต้องเป็นสินค้าการเมืองเพราะเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน เนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าจนถึงการขนส่ง อย่างราคาน้ำมันทยอยปรับขึ้นครั้งนี้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้ทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าตามตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

ปัญหาทั้งหลายกลายเป็นวงจรอุบาทว์ “ราคาน้ำมันไทย” เพราะโครงสร้างราคาบิดเบี้ยว ตั้งแต่เรื่องเก็บเงินคนใช้เบนซินส่ง “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เพื่อจะตรึงราคาน้ำมันดีเซล-แก๊สหุงต้ม ซึ่งน้ำมันดีเซลเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผลิตวัตถุดิบ ผลิตสินค้า เป็นต้นทุนการขนส่ง เป็นต้นทุนของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

รวมถึงการ “คิดต้นทุนแฝง” ที่ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันในไทยแต่ต้องอิงราคาสิงคโปร์ทำให้มีการบวกค่าขนส่ง ค่าประกันและอื่น ๆ กลายเป็นต้นทุนแฝงไม่ใช่ต้นทุนจริง แต่ผู้ใช้น้ำมันต้องจ่าย

ขณะเดียวกัน การดึงพืชเกษตรมาใช้เป็นพลังงาน อย่างการนำ “ปาล์ม” มาผสมร่วมกับน้ำมันดีเซลทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันถูกลงและแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในที่สุดก็ขัดกันเองระหว่าง “อุตสาหกรรมอาหาร” กับ “อุตสาหกรรมพลังงาน” ก็กลายเป็นความซับซ้อนขึ้นมาอีกชั้น

ขณะที่กองทุนด้านพลังงานที่มี 2 กองทุนคือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน กองทุนแรกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกันชนเวลาน้ำมันในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้นทำให้ราคาขายปลีกในประเทศแพงตาม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงกลายเป็นการนำเงินคนที่ใช้น้ำมันเบนซินไปช่วยเหลือคนใช้น้ำมันดีเซล และแก๊ส จึงยิ่งซับซ้อน

สำหรับการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2563 เบนซิน จัดเก็บอัตรา 6.58 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95อัตรา 0.62 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 อัตรา 0.62 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ อี20 ชดเชย 2.28 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 85 ชดเชย 7.13 บาทต่อลิตร, ดีเซล ชดเชย 2.50 บาทต่อลิตร, ดีเซล บี20 ชดเชย 4.16 บาทต่อลิตร และดีเซล บี7 จัดเก็บอัตรา 1 บาทต่อลิตร

ส่วนกองทุนอนุรักษ์พลังงาน จากเดิมเก็บ 10 สตางค์ต่อลิตรปัจจุบันเก็บ 5 สตางค์ต่อลิตร กองทุนนี้มีเงินสะสมนับหมื่นล้านบาท เพื่อรณรงค์และอุดหนุนการอนุรักษ์พลังงานที่ส่วนใหญ่เป็นพลังงานไฟฟ้าว่ากันว่ากองทุนนี้เป็นขุมทองของนักการเมืองและพวกพ้อง แสวงหาประโยชน์ ในรูปแบบโครงการต่าง ๆ และบริษัทด้านพลังงานบางรายก็รวยอู้ฟู่จากกองทุนนี้

ฉะนั้น ทางออกจากวิกฤติน้ำมันคงไม่ใช่แก้ปัญหาราคาแค่ระยะสั้น ๆ แบบลูบหน้าปะจมูกแต่ต้องแก้เชิงโครงสร้าง ต้องแก้ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลางและระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำซากอย่างทุกวันนี้

ในระยะเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันสูงจนประชาชนเดือดร้อนและรับไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องใช้มาตรการภาษีเข้ามาช่วย โดยลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 3-5 บาทปัจจุบันต้องเสียภาษีลิตรละ 5.99 บาทเสีย VAT อีก7% เป็นลิตรละ 6.41 บาท เป็นภาระอย่างมาก การลดภาษีน้ำมันดีเซลทำได้ง่ายและเร็วกว่าการให้กองทุนน้ำมันกู้เงินมาโป๊ะซึ่งไม่ทันการณ์และทำได้แค่ช่วงสั้น ๆ หากราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งไม่หยุด ใช้กองทุนน้ำมันมาอุ้มกลายเป็นว่าถมไม่รู้จักเต็ม ต้องกู้เพิ่มอยู่เรื่อย ๆ

ยิ่งเมื่อดูตัวเลขพบว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อนุมัติเงิน ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลไปแล้ว 3.79 บาทต่อลิตร อุ้มค่าการตลาดให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรใน 1 เดือน ต้องควักเงินอุดหนุน 7,031 ล้านบาท ถ้าไม่มีการอุดหนุนเท่ากับว่าราคาน้ำมันดีเซลปกติ  จะอยู่ที่ราว 34 บาท/ลิตร ถ้าทำตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถบรรทุกให้ตรึงราคา 25 บาท/ลิตร ใน 1 เดือน ต้องควักเงินอุดหนุนเกือบ 17,000 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่สูงเกินกว่าที่จะแบกรับไหว

แต่ถ้าลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล แล้วปล่อยราคาตามตลาดโลกให้สอดรับกับสถานการณ์การค่าครองชีพในปัจจุบัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เนื่องจากภาษีเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักทำให้ราคาน้ำมันแพง ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มน้ำมันดีเซลเก็บอยู่ที่ 5.99 บาท/ลิตร น้ำมันเบนซิน 6.50 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 เก็บ 5.85 บาท/ลิตร อี 20 เก็บ 5.20 บาท/ลิตร และอี 85 เก็บ 0.975 บาท/ลิตรถ้าลดลงมาบ้างหรือระงับการเก็บชั่วคราวก็จะช่วยแบ่งเบาภาระเงินในกระเป๋าประชาชนได้

ในระยะกลางต้องมาทบทวนบทบาท ทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่เป็นภาระให้ผู้ใช้น้ำมันต้องแบก อาจจะเริ่มจาก “ลดอัตราเงิน” ที่ต้องเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง แต่ในอนาคตควรจะต้องยกเลิก เพื่อสะท้อนราคาที่เป็นจริง ข้ออ้างว่าเก็บเงินเข้ากองทุนเชื้อเพลิงเพื่อให้ประชาชนลดการใช้น้ำมันฟุ่มเฟือยนั้นฟังไม่ขึ้นและต้องยกเลิก “กองทุนอนุรักษ์พลังงาน” ที่เป็นแหล่งทำมาหากินของใครหลายคนทันที

ในระยะยาวรัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเกิดให้ได้โดยเร็ว ปัจจุบันรัฐบาลอนุญาตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามาได้โดยภาษีนำเข้า 0% จาก FTA จีน-อาเซียน โดยรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคันจากจีนสามารถนำเข้ามาขายได้ในราคาที่ต่ำ แต่แปลกตรงที่หากนำเข้าแบตเตอรี่อย่างเดียวกลับเสียภาษีในอัตราที่สูง

ในขณะเดียวกันรถยนต์ไฟฟ้าจากยุโรป และญี่ปุ่น โดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 20-80% ซึ่งไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และไม่สนับสนุนให้เกิดการผลิตในประเทศ ตรงนี้ต้องเร่งแก้เพื่อให้การแข่งขันต้องเป็นธรรม รวมถึงให้ไทยสามารถผลิตได้เองด้วย รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น ทั้งในรูปแบบเงินอุดหนุนและภาษีเพื่อไม่ให้ราคาสูงจนไม่จูงใจ

การสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาก ๆ เพื่อช่วยให้ลดการใช้น้ำมันลง จึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหาน้ำมันราคาแพงในอนาคต

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เกิดน้อย…ปัญหาใหญ่

เมื่อ “ซาอุฯ” เปลี่ยนไป .. ไทยจะได้อะไร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ