TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“เศรษฐกิจปรสิต”...โรคร้ายเรื้อรัง

“เศรษฐกิจปรสิต”…โรคร้ายเรื้อรัง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวใหญ่ระดับชี้เป็นชี้ตายของสังคมไทย แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ สืบเนื่องจากกรณีที่ “ดิ อีโคโนมีส” สื่อใหญ่ระดับโลก เผยแพร่บทความพิเศษ ‘The Parasite Economy‘ แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า ‘เศรษฐกิจปรสิต’ เปิดเผยการจัดอันดับประเทศที่บรรดาอภิมหาเศรษฐีทั้งหลาย แสวงหาผลประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลได้มากที่สุดในโลก โดยการเทียบสัดส่วนความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีกับ GDP ของประเทศนั้น ๆ ในปี 2564 ที่ผ่านมา

บทความชิ้นนี้ได้เจาะลึกถึง “ระบบทุนพวกพ้อง” เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการเอื้อประโยชน์จากรัฐบาล โดยมีธุรกิจที่เข้าข่าย ได้แก่ การธนาคาร บ่อนคาสิโน การผลิตสินค้าจากการขุด หรือนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ และธุรกิจด้านการป้องกันประเทศ

ประเทศไทยไม่น้อยหน้าโผล่ติดชาร์ตกับเขาด้วย โดย ‘ติดอันดับ 9’ ของดัชนีทุนพวกพ้องประจำปี 2564 ขยับจากอันดับ 12 ในการจัดอันดับเมื่อปี 2016 สะท้อนให้เห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุครัฐบาล “คสช.” จนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่มี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี การปราบทุจริตของรัฐบาลไทยประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แถมยังตกอยู่ในวังวนของทุนพวกพ้องซึ่งมีอำนาจมากในตลาดธุรกิจการค้าสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก

หากถามว่าระบบเศรษฐกิจแบบปรสิต หรือทุนพวกพ้อง คืออะไร อาจจะอรรถาธิบายง่าย ๆ ก็คือ ‘กลุ่มทุนผูกขาด’ ที่มีธุรกิจต่าง ๆ ในมือมากมาย จนมีอำนาจเหนือตลาด ทั้งยังโยงใยกับเครือข่ายอำนาจทางการเมือง หรือระบบราชการอย่างแนบแน่น เอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น เกาะกินเศรษฐกิจ และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้ จนนำไปสู่นโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อทุนใหญ่เหล่านี้ 

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการตัดโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้ทุนรายย่อยแทบจะไม่มีโอกาสต่อสู้กับทุนรายใหญ่ได้ เพราะเงื่อนไขต่าง ๆ ของรัฐไม่ได้ช่วยทุนขนาดเล็ก เท่ากับที่ช่วยทุนใหญ่หรือทุนผูกขาดทั้งหลาย ทำให้ขาดความหลากหลายในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก

การก่อกำเนิดทุนนิยมแบบพวกพ้อง เท่าที่มีข้อมูลยืนยันว่ามีพัฒนาการระหว่าง พ.ศ.2500 – 2516 เป็นช่วงที่ประเทศไทยปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ แม้บางช่วงบางตอนมีการเลือกตั้งคั่นกลางบ้าง แต่ก็คล้ายกับรูปแบบรัฐบาลทุกวันนี้ คือเป็นพรรคทหารปกครองประเทศมีนักการเมืองเป็นฐานสนับสนุน

การเมืองยุคนั้นจึงเปิดช่องให้ทุนนิยมพวกพ้องเกิดขึ้น โดยมีข้าราชการระดับสูง ทั้งผู้นำกองทัพ นายตำรวจระดับสูงเข้าไปมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง และแสวงหาผลประโยชน์ตั้งแต่ การใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง ใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ จึงเรียกทุนนิยมพวกพ้องในช่วงนั้นว่า ทุนนิยมพวกพ้องโดยข้าราชการ

กระทั่งระหว่าง พ.ศ.2517-2543 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ประเทศไทยหมดยุครัฐบาลผูกขาดโดยทหารมาเป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง การเมืองรูปแบบนี้ นักการเมืองจำเป็นต้องใช้เงินในการหาเสียงทำให้กลุ่มทุนการเมืองท้องถิ่นมีโอกาสเติบโตและแผ่บารมี ขณะที่กลุ่มทุนผูกขาดในเมืองยังคงได้รับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  

ในห้วงเวลานี้ ทุนนิยมพวกพ้องโดยข้าราชการลดบทบาทลงไป แต่เปลี่ยนไปเป็นทุนนิยมพวกพ้องโดยนักการเมือง เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์แทน ด้วยการการใช้ข้อมูลของรัฐไปแสวงหาผลประโยชน์ และแก้ไขสัญญาธุรกิจสัมปทานของหน่วยงานรัฐ เป็นต้น ต่อมากลุ่มทุนผูกขาดมีพัฒนาการไปอีกระดับ โดยการลงมาเล่นการเมืองโดยตรง จนในที่สุดใช้วิธีจัดตั้งพรรคการเมืองเอง ส่วนใหญ่กลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ผูกขาดจากสัมปทานรัฐและทุนที่หากินกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

จะเห็นว่าบทบาทในการเข้ามาครอบงำการเมืองของกลุ่มทุนผูกขาดมีพัฒนาการอย่างเนื่องและเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เคยใช้ข้าราชการเป็นตัวแทนก็มาเป็นใช้นักการเมือง ต่อมาก็ลงมาเล่นเอง ทั้งในรูปแบบเป็นตัวแทนครอบครัวมาปกป้องธุรกิจคนในตระกูล กระทั่งยี่สิบกว่าปีมานี้มาตั้งพรรคการเมืองเพื่อกำหนดนโยบายเอื้อธุรกิจได้ด้วยตัวเอง

แต่ก็ยังกลุ่มทุนขนาดใหญ่บางกลุ่มยังใช้ “ตัวแทน” ทั้งรูปแบบการสนับสนุนทุนให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ เกือบทุกพรรค เลี้ยงข้าราชการในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวเองด้วยวิธีจ่ายเป็นรายเดือน หรือจ่ายใต้โต๊ะเป็นครั้งคราว รวมถึงผลักดันให้ก้าวไปสู่ตำแหน่งสูง ๆ เพื่อช่วยให้ดูแลผลประโยชน์ได้ 

เมื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เกษียณอายุราชการ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากกลุ่มทุนที่เคยดูแลให้ไปเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาบริษัทในเครือ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับอธิบดีหรือปลัดกระทวงบางคนไปนั่งเป็นกรรมการ 4-5 บริษัทรับเงินเดือนเหนาะ ๆ เดือนละล้านกว่าบาทสบาย ๆ

นอกจากนี้ ข้าราชการบางคน ผู้บริหารระดับสูงบริษัทของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มทุน ยังได้รับการสนับสนุนให้เข้ามานั่งเป็นกรรมการองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่มีบทบาทดูแลผลประโยชน์ของรัฐ เพื่อมาเป็นเข้ามาดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจให้กับกลุ่มทุนที่สนับสนุนตนเข้ามา 

ในส่วนของนักการเมือง นอกจากกลุ่มทุนให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองแล้ว ถ้านักการเมืองเหล่านั้นมีตำแหน่งในรัฐบาล ก็จะได้รับการสนับสนุนจากลุ่มทุนเป็นการส่วนตัว จึงเป็นที่มาของการทุจริตคอรัปชั่นรูปแบบต่าง ๆ ล้วนพิสดารพันลึก จนยากที่จะตรวจสอบได้

จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นว่ากลุ่มทุนใหญ่จะได้สัมปทานโครงการขนาดใหญ่ ได้ต่ออายุสัญญาหรือมีการทำผิดกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ผิดสัญญาต่างๆ หรือการทำผิดกฏหมาย เช่น การขอต่ออายุสัมปทานโครงการต่าง ๆ การควบรวมกิจการต่าง ๆ เพื่อสร้างอำนาจในการผูกขาดธุรกิจ โดยไม่ต้องสนใจเสียงท้วงติงจากคนในสังคม

ทั้งหลายทั้งปวงล้วนมาจากอิทธิพลของระบบทุนนิยมพวกพ้องในระบบเศรษฐกิจปรสิตของบ้านเราอย่างแท้จริง

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ