TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistStagflation ... ฝันร้ายเศรษฐกิจไทย

Stagflation … ฝันร้ายเศรษฐกิจไทย

ชะตากรรมเศรษฐกิจไทยกำลังจะพลิกผันอย่างแรง จากเดิมหลายคนมั่นใจว่า ปีเสือนี้อาจจะเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์บ้าง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรุกเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า เป็นสัญญาณว่าจะถึงจุดจบของโควิด-19 คาดกันว่าอย่างช้าไม่เกินไตรมาส 2 ของปีนี้ หลาย ๆ ประเทศรวม ทั้งประเทศไทย ทยอยเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

ความวัวไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก บาดแผลจากโควิด-19 ยังไม่ทันหาย กลับมีบาดแผลใหม่จาก “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” เข้ามากระหน่ำซ้ำเติม ส่งผลให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่จำเป็นพุ่งกระฉูด เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย และผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ รัสเซียยังเป็นผู้ผลิตสำคัญของสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ถ่านหิน แพลทินัม ทองแดง แร่เหล็ก และยังเป็นผู้ส่งออกสำคัญของข้าวสาลี และปุ๋ยเคมี ยังมีแพลาเดียม วัตถุดิบในการผลิตชิปสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และไอที ส่วนยูเครนเป็นแหล่งผลิตข้าวสาลีและสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่สำคัญ และเป็นผู้ส่งออกรายต้น ๆ ของโลก 

นั่นหมายความว่าหากสองประเทศนี้วิกฤติเมื่อไหร่ ย่อมทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ราคาที่ปรับสูงขึ้นก็จะไปกดดันต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาอาหารทั่วโลกให้สูงขึ้นตามไปด้วย

เมื่อต้นทุนพลังงานทั้งราคาน้ำมันดิบ ราคาก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช และวัตถุดิบต่าง ๆ พุ่งทะยานจากภาวะสงคราม และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย กลายเป็นปัจจัยเร่งให้สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งเงินเฟ้อของไทย รุนแรงขึ้นทันที

ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา หลาย ๆ สำนักได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 โดยใช้ตัวเลขราคาน้ำมันอยู่ที่ราว ๆ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ล่าสุดราคาน้ำมันดิบโลก (7 มีนาคม) เบรนต์พุ่งแตะ 128 เหรียญต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 13 ปี ทำให้หลาย ๆ สำนักคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งไปถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บางสำนักฟันธงว่า หากสงครามยืดเยื้ออาจจะแตะ 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 

ส่วนอัตรา “เงินเฟ้อ” ของไทยเดือน ก.พ. 2565 ขยายตัวถึง 5.28% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 13 ปี สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย 1-3%  ปัจจัยหลัก ๆ มาจาก “กลุ่มพลังงาน” ที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อถึง 62.26% และสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) กระทบต่อเงินเฟ้อ 35.05% 

ขณะที่ในชีวิตจริง คนที่ต้องจับจ่ายใช้สอยทุกวันก็จะสัมผัสได้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ “ยุคข้าวยาก น้ำมันแพง” จะเห็นได้จากราคาสินค้าก็ทยอยปรับเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช นมสด เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ไม่นับรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงของกินของใช้อื่น ๆ มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบต่าง ๆ ซึ่งผู้ผลิตได้ผลักภาระต่อถึงผู้บริโภคมี ทั้งแอบปรับราคาขึ้น หรือราคาเดิมแต่ลดปริมาณลงด้วยการลดขนาดบรรจุภัณฑ์

ผู้ประกอบการบางรายบอกว่า หากสถานการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้ และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท และราคาแก๊ส 318 บาทต่อถัง ได้นานแค่ไหน หากสงครามยังยืดเยื้อภายใน 1-2 เดือน ราคาสินค้าต้องมีการปรับอย่างแน่นอน 

ผลพวงจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเติมน้ำมันเพิ่มขึ้น เงินในกระเป๋าที่มีอยู่เท่าเดิมลดลง ต้องไปลดรายจ่ายด้านอื่น ๆ แทน เช่น จากเดิมเคยเติมน้ำมันสัปดาห์ละ 2,000 บาท ก็จ่ายเพิ่มเป็น 4,000 บาท เพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่รายได้เท่าเดิม ต้องไปลดการใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นลง ทำให้ไม่มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ปกติทั่วไปเงินเฟ้อมักจะเกิดในยามที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ธุรกิจจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เมื่อคนมีรายได้จากการทำงาน ความต้องการในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการก็จะเพิ่มขึ้นตาม แต่เศรษฐกิจไทยเวลานี้ อยู่ในภาวะฟื้นตัวช้ามากหรือยังซึม ๆ อันเนื่องมาจากพิษโควิดระบาดมา 2 ปีเต็ม ๆ แต่กลับเริ่มมีสัญญาณเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะเจอภาวะที่เรียกว่า Stagflation ที่รายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพ 

หากจะอรรถาธิบายปรากฏการณ์ Stagflation ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการนำเอาสองคำ คือ Stagnation ที่แปลว่า การหยุดชะงักหรือภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาฝืดเคือง กับคำว่า Inflation ที่หมายถึง ภาวะเงินเฟ้อ หรือ ระดับราคาสินค้าแพงขึ้น มาผสมรวมกัน

ภาวะ Stagflation จึงเป็นฝันร้ายของเศรษฐกิจไทยอย่างมิอาจปฏิเสธได้ดังที่กล่าวข้างต้น การที่คนมีรายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพ ประชาชนก็ต้องรัดเข็มขัดไม่อยากจับจ่ายใช้สอย ทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ลดลง กำไรก็ลดลง เมื่อกำไรลดลงธุรกิจอาจจะเจ๊ง หรือไม่มีการลงทุน ไม่ขยายกิจการ ไม่มีการจ้างงานเพิ่มหรืออาจจะต้องลอยแพคนงาน คนไม่มีงานทำก็จะไม่มีเงินใช้จ่าย วัฎจักรก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ 

ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก ในอดีตไทยเคยประสบภาวะ Stagflation มาแล้วในช่วงปี 2523 หรือเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้นอัตราเงินเฟ้อไทยเคยขึ้นไปแตะระดับสูงถึงเกือบ 20% และเศรษฐกิจไทยก็ตกต่ำลงติดต่อกันนาน 5 ปี

หากดูประสบการณ์ในอดีตอาจจะหนักหนาสาหัสกว่าปัจจุบัน แต่สิ่งที่น่ากังวลตรงที่ ครั้งนี้เกิดในช่วงรอยต่อ “สงครามโรค” กับ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

หยุด “หนี้ครัวเรือน” = หยุดวิกฤติชาติ

สงคราม “รัสเซีย vs ยูเครน” … “เดือด” บ้านเขา “ร้อน” ถึงบ้านเรา

จะข้ามพ้น “วิกฤติน้ำมันแพง” อย่างไร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ