TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistมอง "วิกฤติศรีลังกา" ... แล้วย้อนดูไทย

มอง “วิกฤติศรีลังกา” … แล้วย้อนดูไทย

สถานการณ์ของศรีลังกาภายใต้ปกครองของ “ตระกูลราชปักษา” ที่มี “โกตาพญา ราชปักษา” ประธานาธิบดี รวมถึงคนในตระกูลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาลอีกหลายคน กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด ในรอบ 74 ปี ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เกิดความวุ่นวายถึงขั้นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ 

วิกฤติเศรษฐกิจทำให้กิจกรรมทางธุรกิจหยุดชะงักลง รัฐบาลขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ไม่มีเงินนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ขาดแคลนอย่างหนัก ร้านอาหารต้องปิดกิจการ รวมทั้งขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค โรงไฟฟ้าลดการผลิต ต้องตัดการใช้ไฟฟ้าวันละหลายชั่วโมง ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศ

ภาวะเงินเฟ้อกำลังเป็นปัญหาใหญ่ โดยในเดือนกุมภาพันธ์เงินเฟ้อสูงถึง 17.5% ขณะที่กระทรวงการคลังต้องหันไปขอให้ประเทศเพื่อนบ้านเปิดวงเงินสินเชื่อ โดยอินเดียจะให้สินเชื่อ 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำเข้าพลังงานและสินค้าจำเป็น ศรีลังกาประสบปัญหาภาระหนี้สินสูงมาก หนี้สินของรัฐมีสัดส่วนถึง 79% ต่อจีดีพี

มิหนำซ้ำการระบาดของโควิด-19 รายได้จากการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 10%ของจีดีพี สูญหายไป แรงงานศรีลังกาที่ทำงานในต่างประเทศที่เป็นรายได้ส่วนหนึ่งก็เริ่มส่งเงินกลับประเทศลดลง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดไป 70% ในปีนี้เงินทุนสำรองมีเหลือแค่ 2.3 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่จะต้องจ่ายคืนเงินกู้ 6.9 พันล้านดอลลาร์ จากหนี้สินทั้งหมด 51 พันล้านดอลลาร์

อย่างที่ทราบ ชาเป็นสินค้าส่งออกที่เลื่องชื่อชองศรีลังกา ในปี 2021 การส่งออกมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ มีสัดส่วน 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แต่สงครามในยูเครนทำให้รัสเซียลดการนำเข้าชาจากศรีลังกา ส่งผลให้รายได้เข้าประเทศลดลงอุตสาหกรรมชาวิกฤติกอย่างหนักเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่ม 10 เท่าแต่ผลผลิตลดลง 50% แต่กลับต้องนำเข้าพลังงานที่มีราคาที่สูงขึ้น

ปีที่แล้วศรีลังกาเริ่มโครงการเกษตรอินทรีย์แบบ 100% รัฐบาลห้ามการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงทั่วประเทศ โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากชุมชนการเกษตร ที่บอกว่าอาจทำให้การผลิตพังลง ในที่สุดก็ต้องประสบปัญหาผลผลิตการเกษตร ลดลงถึง 50% ทำให้ศรีลังกาขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะข้าว โครงการเกษตรอินทรีย์ 100% ต้องล้มเลิกไป

ปัญหาเศรษฐกิจของศรีลังกาซุกใต้พรมมาช้านาน อันเป็นผลพวงจากการที่รัฐบาลทุ่มเทการลงทุนระบบสาธารณูปโภคขนานใหญ่ นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี 2009  เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลศรีลังกาก็มุ่งพัฒนาหวังยกระดับมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน โดยมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 10% ของจีดีพี ทำเงินเข้าประเทศปีหนึ่งกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ช่วยสร้างงานจำนวนมาก ทำให้เกิดคนชั้นกลางมีกำลังซื้อสูงขึ้น พร้อมกับมีรสนิยมการใช้ชีวิตที่หรูหรา จึงเกิดการลงทุน ศูนย์การค้า สถานบันเทิงเกิด ร้านอาหารหรู ๆ ขึ้นตามมา 

เหนือสิ่งใด รัฐบาลศรีลังกาได้ทุ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้หันไปกู้เงินจากรัฐบาลจีน 4.8 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างท่าเรือ Hambantora รวมถึงสนามบินใหม่ โรงงานไฟฟ้า ในที่สุดรัฐบาลศรีลังกาไม่สามารถชำระเงินกู้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ จึงต้องปล่อยให้จีนเช่าท่าเรือ มาดำเนินการนาน 99 ปี

วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกา น่าจะเป็นบทเรียนให้กับรัฐบาล หลาย ๆ ประเทศเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการกู้เงินลงทุจากการสร้างหนี้ ให้ผลบวกในระยะสั้น ๆ เท่านั้น โดยในปี 2006 รายได้ต่อคนของศรีลังกาอยู่ที่ 1,436 ดอลลาร์ ปี 2020 เพิ่มเป็น 3,682 ดอลลาร์ ทำท่าว่าจะก้าวไปสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับบนได้สำเร็จ แต่ถึงจุดหนึ่งก็ไปไม่รอดตอนนี้กำลังจะล้มละลาย

นอกจากการลงทุนที่เกินตัวแล้ว อีกปัจจัยที่กัดกร่อนเศรษฐกิจศรีลังกา คือการทุจริตคอรัปชั่น” ซึ่งคนในรัฐบาลก็ถูกกล่าวหาว่ารับค่าคอมมิชชั่นจากคู่สัญญาที่ทำกับรัฐบาล รวมถึง “คนในตระกูลราชปักษา” ไม่มีศักยภาพในการบริหารประเทศ จนต้องมีการปลดคนกันเองออกจากตำแหน่ง 

ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ศรีลังกาจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้หรือไม่และจะผ่านได้อย่างไร เมื่อต้องแบกหนี้มหาศาล นอกจากหนี้เงินกู้จากจีนแล้วยังมีหนี้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย ญี่ปุ่น และมีกำหนดชำระหนี้ในปีนี้ 4 พันล้านดอลลาร์ แต่ทุกวันนี้รัฐบาลเหลือเงินใช้ได้จริงประมาณ 300 ล้านดอลลาร์เท่านั้น 

ยิ่งกว่านั้นศรีลังกายังขาดเงินสำหรับซื้อสินค้าจำเป็นสำหรับประชาชน ทั้งอาหาร ยารักษาโรค สินค้าทุกอย่างพาเหรดขึ้นราคาไปมากกว่า 30% ทุกวัน ฉะนั้นโอกาสที่จะรอดได้คงต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ “ไอเอ็มเอฟ” สถานเดียว 

มองศรีลังกาแล้วกลับมาย้อนดูไทย แม้เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยหลายๆอย่างก็คล้าย ๆ กัน  เช่น รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยก็สูงเกือบ 20% ของจีดีพี แต่ต้องได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดและสงครามยูเครน รวมถึงต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเหมือน ๆ กันมีปัญหาการทุจริตในแวดวงการเมืองและข้าราชการไม่น้อยกว่ากัน

แต่ที่น่าห่วงว่าจะซ้ำรอยศรีลังกา นั่นคือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้โหมการลงทุน โครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟความเร็วสูง ถนนมอเตอร์เวย์ ถนนสายหลักสายรองเกือบทั่วประเทศ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก “EEC” ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล 

ในช่วงโควิดระบาดรัฐบาลต้องกู้เงินถึง 1.5 ล้านล้านบาทเพื่อแก้ปัญหา ส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทยสูงกว่า 60% ต่อจีดีพี จนต้องขายเพดานการก่อหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี เงินเฟ้ออาจไม่สูงเท่าศรีลังกา ราว ๆ 5% กว่า ๆ ต่อจีดีพี แต่ก็สูงที่สุดในรอบ 13 ปี

 ในทางการเมืองแม้จะไม่ถึงขั้นผูกขาดอำนาจโดยวงตระกูลแบบ “ราชปักษา” แต่พี่น้อง 3 ป ของไทยแม้ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงไม่น้อย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ