TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"บุรีรัมย์ โมเดล" ... ความสำเร็จของท้องถิ่น

“บุรีรัมย์ โมเดล” … ความสำเร็จของท้องถิ่น

หลังจากที่รอมานานถึง 9 ปี ได้เวลาที่คนกรุงเทพฯ จะได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเสียที เช่นเดียวกับคนพัทยาที่จะมีโอกาสเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา พร้อม ๆ กันในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ บรรยากาศกลิ่นอายการเมืองท้องถิ่นกลับมาคึกคัก เปิดรับสมัครแค่ 2 วัน มีผู้อาสาเป็นผู้ว่ากทม.เกือบ 30 คน นอกจากจะเลือกตั้งผู้ว่าฯแล้ว คนกรุงเทพฯจะได้เลือกสมาชิกสภาฯ กรุงเทพฯ อีก 50 เขตไปด้วย 

ถือว่าคนกรุงเทพฯและคนเมืองพัทยาโชคดีกว่าจังหวัดอื่น ๆ ที่ได้มีโอกาสเลือกผู้บริหารจังหวัดและผู้บริหารเมืองของตัวเอง ทั้งที่หลาย ๆ จังหวัดก็มีความพร้อมอย่าง เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช หรือภูเก็ต แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้บริหารจัดการตนเอง หากประเทศไทยมีการกระจายอำนาจการปกครองออกไปสู่ท้องถิ่นมากเท่าใด โอกาสที่ท้องถิ่นจะเข้มแข็งก็จะยิ่งมาก

สะท้อนจากประเทศที่เจริญแล้วหลาย ๆ ประเทศล้วนให้อิสระท้องถิ่นในการบริหารจัดการตนเอง บ้านเราแม้จะมีองค์กรท้องถิ่นหลายระดับทั้ง อบจ. อบต.เทศบาล แต่เป็นแค่รูปแบบ อำนาจต่าง ๆ ยังอยู่ในส่วนกลาง หากเทียบการเมืองในภาพใหญ่ของไทยจะว่าไปแล้วคงคล้าย ๆ กับอิตาลีที่รัฐบาลกลางไม่ค่อยมีเสถียรภาพ มีการเลือกตั้งบ่อย ๆ 

แต่อิตาลีกลับมีความเจริญและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอัน 4 ของยุโรป เพราะท้องถิ่นเขาเข้มแข็ง รัฐบาลกลางให้อำนาจท้องถิ่นบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ อย่างกรณีนักลงทุนต่างประเทศจะเข้าไปลงทุน สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากองค์กรท้องถิ่นได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐบาลกลางทำให้มีความคล่องตัว ส่วนของไทยต้องผ่านการอนุมัติจากบีโอไอเท่านั้น 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะก้าวหน้า จัดเสวนาเปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร พูดในหัวข้อ “การกระจายอำนาจกับการยกเครื่องทางเศรษฐกิจ” ตอนหนึ่งว่า “เมื่อลองดูภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยามค่ำคืนโดยวัดจากแสงสว่างของไฟ จะพบว่าไทยมีอัตราความเจริญค่อนข้างกระจุกตัว ส่วนเกาหลีใต้ มีแสงไฟกระจายทั่วประเทศ เพราะมีการกระจายอำนาจ และทรัพยากร”

“ประเทศไทยเป็นรัฐใหญ่ ข้าราชการกว่า 2 ล้านคนอยู่ที่ส่วนกลางถึง 60% ส่วนข้าราชการส่วนภูมิภาคที่ถูกควบคุมจากส่วนกลาง 21% และที่เหลืออีก 18% หรือเพียง 2 แสนคนอยู่ที่ส่วนท้องถิ่น ตรงข้ามกับญี่ปุ่นที่มีข้าราชการส่วนท้องถิ่น 2 ล้านคน และมีข้าราชการส่วนกลางเพียง 5 แสนคน ส่งผลให้ความเจริญกระจายตัวทำให้รายได้ต่อคนโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 4.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่ 7.8 พันเหรียญสหรัฐ”

โดยส่วนตัวผมว่าไม่ต้องดูอื่นไกล แค่จังหวัด “บุรีรัมย์” ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วแบบไม่น่าเชื่อทำให้เห็นถึงพลังของท้องถิ่น แม้ยังไม่ได้บริหารตนเองเต็มรูปแบบ แต่อาศัยผู้นำท้องถิ่นที่มีบารมีขึ้นมานำจนสามารถสร้างความเจริญขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากเดิมเป็นจังหวัดยากจนอันดับต้น ๆของประเทศ สภาพภูมิศาสตร์ที่มีแต่ความแห้งแล้ง จนเล่าขานกันว่า “มาสุรินทร์ต้องกินน้ำตำ มาบุรีรัมย์ต้องตำน้ำกิน”

กระทั่งอดีตนักการเมืองคนดังอย่าง “เนวิน ชิดชอบ” ที่วางมือจาการเมืองระดับชาติหันมาพัฒนาบุรีรัมย์อย่างจริงจัง จากจังหวัดเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ “บุรีรัมย์โมเดล” ทำให้จังหวัดบุรีรัมย์เติบโตแบบก้าวกระโดด ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด “จีดีพี” โตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ก่อนช่วงโควิดระบาดมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากกว่า 3 ล้านคนต่อปี 

ต้องยกเครดิตให้ “เนวิน” ที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการใช้ “กีฬา” และ “การท่องเที่ยว” เป็นโมเดลในการพัฒนาบุรีรัมย์ ทำให้มีการลงทุนไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวอย่างคึกคัก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนบุรีรัมย์ทันตาเห็น จนปัจจุบันบุรีรัมย์ กลายเป็น “เมืองท่องเที่ยวเชิงกีฬา” โด่งดังไม่เฉพาะคนไทยที่รู้จักแต่อย่างน้อย ๆ ก็ดังระดับเอเชียไปแล้ว

หากจะถอดรหัสความสำเร็จของ “บุรีรัมย์ โมเดล” ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้ คือ 1.บุรีรัมย์คอนเซ็ปต์ บุรีรัมย์เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าในการพัฒนาท้องถิ่นให้ประสบความสำเร็จ ต้องหา “คอนเซ็ปต์” ของท้องถิ่นให้ได้ว่าจะเดินไปทิศทางไหน 2.บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จของสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ทำให้คนไทยและในระดับเอเซียรู้จักและอยากมาเที่ยว และ 3.Profit Sharing 

หัวใจหลักของบุรีรัมย์คอนเซ็ปต์ คือ “ต้องแตกต่าง” จากจังหวัดอื่น ๆ ต้อง “อลังการ” จนทำให้เกิด “”ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน” ส่วนบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นการสืบสานตำนานความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลอาชีพในประเทศไทยก้าวสู่ความสำเร็จทั้งในระดับประเทศและระดับเอเชีย นอกจากฟุตบอลแล้ว บุรีรัมย์ยังมีสนามแข่งรถที่ได้มาตรฐานระดับโลก มีอีเวนต์วิ่งมาราธอน ที่กำลังมาแรงเป็นที่นิยมของคนที่รักการวิ่ง หากไม่มีปัญหาโควิด-19 แพร่ระบาด บุรีรัมย์จะมีอีเวนต์กีฬาเกือบตลอดทั้งปี

เหนือสิ่งใด ความสำเร็จของ “บุรีรัมย์ โมเดล” จะต้องมี “การแบ่งปัน”​ หรือ “การกระจายรายได้” กลับสู่สังคมและชุมชน Profit Sharing หรือ Sharing Economy โดยใช้กีฬาเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ธรกิจต่าง ๆ ทั้งโรงแรม รีสอร์ท เกิดขึ้น แม้แต่ชาวบ้านที่มีบ้านพักก็สามารถแบ่งให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการได้

ทั้งหมดนี้คือ ความสำเร็จของ “บุรีรัมย์ โมเดล” ซึ่งผู้นำในการพัฒนามีความเป็น “ผู้ประกอบการสูง”

อันที่จริงมีผู้นำท้องถิ่นไม่น้อยที่มี “วิสัยทัศน์” กว้างไกล ที่จะสามารถพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าได้ แต่ถูกจำกัดด้วยระบบราชการ และอำนาจจากส่วนกลางกดทับเอาไว้ ที่สำคัญท้องถิ่นถูกสร้างภาพให้น่ากลัวในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นว่ามีการโกงกินมโหฬาร ปล่อยให้บริหารจัดการตัวเองไม่ได้ ทั้งที่ส่วนกลางมีสัดส่วนการคอรัปชั่นสูงกว่าหลายเท่า 

นอกจากนี้ ยังมีการรวบอำนาจเกือบทั้งหมดอยู่ในมือส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ทั้งเรื่องงาน เงิน คน และความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการทำโครงสร้างระบบให้อ่อนแอ ถ้าส่วนกลางยอมปล่อยให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารจัดการตนเอง เชื่อว่าท้องถิ่นจะเข้มแข็ง เศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีกว่านี้ ความเหลื่อมล้ำ ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นก็จะแคบลง 

อย่างน้อย ๆ ความสำเร็จของ “บุรีรัมย์ โมเดล” ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ท้องถิ่นประสบความสำเร็จได้ หากส่วนกลางยอมปล่อยและกระจายอำนาจให้จัดการดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่

เครดิตภาพจาก บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด

ผู้เขียน ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

10 มาตรการเยียวยา … “อุ้ม” แล้ว “เท”

“เศรษฐกิจปรสิต”…โรคร้ายเรื้อรัง

Stagflation … ฝันร้ายเศรษฐกิจไทย

หยุด “หนี้ครัวเรือน” = หยุดวิกฤติชาติ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ