TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistนโยบายรถ EV ปลุกผี ... "ดีทรอยด์เอเชีย" .. ?

นโยบายรถ EV ปลุกผี … “ดีทรอยด์เอเชีย” .. ?

ย้อนไปเมื่อราว ๆ 40 ปีก่อน ด้วยอานิสงส์ “เงินเยนแข็งค่า” ทำให้อุตสาหกรรมในญี่ปุ่นไม่สามารถแบกค่าแรงงานที่แพงได้ ต้องย้ายฐานการลงทุนมาหาค่าแรงราคาถูกในอาเซียน ประเทศไทยคือหนึ่งในเป้าหมายนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ แทบจะทุกค่ายได้ย้ายฐานการผลิตทั้งหมดมาไทย

นอกจากแรงงานราคาถูก ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มีโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ดพร้อมระบบสาธารณูปโภค การย้ายฐานของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นทำให้รัฐบาลฝันหวานจะปั้นให้ไทยเป็น “ดีทรอยต์เอเชีย” เฉกเช่น ‘ดีทรอยต์’ เมืองศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของอเมริกาและของโลก

แต่ในห้วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาสถานการณ์เศรษฐกิจโลกต้องชะลอตัวเป็นระยะ ๆ เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง จีดีพีส่วนใหญ่ไม่เกิน 5% (มีเกิน 5% ไม่กี่ปี) ไทยส่งออกรถยนต์ได้น้อยลง และเริ่มเสียตลาดให้คู่แข่ง ตลาดในประเทศก็เริ่มอิ่มตัว

ยิ่งช่วงหลัง ๆ มีข่าวลือว่าค่ายรถญี่ปุ่นจะย้ายฐานไปลงทุนในอินโดนีเซียซึ่งตลาดใหญ่และเศรษฐกิจกำลังจะโต ส่วนค่ายรถอื่น ๆ ที่ตามมาทีหลังไม่ว่าค่ายดังจากอเมริกาต้องขายโรงงานให้กับค่ายรถจากจีน ส่วนค่ายอินเดียและยุโรป บางรายยกธงขาวยอมแพ้

บรรยากาศซบเซาทำให้ความฝันดีทรอยต์เอเชียที่ดูจะริบหรี่ลงได้ถูกปัดฝุ่นอีกครั้ง ในการประชุมค.ร.ม. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ โดยที่ประชุมมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอ

นั่นเท่ากับรัฐบาลกำลังจะปลุกผีดีทรอยต์เอเชียจากฐานผลิตรถแบบสันดาปภายในเดิม(รถใช้น้ำมัน)ที่กำลังถดถอย มาเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแทน แต่ต้องบอกว่าไม่ง่าย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างทั้งภายในและภายนอกเป็นตัวกำหนด

เนื่องจากการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ทุกคนต้องนับหนึ่งหมดไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แม้รายที่อยู่ก่อนแล้วก็ตาม เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเก่าประกอบด้วยชิ้นส่วนไม่น้อยกว่า 25,000 ชิ้น มีซัพพลายเชน(ผู้ผลิตชิ้นส่วน)จำนวนมาก คนละระบบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า ชิ้นส่วนน้อยกว่ารถแบบใช้น้ำมัน 50-60% ซัพพลายเชนก็น้อยกว่า รายเก่านอกจากไม่ได้เปรียบแล้วยังอาจจะเสียเปรียบ

มิหนำซ้ำล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปนำเข้าทั้งคัน มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565 โดยมีเงื่อนไขบริษัทรถยนต์จะต้องมีการลงนามเซ็น MOU เพื่อประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตามสัดส่วนที่รัฐกำหนด

ต้องจับตาดูว่านโยบายนี้จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้มีการลงทุนในไทยเพื่อจะฟื้นดีทรอยต์แห่งเอเชียหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ การนำเข้ารถยนต์ คนที่ได้เปรียบคือจีน ที่มีต้นทุนถูกกว่าคู่แข่ง แม้จะกำหนดเงื่อนไขตั้งโรงงานประกอบในไทยในอนาคต ก็ไม่แน่ว่าไทยจะแข่งกับจีนและอินโดนีเซียได้หรือไม่

ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่ชี้ว่าไทยไม่ได้เปรียบคู่แข่ง สะท้อนจากรายงานของ KKP Research ในหัวข้อ “เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนเป็น EV ทำไมไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ?” สรุปคร่าว ๆ ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งนโยบายลดภาษีอย่างเดียวจะไม่ได้ผลอีกต่อไป

แต่ต้องพัฒนานวัตกรรมของไทยเอง ที่ผ่านมาประเทศไทยยังพึ่งพาแต่นวัตกรรมจากญี่ปุ่นเป็นหลัก ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ไทยไม่สามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอีกต่อไปเนื่องจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยังปรับตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างช้ากว่าค่ายยุโรปและอเมริกามาก ทำให้ไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์ญี่ปุ่นเสียเปรียบคู่แข่ง

นอกจากนี้ จีนและอินโดนีเซียจะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกรถยนต์ ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ในตลาดโลกของไทยมีสัดส่วนลดลงจาก 1.7% เหลือ 1.3% ในขณะที่จีนเพิ่มขึ้นจาก 0.7% เป็น 1.5% โดยไทยโดนจีนแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศออสเตรเลีย และโดนอินโดนีเซียแย่งส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามและฟิลิปปินส์

ที่สำคัญไทยกำลังเผชิญปัญหา Economies of scale เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่เป็นประเทศพวงมาลัยขวา ซึ่งตลาดมีสัดส่วนแค่ 1 ใน 6 ของโลก 

ยิ่งเมื่อเจอกับปัญหาตลาดในประเทศหดตัวลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ลดลง และการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้คนน้อยลงทำให้ปริมาณการผลิต มีความสำคัญมากขึ้นมาก จะทำให้ไทยเสียเปรียบด้านต้นทุน ในขณะที่การเปลี่ยนมาผลิตพวงมาลัยซ้ายทำได้ยาก

อีกทั้งการที่ไทยมี FTA กับประเทศจีน ทำให้สามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนโดยไม่มีภาษี จึงมีแนวโน้มต้นทุนการผลิตต่อคันถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทย และไม่มีความจำเป็นที่ไทยต้องนำเข้าชิ้นส่วน เช่น แบตเตอรี่มาประกอบเอง เพราะไทยไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนจีน 

นอกจากจีนแล้วอินโดนีเซียเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเพราะเป็นแหล่ง Nickel ที่สำคัญของโลกมากถึง 30% ค่าแรงถูกกว่า และตลาดในประเทศที่ใหญ่กว่า จากประชากรกว่า 200 ล้านคน

เหนือสิ่งอื่นใดเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบต่อทั้งห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งบริษัทประกอบรถยนต์ แต่รวมถึงบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ KKP Research ประเมินว่าชิ้นส่วนที่จะหายไปในการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า คือ เครื่องยนต์ ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบเกียร์ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มกว่า 32.5% ของมูลค่าการผลิตรถยนต์สันดาปภายในเดิม

ในความเห็นส่วนตัว การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าคงไม่ใช่จุดจบของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย คงอีกนานกว่ารถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราจะเกิด แต่โครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน จะส่งผลต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจของการผลิต และความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

ฟันธงว่าโอกาสที่รถยนต์ไฟฟ้าจะมาปลุกผีดีทรอยต์แห่งเอเชียฟื้นคืนชีพนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ ๆ แต่ที่สำคัญกว่า คือ เราจะปรับตัวอย่างไรให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจาการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

อภินิหาร “Soft Power”

ถึงเวลาถอดรื้อ “บีโอไอ”

“ค่าเงินบาทอ่อน” … ดาบสองคม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ