TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“ค่าเงินบาทอ่อน” ... ดาบสองคม

“ค่าเงินบาทอ่อน” … ดาบสองคม

อย่างที่ทราบรายได้หลักของไทยนั้นมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ยุคแรก ๆ เริ่มส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ต่อมาเริ่มพัฒนาเป็นสินค้าเกษตรแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น น้ำตาล ยางพารา กระทั่งเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แต่สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยใช้แรงงานเป็นหลัก ไม่ใช่พวกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงหรือสินค้าประเภทนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง

เมื่อเป็นเช่นนี้ สินค้าส่งออกจากประเทศไทยจึงต้องสู้กับคู่แข่งด้วย “ราคา” ดังนั้น “ค่าเงินบาทอ่อน” จึงเป็นอาวุธลับสำคัญในการขายสินค้าสู้คู่แข่งมาตลอด อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่ “ค่าเงินบาทอ่อน” ย่อมส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะภาคธุรกิจ การค้า การเงิน ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลรับผิดชอบจะต้องกังวล เพราะจะส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบในวงกว้าง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าค่าเงินบาทอ่อนนั้นหมายถึงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ทำให้เงินบาทมีค่าลดลง เช่น จากเดิม 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 30 บาท แต่เมื่อค่าเงินบาทลดลง 5 บาท ก็จะทำให้จากเดิมที่ต้องใช้เงิน 30 บาทในการแลกเปลี่ยนกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ กลับต้องใช้เงินเพิ่มเป็น 35 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่าเดิม

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนนั้น มีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูง หรือ มีการเก็งกำไรกับค่าเงิน แต่ค่าเงินบาทอ่อนที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ เกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และจากสัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 

แต่ที่น่าสนใจตรงที่สถานการณ์ล่าสุดของค่าเงินบาทของไทยเวลานี้แตะระดับอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปีอยู่ที่ 34.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยค่าเงินบาทอ่อนลงเช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้น

อย่างที่เกริ่นตอนต้นว่าประเทศไทยนั้นพึ่งพาการส่งออกถึง 75% การส่งออกจึงเปรียบเสมือนหัวใจของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อค่าเงินลดลง ผู้ส่งออกก็จะได้กำไรมากขึ้น เช่น จากเดิมขายส่งออกสินค้าชิ้นละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ แลกเป็นเงินไทยได้ 3,000 บาท แต่หากค่าเงินบาทอยู่ที่ 35 บาท การขายสินค้า 1 ชิ้น จะได้เงินเพิ่มเป็น 3,500 บาท จึงถือเป็นช่วงเวลาทองสำหรับผู้ส่งออกที่จะเร่งทำกำไร

จึงไม่แปลกใจเวลาค่าเงินบาทเกิดผันผวนกลับมาแข็งค่า บรรดาองค์กรธุรกิจและผู้ส่งออกจึงพยายามเรียกร้องแบงก์ชาติและรัฐบาลให้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลง อ้างว่าค่าเงินบาทแข็งส่งผลสินค้าส่งออกของไทยราคาสูงกว่าคู่แข่งทำให้แข่งขันไม่ได้ 

แต่ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่เคยมีการยกระดับสินค้าส่งออกเป็นสินค้าคุณภาพและเป็นสินค้าประเภทไฮเทคโนโลยี หวังพึ่งแต่ค่าเงินบาทอ่อนสู้คู่แข่ง

“ธุรกิจท่องเที่ยว” ก็ต้องพึ่งเนื้อนาบุญ​ “ค่าเงินบาทอ่อน” เพราะเมื่อค่าเงินอ่อนตัวลง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการท่องเที่ยวในเมืองไทยถูกลง ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น สร้างโอกาสทางการค้าให้กับธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศ ทั้งสายการบิน การเดินทางรูปแบบต่าง ๆ ธุรกิจโรงแรม ที่พัก บังกะโล รวมถึงอาหารการกิน ของฝาก ของที่ระลึก ได้ใช้โอกาสทองนี้ทำกำไร

อย่างไรอย่างที่บอก “ค่าเงินบาทอ่อน” เหมือนเหรียญสองด้าน มีคุณอนันต์และโทษมหันต์ หากค่าเงินบาทอ่อนตัวเร็วเกินไปจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจหลาย ๆ ด้าน แต่ผู้ที่เสียประโยชน์แน่ ๆ คือ ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้าราคาเเพงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เครื่องจักร หรือปัจจัยการผลิตในสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีความจำเป็น

แต่ที่หนักที่สุดและส่งผลกระทบคนในวงกว้างมากที่สุด คือ เมื่อค่าเงินบาทอ่อน ทำให้ต้นทุนนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยมากต้องมีราคาแพงขึ้นด้วยเช่นกัน 

นั่นหมายความว่าจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าขนส่งแพงขึ้น ที่สำคัญ “ค่าครองชีพ”องประชาชนสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็ต้องใช้สินค้าแพงขึ้น 

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบไปของเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ทั่วประเทศ เพราะทั้ง ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว ว่ากันว่าตอนนี้ ราคาปุ๋ยแพงกว่าราคาข้าว จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนของชาวนาเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ น้ำมัน คือต้นทุนสำคัญของเกษตรกรไปแล้ว

ที่หนักที่สุด คือ ค่าเงินบาทอ่อนค่าในห้วงเวลาที่ ราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น เท่ากับว่าสินค้านำเข้าต้องเจอสองเด้ง

เมื่อเงินบาทอ่อนมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ ก็คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและแบงก์ชาติจะต้องบริหารจัดการด้วยความรอบคอบและชอบธรรมกับทุกฝ่าย อย่าลืมว่าความผันผวนของค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วหรือแข็งค่าเร็วเกินไป ย่อมมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียนที่น่าสนใจ

นโยบายรถ EV ปลุกผี … “ดีทรอยด์เอเชีย” .. ?

น้ำมัน-ทุนผูกขาด… ดันค่า”ครองชีพ”พุ่ง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ