TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist25 ปี "ต้มยำกุ้ง" ... คนไทยเรียนรู้อะไร

25 ปี “ต้มยำกุ้ง” … คนไทยเรียนรู้อะไร

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม 2540 หรือย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว หลาย ๆ คนคงไม่ลืมเหตุการณ์ที่คนไทยทั้งประเทศต้องช็อก เมื่อรัฐบาล “พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ” มี “นายทนง พิทยะ” เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” จากที่ก่อนหน้านั้น “เงินบาท” ของไทยจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่อยู่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นี่คือปฐมบทของ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เป็นจุดเริ่มต้นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยประสบมา สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติเป็นเพราะการก่อหนี้ของภาคธุรกิจเอกชนและสถาบันการเงินของไทยที่สนุกกับกู้เงินระยะสั้นสกุลต่างประเทศเอามาลงทุนระยะยาว 

ฟากสถาบันการเงินต่างพากันระดมกู้สกุลเงินต่างประเทศดอกเบี้ยถูก ๆ มาปล่อยดอกเบี้ยแพงกินส่วนต่าง ตอนนั้นภาคธุรกิจกู้เงินมาลงทุนกันแบบมักง่าย สนามกอล์ฟผุดราวดอกเห็ด คอนโดฯ เกลื่อนเมือง จนได้ฉายา “เครน ซิตี้” เนื่องจากมีรถเครนตอกเสาเข็มเต็มไปหมด เศรษฐีหลายคนกู้เงินมาเปิดธุรกิจให้ลูกบริหารทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ 

ทันทีที่ประเทศไทยส่อเค้าเกิดวิกฤติเมื่อรายได้จากการส่งออกน้อยลง เริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นในปี 2539 จีดีพี -2.8% ปี 2540 จีดีพี -7.8% ค่าเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนัก แบงก์ชาติเอาไม่อยู่จนต้องประกาศลอยตัวค่าเงิน ขณะที่เงินบาทอ่อนค่ากลายเป็นวิกฤติของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่มีการกู้เงินต่างประเทศเพื่อมาลงทุน ทำให้ภาระหนี้ของแต่ละบริษัทเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

ก่อนการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทอัตราคงที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังลอยตัวเงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ กระทั่ง 12 มกราคม 2541 เป็นวันที่เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 56.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายความว่าหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นสมมติหนี้พันล้านบาทเพิ่มเป็นกว่า 2 พันล้านบาท

ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ขอเข้าโครงการ “ไอเอ็มเอฟ” รับความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อพยุงเศรษฐกิจประเทศไม่ให้ล้มละลาย สถาบันการเงินเจ้าหนี้โดยเฉพาะบริษัทเงินทุน เมื่อลูกหนี้ที่เคยกู้เงินขยายการลงทุนมากมาย มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้คืน ปัญหาหนี้เสียก็ลุกลามจนต้องมีการปิดตัวของ 56 ไฟแนนซ์ 

ธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ในสถานะยากลำบาก เมื่อธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมากที่เป็นลูกหนี้กำลังจะล้มละลาย หนี้เสียหรือ “เอ็นพีแอล” ในระบบสถาบันการเงินสูงถึง 45% หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินและบริษัทจำนวนมากต้อง “ล้มละลาย” ส่งผลให้ “พนักงาน” ต้อง “ตกงาน” จำนวนมาก

ขณะที่หลายประเทศ ๆ ที่โดนหางเลขจากวิกฤติครั้งนี้ ทั้งเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ค่อยทยอยออกจากวิกฤติมาได้ มีเพียงประเทศไทยที่ยังติดกับดักหาทางออกไม่เจอ สะท้อนจากดัชนีเศรษฐกิจตลอด 25 ปี ก่อนเกิดวิกฤติแล้วอัตราเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 9% แต่หลังจากเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจเติบโตแบบต่ำติดดิน จีดีพีเฉลี่ยราว 3% กว่า ๆ มาตลอด

อย่างที่รู้ ๆ กันบทเรียนจากวิกฤติครั้งนั้น เป็นวิกฤติในภาคเอกชนที่ลงทุนเกินตัว โดยใช้แหล่งเงินผิดประเภท คือไปกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศ พอเราถูกบังคับให้ลดค่าเงิน ผู้กู้ก็ล้มระเนระนาด แต่ยังโชคดีที่วิกฤตินี้เกิดคนระดับบนของประเทศ เจ้าของธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านอาจจะได้รับผลกระทบจากธุรกิจปิดกิจการต้องตกงาน

โชคดีที่พนักงานหรือคนงานที่ตกงาน ได้รับความเดือดร้อนไม่นาน เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมเข้มแข็งมีความเอื้ออารีกันจึงกลายเป็นพื้นที่รองรับความเดือดร้อนของลูกหลานที่ตกงานจากเมืองหลวง ทำให้เราไม่มีวิกฤติสังคม

ในทางตรงข้ามการที่เงินบาทลดค่าเงินลงมาก กลับส่งผลให้สินค้าเกษตรก็ราคาพุ่งขึ้น การส่งออกดีขึ้นมาก ยุคนั้นถือเป็นยุคทองของภาคเกษตรเลยทีเดียว รวมถึงสินค้าส่งออกอื่น ๆ ก็พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก มีการลงทุนมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มมากขึ้น คนงานเริ่มกลับมาทำงาน จึงช่วยลดความเดือดร้อนได้

อีกอย่างต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยก่อนหน้านั้นมีวินัยการคลังมาตลอด จึงมีระดับหนี้สาธารณะต่ำ รัฐบาลจึงมีทางเลือกในการนำนโยบายที่จะใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างมาก เฉพาะอย่างยิ่งนโยบายประชานิยม ปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้เราผ่านวิกฤติมาได้โดยค่อนข้างง่าย 

แต่การที่ประเทศไทยมีข้อดีบางอย่างจนอยู่รอดมาได้ แต่ก็มีข้อเสียทำให้ไม่มีแรงกดดันให้ต้องเร่งปฏิรูปใด ๆ ทั้งที่ประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากมาย เอกชนไม่มีการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สังเกตได้จากประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤติต้มยำกุ้งที่แทบไม่เพิ่มขึ้นเลย ทำให้ต่อมาอุตสาหกรรมส่งออกเราก็เลยเริ่มมีปัญหา ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ 

สิ่งที่ทำก็ดูเหมือนจะเป็นแค่สร้างเสถียรภาพความมั่นคงให้กับสถาบันการเงินอย่างธนาคาร เพราะรัฐบาลมีความเชื่อว่าธนาคารคือเส้นเลือดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ ธนาคารจึงได้อภิสิทธิ์มากมาย เช่น สามารถขายประกันภัย ประกันชีวิต และอื่น ๆ ได้ จากที่เป็นแค่ “รีเทลแบงก์กิ้ง” ก็ยกระดับเป็น “ยูนิเวอร์ซอล แบงก์กิ้ง” คือทำทุกอย่างได้ครอบจักรวาล

คนไทยเองแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรเช่นเดียวกัน หลังจากที่วิกฤติผ่านไป ทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม การใช้ชีวิตก็กลับมาฟุ่มเฟือยมีพฤติกรรม “ช้อป ง่าย จ่าย แหลก แดกด่วน” ทำให้ “หนี้ครัวเรือน” พุ่งสูงกว่า 91% มูลค่าราว 14 ล้านล้านบาท ภาครัฐที่เคยมีวินัยการคลังตอนหลังก็หละหลวม รัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันก็เอาไปถมในนโยบายประชานิยม ลดแลกแจกแถม จนทะลุกรอบเพดานเดิม 60% ของจีดีพี จนต้องขยายกรอบเพดานใหม่เป็น 70% เพื่อจะกู้เพิ่มขึ้น

เหนือสิ่งใด มหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งเรียนรู้ก็ไม่ได้สรุปวิกฤติดังกล่าวไว้เป็นหลักสูตรให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง กลายเป็น 25 ปีที่สูญเปล่าจริง ๆ 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ