TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistรำลึก "26 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง" ภาระบนบ่าคนรุ่นใหม่

รำลึก “26 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง” ภาระบนบ่าคนรุ่นใหม่

ระหว่างที่เขียนต้นฉบับ (วันอาทิตย์ ที่ 2 กรกฎาคม 2566) ตรงกับวันสำคัญประวัตศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่มิอาจลืมเลือนได้ นั่นคือ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” นอกจากจะสร้างผลสะเทือนกับเศรษฐกิจไทยพังพินาศสันตะโรแล้ว ยังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและอีกหลายประเทศในเอเชีย จนได้รับการขนานนามว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ตามต้นตอของประเทศที่ทำให้เกิดวิกฤติ และต้มยำกุ้งเป็นชื่อเมนูอาหารไทยที่คนทั้งโลกต่างพากันรู้จัก

‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ หรือ วิกฤตการณ์การเงิน 2540 เป็นวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ของไทยซึ่งถึงจุดระเบิด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 หรือเมื่อ 26 ปีมาแล้ว วันนั้นประเทศไทยประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ถือเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย 

เหนือสิ่งใด วิกฤติครั้งนั้นส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายอย่างมาก มีผู้คนตกงานจำนวนมาก ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลง 

ปฐมบทของวิกฤติเริ่มต้นจากประเทศไทยต้องประสบการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ในช่วงก่อนวิกฤติตัวเลขขาดดุลสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศ “หดตัว” ลงอย่างรุนแรง ในปี 2539 การส่งออกขยายตัวเพียงแค่ 1.9% เท่านั้น จากที่เคยขยายตัวสูงถึง 24.82% ในปีก่อนหน้า 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญปัญหาหนี้ต่างประเทศ อันเป็นผลพวงจากการเปิดเสรีทางการเงิน พึ่งพาทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้นที่มีถึง 65% ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ย้อนไปในช่วงปี 2532-2537 ซึ่งประเทศไทยได้เปิดเสรีทางการเงิน ทำให้สามารถพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศได้สะดวก โดยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากค่าเงินกำหนดตายตัวไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้กู้ยืมสามารถยืมเงินและคืนเงินกู้ในสกุลเงินตราต่างประเทศได้ในอัตราดังกล่าว ผลที่ตามมาเกิดการขยายตัวของระบบการเงินของประเทศที่ส่งผลต่อการเกิด “หนี้ด้อยคุณภาพ” หรือ NPL ในสถาบันการเงินและการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศเพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในเมืองไทยพุ่งสูงอย่างน่าเป็นห่วง

ปรากฏว่าปลายปี 2540 หนี้ต่างประเทศของไทยปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซ้ำร้ายทุนสำรองทางการของไทยอยู่ระดับต่ำมาก ​ที่สำคัญประเทศไทยยังลงทุนเกินตัว จนเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากการเข้าไปเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก นับเป็นปัญหาหนี้เสียที่สูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ที่ 52.3% ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์

การดำเนินงานของสถาบันการเงินยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และสถาบันการเงินรวมกันถึง 58 แห่ง จากปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ​ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายของรัฐก็ไม่มีประสิทธิภาพเช่นกัน สะท้อนจากการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี และยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้ระบบการเงินไม่มีเสถียรภาพ ประกอบกับกับการไม่มีมาตรฐานกำกับสถาบันการเงินที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ปัญหาที่สะสมมานานกลายเป็นดินพอกหางหมู ทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นจุดอ่อนจึงถือโอกาสเข้า “โจมตีค่าเงินบาท” ซึ่งเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่และนักลงทุนสถาบันที่ระดมทุนมาเก็งกำไรค่าเงินหรือโจมตีค่าเงิน โดยจัดตั้งเป็นกองทุนที่เรียกว่า “ควันตัม ฟันด์” บริหารโดย “จอร์จ โซรอส” ที่แสวงหากำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนกับการเก็งกำไรค่าเงินบาท สำหรับชื่อ จอร์จ โซรอส เป็นชื่อที่คนไทยจดจำไม่มีวันลืม

ในการโจมตีค่าเงินบาททำให้มีการเทขายเงินบาทหนีไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นจำนวนมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงนำเงินทุนสำรองทางการถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของเงินสำรองทั้งหมดมาใช้เพื่อ “ปกป้องค่าเงินบาท” จนทำให้เงินสำรองทางการเหลืออยู่เพียง 2,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปลายปี 2539 ที่มีถึง 38,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การกระทำของผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคนั้นถูกมองว่าเสียค่าโง่ บริหารงานผิดพลาด 

จนในที่สุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และถือเป็นวันเริ่มต้นแห่งการเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้นำมาสู่วิกฤติที่สร้าง “แผลเป็น” ครั้งใหญ่ให้กับเศรษฐกิจไทย ธุรกิจไทย และประเทศไทยจนยากที่จะลืมได้

เหนือสิ่งอื่นใดวิกฤติต้มยำกุ้ง นอกจากจะมีภาระหนี้สินจากการกู้ยืมจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ “IMF” ที่ได้ใช้คืนไปแล้ว ยังมีภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ต้องเข้าไปค้ำประกันและจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการไปตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้คือ “มรดก” ซึ่งเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำซาก และคือ “ภาระ” ที่ “คนรุ่นใหม่” ต้องแบกรับในสิ่งที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ไปอีกนาน อย่างอาจปฏิเสธได้ 

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

จุดเสื่อมตลาดหุ้น

“เหล้าเสรี” ด่านแรกทลายทุนผูกขาด

“ส่วยรถบรรทุก”… เหลือบที่ไม่เคยตาย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ