TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“ส่วยรถบรรทุก”... เหลือบที่ไม่เคยตาย

“ส่วยรถบรรทุก”… เหลือบที่ไม่เคยตาย

นาทีนี้คงไม่มีเรื่องอะไรที่จะร้อนแรงเท่ากับเรื่อง “ส่วยรถบรรทุก” ความจริงเรื่องนี้มีมานานและมีข่าวเป็นระยะ ๆ แต่ทุกรั้งที่ตกเป็นข่าวเรื่องก็เงียบหายไป เมื่อข่าวเงียบหายเรื่องนี้ก็จะโผล่มาใหม่ แต่คราวนี้ดูว่าน่าจะเป็นหนังเรื่องยาวเพราะผู้ประกอบการขนส่งที่ทำมาหากินสุจริตส่วนหนึ่งหมดความอดทน ยิ่งถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล คงจะมีอะไรดี ๆ ให้ได้เห็นกันบ้าง

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อสหพันธ์ขนส่งแห่งประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการรถบรรทุก และสมาคมขนส่งอีก 10 สมาคม ได้เข้าร้องเรียนต่อ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จากพรรคก้าวไกล อันที่จริงก่อนเลือกตั้งก็ได้ร้องเรียนพรรคการเมืองหลายพรรคแต่เงียบหายไปกับสายลม

แต่เที่ยวนี้ “วิโรจน์” ซุ่มเงียบเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง กระทั่งเลือกตั้งเสร็จก็นำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ อย่างที่บอกตำนานเรื่องส่วยมีมานานหลายสิบปีตั้งแต่มีการใช้รถขนส่งขนาดใหญ่ขนสินค้า แต่ส่วยสมัยก่อนคนขับรถบรรทุกจะใช้วิธโยนเงินข้างทาง แล้วเจ้าหน้าที่ที่ดูแลก็จะวิ่งมาหยิบใส่กระเป๋าไม่ซับซ้อน สมัยนั้นคงไม่แพงเท่าไหร่

แต่จุดเริ่มในการใช้สติ๊กเกอร์จริง ๆ ราวปี 39 ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นยุคฟองสบู่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ธุรกิจขนส่งสินค้าเติบโตขยายกิจการมากขึ้นเริ่มมีการเรียกเก็บส่วยหนักข้อขึ้น ต้นคิดในการนำสติ๊กเกอร์มาใช้ครั้งแรกโดยบริษัทขนส่งแห่งหนึ่งอยู่แถว ๆ ภาคเหนือ ที่คิดรูปแบบทำเป็น “สติ๊กเกอร์ ติดหน้ารถ” อันเป็นสัญญาลักษณ์ให้เจ้าหน้าที่รู้ว่ารถคันนี้จ่ายส่วนแล้ว ซึ่งก็ได้ผลดี

ต่อมาบริษัทดังกล่าวก็เอาสติ๊กเกอร์ที่เป็นสัญญาลักษณ์ของตัวเองไปขายให้กับบริษัทอื่น ๆ โดยรับปากว่ามีการเคลียพื้นที่ผ่านสะดวกทุกด่าน สนนราคาตอนนั้น ราวพันกว่าบาทต่อหนึ่งแผ่น แต่เป็นค่าส่วย 60% เจ้าของสติ๊กเกอร์ได้ 40% ว่ากันว่าบริษัทนั้นมีกำไรจากการจำหน่ายสติ๊กเกอร์ปีหนึ่งหลายร้อยล้านบาท มากกว่ารายได้จากธุรกิจขนส่งที่เป็นธุรกิจหลักเสียอีก

ยุคหลัง ๆ แต่ละบริษัทก็ทำสติ๊กเกอร์เป็นของตัวเองขึ้นมา เจ้าหน้าที่บางคน นักการเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และผู้มีอิทธิพลต่างก็ทำสติ๊กเกอร์ออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ

ล่าสุดที่ทางสมาพันธ์ขนส่ง เปิดเผยว่ามีถึง 50 รูปแบบพร้อมแจงรายละเอียดว่ามีรูปแบบอะไรและเป็นของใคร ว่ากันว่าที่ข้อมูลเปิดเผยนั้นเป็นรายใหญ่ หากรวมรายย่อย รายเล็กรายน้อยเข้าไปด้วย น่าจะ 100 กว่าแบบ

วันก่อนได้คุยกับ “อภิชาติ  ไพรรุ่งเรือง” แกนนำที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ บอกว่าการเรียกเก็บมีหลายระดับราคาตั้งแต่ 3,500-5,000-8,000 บาทต่อเดือน มีแบบพรีเมี่ยม 20,000-25,000 บาทต่อเดือน พิจารณาจากระยะทางและสามารถใส่น้ำหนักเกินไม่จำกัดผ่านทุกด่านฉลุย เช่น รถบรรทุก 22 ล้อ บรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 50.5 ตัน ก็จะบรรทุกได้มาก 2 เท่าคือ 100 ตัน

จากการประเมิน รถบรรทุกที่ต้องจ่ายส่วยสติ๊กเกอร์ มีมากถึง 2 ใน 3 ของรถบรรทุกทั้งหมดกว่า 1.5 ล้านคัน เม็ดเงินที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกต้องจ่ายแต่ละปีเกือบ 2 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 20% ของตัวเลขที่มีการทุจริตรวมในแต่ละปีซึ่งเป็นข้อมูลจากข้อมูลที่ป.ป.ช.

ส่วนรูปแบบการเก็บส่วยจะมีเอกชนเป็นตัวกลางหรือโบรกเกอร์ทำหน้าที่เก็บเงินจากผู้ประกอบการไปเคลียร์กับตำรวจ ซึ่งสติ๊กเกอร์จะมีการเปลี่ยนทุกเดือนเพื่อเป็นการอัปเดตว่าสติ๊กเกอร์นี้จ่ายส่วยแล้วหรือไม่

ที่สำคัญหน่วยงานที่ดูแลจับกุมลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายตั้งแต่ตำรวจทางหลวง ตำรวจนครบาล รวมถึงตำรวจภูธร โดยมีกรมทางหลวงดูแลชั่งน้ำหนัก ยังมีหน่วยงานองค์กรท้องถิ่นร่วมด้วย แต่ปรากฏว่ามีขบวนการของข้าราชการไทยบางส่วนเกิดความโลภ เรียกรับส่วย สินบน อีกทั้งรีดไถตามถนน ด่านลอย ป้อมยามทางแยก ด่านชั่งน้ำหนักพวกนี้ทำกันเป็นขบวนการ

ในทางกลับกันถามว่าทำไมเจ้าของรถบรรทุกต้องบรรทุกน้ำหนักเกินทั้ง ๆ ที่อันตราย และทำให้ทั้งถนน ทั้งรถพังเร็ว แถมสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนของประเทศเพราะถนนพังเร็วเวลาซ่อมก็ใช้งบประมาณที่เป็นภาษีประชาชน รถที่พังเร็วก็เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

แต่ที่ต้องทำเพราะผู้ประกอบการเหล่านี้มองแค่ผลกำไรในช่วงสั้น ๆ และคิดว่าถ้าไม่ทำคนอื่นก็ทำ ซึ่งเวลาไปประมูลงาน หรือไปจ้างงานก็ตัดราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่งได้ อีกทั้งยังได้รับแรงกดดันจากผู้จ้างงานหรือเจ้าของสินค้าที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ได้กดราคาค่าขนส่ง จึงแก้ปัญหาด้วยการบรรทุกเกินและยอมจ่ายส่วนระหว่างทาง

ทางแก้เรื่องนี้ลำพังสมาพันธ์ผู้ประกอบการขนส่ง พรรคก้าวไกล คงไม่สำเร็จทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน ตั้งแต่องค์กรที่ภาคธุรกิจที่ใช้บริการขนส่งสังกัด เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องทำให้โปร่งใส ต้องมีมาตรการหรือรณรงค์ให้ภาคธุรกิจทำตามระเบียบกฎหมาย ตอนนี้มีหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เช่น เอสซีจี กลุ่มโรงงานน้ำตาล ที่มีนโยบายไม่บรรทุกสินค้าเกินพิกัด เป็นเรื่องที่น่าชมเชย

รวมถึงรัฐต้องแก้กฎหมายหลาย ๆ ฉบับที่เก่าไม่ทันสมัยบางฉบับอายุเกือบ 70 ปี ไม่เคยมีการแก้ไข ต้องปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องสถานการณ์ รัฐบาลต้องดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ต้องมารีดส่วย จะช่วยลดภาระนี้ได้ รวมทั้งภาคประชาชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาใช้โซเชียช่วยเปิดโปงขบวนการเหล่านี้

อย่าลืมว่า ส่วยคือต้นทุนทางธุรกิจ ส่งผลกระทบถึงต้นทุนของผู้ประกอบการและต้นทุนประเทศ เพราะหากต้นทุนสินค้าสูงขึ้นการส่งออกย่อมเสียเปรียบคู่แข่ง อีกทั้งยังทำลายความเป็น “ฮับขนส่ง” หรือศูนย์กลางขนส่งแห่งอาเซียนของไทยลงอย่างสิ้นเชิง

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

วิสัยทัศน์ “เศรษฐา ทวีสิน” จากธุรกิจ สู่การเมือง

“นโยบายดี” ไม่พอ…. แต่ต้องทำได้จริง

X-RAY เศรษฐกิจไทย…โตช้า เหลื่อมล้ำ ขี้โรค 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ