TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“นโยบายดี” ไม่พอ.... แต่ต้องทำได้จริง

“นโยบายดี” ไม่พอ…. แต่ต้องทำได้จริง

บรรยากาศหลังการเลือกตั้ง คงหนีไม่พ้นต้องพูดเรื่องการจัดตั้งนโยบายรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ เป็นนโยบายหลักที่แต่ละพรรคใช้เป็นธงนำในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ตอนนี้เป็นที่รับรู้แล้วว่า พรรคก้าวไกล มาอันดับ 1 และ เพื่อไทยมาอันดับ 2 ทั้งสองพรรคก็ประกาศจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันกับพรรคขนาดเล็กอีก 8 พรรครวมเสียงทั้งหมด 313 เสียง

แม้ว่า ก้าวไกลกับเพื่อไทยจะมีสีที่เป็นสัญญาลักษณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกันที่สุด คือ สีส้มกับสีแดงและนิยามตัวเองว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยก็ตาม แต่หากดูนโยบายในการหาเสียงมีทั้งส่วนที่ใกล้เคียง และต่างกันมากจนบางนโยบายก็ขัดแย้งกัน เช่น พรรคก้าวไกล จะเน้นเรื่องรัฐสวัสดิการ รื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น การแก้ปัญหาค่าไฟแพงเพราะโครงสร้างราคาไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจเพราะมีการผูกขาด  หรือการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณใหม่ เป็นแบบฐานศูนย์ เป็นต้น

แต่เพื่อไทยค่อนข้างจะเน้นที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาปากท้องด้วยนโยบายประชานิยม เช่น แจกเงินดิจิทัลคนละหมื่นบาททุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แม้บางนโยบายที่เหมือนกัน แต่ก็แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น นโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท แต่จะมีผลปี 2570 แต่ก้าวไกลเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท หลังจากนั้นขึ้นทุกปี โดยอัตโนมัติ

ตรงนี้แหละ ที่เป็นความยากลำบากในการจัดทำนโยบาย ของรัฐบาลผสม แม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกันก็ตาม ต้องชิงไหวชิงพริบเพื่อได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะนี่คือ คะแนนนิยม

อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาครั้งนี้ มีความแตกต่างจากที่ผ่านมา แทนที่จะแบ่งโควต้ากระทรวงแล้ว แต่ละพรรคก็จะแบ่งตามโควต้าส.ส. แต่ละภาคหรือมุ้ง แต่คราวนี้จะทำ MOU (Memorandum of Understanding) ซึ่งเป็น “บันทึกความเข้าใจร่วมกัน” โดยระบุประเด็นพื้นฐานที่ทุกฝ่ายที่ลงนามเข้าใจตรงกันและเห็นพ้องต้องกัน ประเด็นไหนไม่อยู่ใน MOU ไม่ได้แปลว่าแต่ละฝ่ายจะไม่ทำ หรือไปผลักดันเองไม่ได้

สำหรับ ร่าง MOU ของพรรคก้าวไกลที่จะนำเสนอพรรคร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เช่น ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ แก้ปัญหาค่าครองชีพ (ค่าไฟแพง) จัดทำงบประมาณใหม่เป็นแบบฐานศูนย์ เพิ่มสวัสดิการเด็กและผู้สูงอายุและ ยกเลิกการผูกขาด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นโยบายที่นำเสนอแม้จะสวยหรูแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องปฏิบัติได้ ไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมของประเทศ หรือพูดอีกอย่างก่อนที่จะดำเนินนโยบายใด ๆ รัฐบาลใหม่ จะต้องมองภาพรวมของประเทศให้ชัดก่อนว่า อยากจะนำพาประเทศไปทางไหน

ตัวอย่างง่าย ๆ ปัจจุบัน ภาคเกษตรของไทย โดยเฉพาะอาชีพทำไร่ทำนาที่มีคนอยู่อาชีพนี้เกือบ 30 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรเป็นคนสูงอายุ ทำให้รายได้จากภาคเกษตรน้อยมากแค่ 7-8% ของ GDP เท่านั้น รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะปล่อยให้ภาคเกษตรเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วใส่เงินอุดหนุนในรูปแบบประกันราคาหรือจำนำแต่ละปีนับแสนล้านต่อไปอีกหรือไม่ ที่ผ่านมาต้องถมงบประมาณไม่รู้เท่าไหร่แต่เกษตรกรยังยากจน

รัฐบาลต้องชัดเจนว่า หากยังมีนโยบายว่าภาคเกษตรอยู่ต่อจะทำอย่างไรที่จะให้เกษตรกรมีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องมาอุดหนุนปลายทางเหมือนทุกวันนี้ หรือจะยกระดับนำเอา “ดาต้า” และ “เทคโนโลยี” มาช่วยให้เป็นแบบ “สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง” เหมือนในต่างประเทศ เป็นต้น

แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องดูว่ามีอุตสาหกรรมใดบ้าง ที่จะทิ้งหรือจะอุ้มต่อไปทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เมื่อไม่สนับแล้ว จะปล่อยทิ้งกลางทาง รัฐบาลจะต้องหาทางว่าจะช่วยเหลืออย่างไรให้อยู่ได้ นี่คือ ภาพใหญ่ที่รัฐบาลต้องมองให้ออกว่าทิศทางของประเทศควรไปทางไหน

ขณะเดียวกัน นโยบายหลายอย่างต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรมแยกแยะให้ชัดเจน เช่น การผูกขาดซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป เช่น ผูกขาดจากความสามารถหรือเทคโนโลยีที่สูงกว่าคู่แข่ง ควรจะสนับสนุนส่งเสริมให้บริษัทเหล่านี้ไปแข่งขันในต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ

แต่สิ่งที่ต้องจัดระเบียบคือธุรกิจที่ผูกขาดโดยสัมปทานรัฐ หรือ ผูกขาดจากนโยบายรัฐ ตรงนี้ต้องจัดระเบียบใหม่ ต้องสร้างกติกาใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมหรือต้องปล่อยให้เกิดการแข่งขันแบบเสรี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันและลดความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจ

นโยบายค่าแรงก็เช่นกัน ด้านหนึ่งหากเพิ่มค่าครองชีพแต่อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ ในระยะเฉพาะหน้าจะต้องหามาตรการช่วยลดภาระผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME เช่นลดค่าไฟฟ้า หรือใช้มาตรการภาษีมาช่วย มิเช่นนั้นจะมีผู้ประกอบการไปต่อไม่ได้ต้องปิดกิจการจำนวนมาก ในระยะยาวการแก้ปัญหาค่าแรงต้องแก้ด้วยการสร้างงานเพิ่มขึ้นมาก ๆ ให้มากกว่าจำนวนแรงงานที่ว่างงานค่าแรงก็จะปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ

อันที่จริงยังมีตัวอย่างอีกมากมายในบ้านนี้เมืองนี้ที่ต้องชำระสะสาง แต่ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและชอบธรรม และต้องแยกแยะไม่ใช่เหมารวม มิเช่นนั้นประเทศจะได้ไม่คุ้มเสีย

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

X-RAY เศรษฐกิจไทย…โตช้า เหลื่อมล้ำ ขี้โรค 

เศรษฐกิจไทยโตด้วย “หนี้” ?

ถอดรหัส ทำไมแบงก์รวยอู้ฟู้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ