TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistถอดรหัส ทำไมแบงก์รวยอู้ฟู้

ถอดรหัส ทำไมแบงก์รวยอู้ฟู้

ช่วงนี้จะเป็นฤดูการประชุมผู้ถือหุ้นและรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศยังเหงา ๆ ซึม ๆ มีสองธุรกิจดูจะสร้างผลกำไรจากการประกอบการเป็นกอบเป็นกำอย่างต่อเนื่องไม่มีแผ่ว ธุรกิจแรก คือ ธุรกิจพลังงาน เป็นกลุ่มทุนใหม่ที่มาแรงเพราะอะไรก็อย่างที่รู้ ๆ กัน

อีกกลุ่มคือ กลุ่มธุรกิจธนาคาร ตั้งแต่มีธนาคารมาแทบไม่มีปีไหนพบว่าธนาคารโดยรวมมีผลประกอบการขาดทุน แต่ที่เจ๊งจนต้องล้มหายตายจากก็เพราะการทุจริต คอรัปชั่นภายในองค์กรล้วน ๆ ปีนี้ก็เช่นกันมีรายงานว่า 10 ธนาคารพาณิชย์ไทยมีผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 กำไรสุทธิรวม 60,280.24 ล้านบาท เพิ่ม 11.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ธนาคารที่ทำกำไรได้สูงสุดคือ SCB มีกำไรสุทธิ 10,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเติบโตขึ้นถึง 17% 

ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ KBANK ที่มีกำไรสุทธิ 10,741 ล้านบาท แต่กำไรปรับลดลงจากช่วงไตรมาสแรกของปีก่อน 470 ล้านบาท หรือ 4.19% ส่วนธนาคารกรุงเทพหรือ BBL มีกำไรสุทธิ 10,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 42.3% จาก 7,118 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ย้อนกลับมาดูผลประกอบการปี 2565 ทั้งปี ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรกว่า 2 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นปีแรกที่กำไรทะลุ 2 แสนล้านโตขึ้นเกือบ 10% ขณะที่จีดีพีของประเทศปี 2565 โตเพียง 2-3%เท่านั้น

ภาพผลประกอบการของธนาคารช่างขัดแย้งกับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ยังโงหัวไม่ขึ้น คาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้ทั้งปีจะอยู่ที่ไม่เกิน 3%

ปัจจัยที่ทำให้ธนาคารมีผลประกอบการดีมีกำไรมากมาย ก็มีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลัก ๆ มีรายได้มาจากดอกเบี้ยซึ่งเติบโตตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่าง ๆ ที่ตอนหลังปรับตัวดีขึ้น  

หากจะดูไส้ในว่าทำไมธนาคารถึงกำไรมหาศาล ต้องมาดูที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (ที่แบงก์กู้จากชาวบ้านที่ไปฝากเงิน) กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปล่อยกู้ให้ประชาชนและภาคธุรกิจ ปรากฏว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารจ่ายให้มากที่สุดอยู่ที่ 1.9% เท่านั้น แต่ดอกเบี้ยที่คิดจากผู้ที่มากู้ MRR สูงสุดอยู่ที่ 9% จะเห็นว่ามีส่วนต่างกว้างแค่ไหน

แต่ธนาคารก็จะบอกว่าคิดอย่างนี้ไม่ถูก เพราะต้องหักต้นทุนที่เป็นค่าบริหารจัดการ ค่าความเสี่ยต่าง ๆ ออกที่เรียกว่า ‘ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ‘ จะเหลือราว ๆ 2.8% เท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไร แต่ถ้าเราเอาไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งของเรา อย่างมาเลเซียส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 2.1% สิงคโปร์ยิ่งน้อยกว่าแค่ 1.7% เกาหลีใต้ 1.6% จะเห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิน้อยกว่าเราทั้งนั้น

นั่นแปลว่าต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ที่เป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกมีต้นทุนต่ำกว่าไทยแล้วเราจะเอาอะไรไปสู้

ตรงนี้เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามกับธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติมาตลอดว่าทำไมไม่กำหนดเพดานไว้บ้าง อีกทั้งไม่มีพรรคการเมืองไหนหาเสียงว่าจะแก้กติกาให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินฝากและเงินกู้ หรือ ‘ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ’ แคบลง ไม่ถ่างกว้างเหมือนทุกวันนี้

แต่หลักใหญ่ใจความที่ผลักดันธุรกิจธนาคารเติบโตอย่างแข็งแกร่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะปรัชญาการทำธุรกิจของธนาคารเปลี่ยนไปจาก ‘รีเทลแบงก์กิ้ง’ มาเป็น ‘ยูนิเวอร์ซอล แบงก์กิ้ง’ คือเดิมมีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อมาเป็นสามารถทำธุรกรรมได้ทุกอย่างแบบครอบจักวาล ซึ่งธุรกิจเดิมก็ยังอยู่ แต่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆออกมาสร้างรายได้ไม่จำกัด ทุกวันนี้แบงก์ขายประกันชีวิต ประกันรถยนต์ มีผลิตภัณฑ์ อื่น ๆ มากมาย

ทั้งนี้เป็นเพราะแบงก์ชาติในสมัยนั้น ได้สรุปบทเรียนเมื่อคราวเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่สร้างผลสะเทือนกับสถาบันการเงิน หลายแห่งต้องปิดกิจการ ธนาคารต้องเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ ธุรกิจได้รับผลกระทบต้องล้มระเนนระนาด เพราะธนาคารคือเส้นเลือดสำคัญของธุรกิจ บทเรียนที่ได้จากวิกฤติคราวนั้น คือ ธนาคารจะล้มไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการเปิดให้ทำธุรกรรมกว้างขวางขึ้น

อีกหนึ่งบทเรียนในครั้งนั้นทำให้ทุกวันนี้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยกู้ เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสียตามมา แต่ผลที่ธนาคารเข้มงวด ทำให้ภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยไปไม่รอด โดยเฉพาะธุรกิจ SME และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการจำนวนมาก

มาตรการยกการ์ดสูงของธนาคารนั้นสร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจไม่น้อย สะท้อนจากตัวเลข ผู้ประกอบการ ของไทยเพียงแค่ไตรมาสแรกต้องปิดกิจการ 3,268 ราย ทุนจดทะเบียน 29,892 ล้านบาทส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมา ผู้ประกอบการร้านอาหาร ธุรกิจหลัก ๆ ที่เลิกกิจการเป็นกลุ่ม SME ขนาดเล็กทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ยังไม่รวมที่ไม่ยื่นงบติดต่อกันไม่เกิน 3 ปีอีกจำนวนหนึ่ง ธุรกิจเหล่านี้เข้าไม่ถึงแหล่งทุนขอกู้ไม่ผ่าน

ตรงข้ามค่าตอบแทนคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) กลับไม่เข้มงวด ตัวเลขสูงสุดถึงเดือนละเกือบครึ่งล้านต่อคน แถมมีผลประโยชน์ตามมาอีกมากมาย เบ็ดเสร็จรายได้แต่ละคนตกเดือนละเกือบล้าน ประชุมอย่างมากแค่เดือนละครั้งเท่านั้น 

กลายเป็นว่าธนาคารควรทำหน้าที่ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ปรากฏว่าไม่ยอมออกจากเซฟโซน เพราะต้องการเซฟผลกำไรนั่นเอง

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ

ค่าไฟแพง กำลังจะเป็น “ภาระเศรษฐกิจ”

แจก 10,000 บาทผ่าน กระเป๋าเงินดิจิทัล เป็น “ยาแรง” ที่ต้องระวัง

ประชานิยมเข้มข้น = การคลังอ่อนแอ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ