TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเศรษฐกิจไทยโตด้วย "หนี้" ?

เศรษฐกิจไทยโตด้วย “หนี้” ?

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่สถานการณ์เศรษฐกิจก็ยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จะเห็นได้จากเครื่องยนต์ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในวันนี้ทุกตัวเริ่มแผ่วและพร้อมจะดับ แม้แต่ความหวังที่ฝากไว้กับการท่องเที่ยวที่เป็นพระรองจากการส่งออกในการหารายได้เข้าประเทศ ก็ทำท่าว่าจะวางใจไม่ได้ เริ่มจะออกอาการแผ่ว ๆ ตั้งแต่ต้นปี 

ข้อมูลล่าสุดไตรมาสแรกปี 2566 นักท่องเที่ยวจากจีนที่เป็นลูกค้าหลักไม่มาตามนัด หายไปจากที่คาดการณ์ไว้ราว ๆ 30% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากคนจีนเดินทางออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศแค่ 10% เท่านั้น ส่วนเครื่องยนต์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ ก็ต้องรอลุ้นกันอีกทีหลังเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่อาจจะลากยาวถึงไตรมาส 3

ตอนนี้ เหลือแต่เครื่องยนต์ “การบริโภค” เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งสุดท้ายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า แต่ก็เสมือน “ดาบสองคม” ซึ่งหากดูไส้ในจริง ๆ การบริโภคที่เดินหน้าได้นั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นจากประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพี ที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำและกระจุกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม 

ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการเติบโตของ GDP ไทยไม่ถึง 5% มานับตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่ในปี 2565 การเติบโตของ GDP ไทยยังต่ำที่สุดอยู่ที่ 2.6% เท่านั้น เมื่อเทียบกับ 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย การบริโภคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกวันนี้ จึงเกิดจาก “การกู้หนี้” มาจับจ่ายใช้สอย

ต้องบอกว่าประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูงมาเป็นเวลานาน ไม่สามารถผลักดันให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงอันเนื่องจากไม่สามารถผลักดันประเทศไปสู่การบริการที่มีค่าตอบแทนสูง หรือการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มได้ ทำให้รายได้ของคนไทยยังคงต่ำเตี้ยกว่าที่ควรจะเป็น สวนทางค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกปีเป็นอย่างนี้มานานแล้ว

จึงไม่ต้องแปลกใจที่หนี้ครัวเรือนไทยปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หรือเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDPในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง หนี้ของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

โดยข้อมูลล่าสุดหรือในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 15,092,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 14,576,844 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเมื่อสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 4/65 อยู่ที่ 86.9% ชะลอตัวจาก 90.2% ในไตรมาส 4/64

การที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคธุรกิจมีกลยุทธ์ มีโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม จูงใจลูกค้าซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ซึ่งตรงจริตของคนไทย “ช้อป ง่าย จ่ายแหลก แดกด่วน” จึงทำให้คนไทยมีหนี้เร็ว ระยะเวลานาน และมีหนี้มากขึ้น ไม่ว่าหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้านที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์มีอัตราเติบโตสูงสุดของสินเชื่ออุปโภคบริโภค รวมถึงนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา เน้นประชานิยมเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนเสพติดการบริโภค จนต้องกู้หนี้มาเพื่อใช้จ่าย

ทั้งนี้คนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 7 หมื่นบาทต่อคน มาเป็น 1.5 แสนบาทต่อคนในปี 2560 ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ หนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เข้าไปด้วย น่าเศร้าใจตรงที่ มากกว่า 50% ของผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีมีอายุน้อย และมีสัดส่วนผู้กู้อายุต่ำกว่า 25 ปีนับวันยิ่งจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

อีกทั้งมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้กู้สูงอายุในกลุ่มผู้กู้เดิม มีหลายบัญชี สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีหนี้เร็วขึ้นและนานขึ้น และมีโอกาสเสี่ยงเป็นหนี้เสียสูงขึ้นด้วย ข้อมูลเครดิตบูโรไตรมาส 3 ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่ปริมาณหนี้ไม่ลดแม้เข้าสู่วัยใกล้เกษียณ โดยกลุ่มลูกหนี้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีมูลค่าหนี้เสียค่อนข้างสูง เฉลี่ยมีหนี้เสียสูงถึง 77,942 ต่อบัญชี

ต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันคือ “เศรษฐกิจมีการเติบโต แต่รายได้ของประชาชนไม่เพิ่มขึ้น” โดยเฉพาะรายได้ประชากรในภาคเกษตรเมื่อรายได้ไม่เพิ่ม ขณะที่มีความต้องการบริโภค จึงต้องกู้ ต้องก่อหนี้ ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มก็ไม่ลดลง เพราะประชาชนก่อหนี้เพื่อการบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ

จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “เศรษฐกิจที่เติบโตด้วยหนี้” ของชาวบ้านที่เรียกว่า “หนี้ครัวเรือน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ถดถอยสัญญาณหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมาได้

นอกจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นน่ากังวลแล้ว ขณะเดียวกันสถานการณ์ “หนี้สาธารณะ” ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่าในช่วงก่อนการระบาดของโควิด หนี้โดยรวมทั่วไปของรัฐบาลไทยอยู่ที่ราว 40% ต้น ๆ เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ หนี้โดยรวมทั่วไปของรัฐบาลไทยก็พุ่งขึ้นแตะระดับ 49.5% ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 58.4% ในปี 2564  และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 61.5% ในปี 2565 ในช่วงโควิด-19 ระบาด รัฐบาลต้องออกกฎหมายขอขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% เพื่อเปิดทางให้กู้เพิ่มได้ 

ฉะนั้นอย่ามัวหลงดีใจเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ซึ่งเป็นภาพลวงตาเพราะเป็นการฟื้นตัวจาก “ภาระหนี้” ที่เพิ่มขึ้นทั้ง “หนี้ครัวเรือน” และ “หนี้สาธารณะ” ล้วน ๆ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

ถอดรหัส ทำไมแบงก์รวยอู้ฟู้

ค่าไฟแพง กำลังจะเป็น “ภาระเศรษฐกิจ”

แจก 10,000 บาทผ่าน กระเป๋าเงินดิจิทัล เป็น “ยาแรง” ที่ต้องระวัง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ