TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistX-Ray เศรษฐกิจไทย...โตช้า เหลื่อมล้ำ ขี้โรค 

X-Ray เศรษฐกิจไทย…โตช้า เหลื่อมล้ำ ขี้โรค 

เห็นพรรคการเมืองหาเสียง เน้นประชานิยมไปกระตุ้นการบริโภค ด้วยการแจกเงินชาวบ้านไปจับจ่ายใช้สอยจนกลายเป็นการเสพติดไปแล้วนั้น อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะเป็นโรคอ้วนและอาจจะเป็น ”เบาหวาน” 

ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่นโยบายประชานิยมแพร่ในบ้านเรา และนับวันยิ่งหนักขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านต้องคอยแบมือขอการอุปถัมภ์จากรัฐ จนกลายเป็นความเคยชิน จึงไม่แปลกใจที่พรรคการเมืองต้องงัดประชานิยมมาแข่งกันเพื่อเรียกคะแนนนิยม 

พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เสนอนโยบาย ก็รู้ว่านโยบายที่นำเสนอกับชาวบ้านนั้นได้ผลระยะสั้น ๆ แต่กลับสร้างปัญหาระยะยาว เช่น สร้างหนี้ครัวเรือนมากขึ้น เพราะนโยบายประชานิยมเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ๆ อย่าง โครงการคนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกัน หรือที่เห็นชัด ๆ เช่นโครงการรถคันแรกในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชาวบ้านไม่มีเงินก็ต้องก่อหนี้

นโยบายทั้งหลายที่เอาใจประชาชนรัฐบาล ก็ล้วงเอาเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน เมื่องบประมาณไม่พอก็ขยายเพดานหนี้อย่าง ในช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดก็ขยายเพดานหนี้สาธารระเดิมตั้งเพดานไม่เกิน 60% ก็ขยายเป็น 70% เพื่อจะเปิดช่องให้ก่อหนี้เพิ่มกว้างขึ้น

การขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยวิธีกระตุ้นกันแบบไม่บันยะบันยัง เศรษฐกิจไทยจึงโตแบบฟ่าม ๆ ขยายตัวเชิงปริมาณไม่ใช่คุณภาพ ไม่ยั่งยืน ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาก ๆ GDP อยู่ระดับ 3% กว่า ๆ เพราะไทยยังมี “บุญเก่า” ไม่ว่าจะเป็น ภูมิประเทศตั้งในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีทรัพยากรโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว คนที่มีความสามารถหลากหลาย  ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจึงพอกล้อมแกล้มไปได้ แต่นับวันสิ่งเหล่านี้เริ่มเสื่อมลงบุญเก่าก็จะหมดไปเรื่อย ๆ

สะท้อนจากพัฒนาการในอดีตตั้งแต่ก่อนยุคต้มยำกุ้ง ที่ประเทศไทยเปลี่ยนจากสังคมเกษตรมาเป็นยุคอุตสาหกรรม มีโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นแม่เหล็กดึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นพาเหรดเข้ามาลงทุนทำให้ GDP ของไทย ในยุคไม่ต่ำกว่า 7% มีบางปีที่ GDP ที่แตะเลขสองหลัก

หลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง GDP ดิ่งวูบ ติดลบ 7% กว่าในปี 2541 แต่พอมาในยุคประชานิยมเข้ามาระบาดในปี 2544 GDP ก็ขยับอยู่ราว 5 % โดยเฉลี่ยแต่หลังจากนั้นเกิดกีฬาสีการเมือง GDP ก็โตอย่างกระท่อนกระแท่นอยู่ระหว่าง 3-3.5 เท่านั้นมาจนทุกวันนี้ แต่ที่ประคองตัวอยู่ได้เพราะ ”โด๊ปยาประชานิยม” กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะ ๆ

ขณะที่ GDP. ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่กลับมีปัญหาการกระจายรายได้สังคมไทยเป็นสังคม ”รวยกระจุก จนกระจาย” เม็ดเงินที่เป็นรายได้ของประเทศน้อยอยู่แล้วกลับไปโป่งอยู่ในกระเป๋าของ “ทุนขนาดใหญ่” ไม่กี่ตระกูล สังคมไทยวันนี้ จึงเกิดการ ”เหลื่อมล้ำสูงมาก” นับวันก็จะยิ่งถ่างออกไปเรื่อยๆจนติดอันดับต้น ๆ ของโลก 

ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำระหว่าง ”คนจน” กับ ”คนรวย” ในบ้านเราเป็นความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทั้งการศึกษา และทรัพย์สิน ที่ดินทำกินคนรวยที่สุดของไทยถือครองทรัพย์สินมากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และสัดส่วนที่ถือครองทรัพย์สินที่ถือครองโดยคน 1% เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2008-2018

ส่วนด้านการศึกษานั้น ยิ่งจะเห็นชัดเจนระหว่างลูกคนรวยกับคนจน ความเหลื่อมล้ำการศึกษาได้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยิ่งทิ้งห่างมากขึ้น ดังนั้น เวลาที่ประเทศเกิดวิกฤติ “คนจน” มักจะได้รับผลกระทบมากกว่า “รวย” อย่างกรณีล่าสุดวิกฤติโควิด จะเห็นว่าคนจนได้รับผลกระทบหนักกว่าคนรวยมาก หากปล่อยไว้ นานไปจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ระเบิดใส่สังคมไทยในอนาคต 

นอกจากนี้ ปัญหาด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มพังจนเห็นได้ชัด เช่น ฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มส่งผลกระทบธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการหารายได้เข้าประเทศ และยังกระทบกับสุขภาพของประชาชนที่จะกลายเป็น สังคมคนขี้โรครัฐจะต้องสูญเสีย งบประมาณในการดูแลมากขึ้น

ที่สำคัญ หากยังไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไทยจะถูก เวียดนาม อินโดนีเซีย แซงหน้าซึ่งทั้งสองประเทศ มีจุดเด่นคือมีคนอยู่ในวัยทำงานมากกว่าไทย อายุเฉลี่ยเวียดนามและอินโดนีเซียคือประมาณ 30 ปี ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 40 กว่า ประชากรเขาโตอัตราเร็วกว่าเรา 3-4 เท่า แปลว่าตลาดของเขายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

ฉะนั้น เราต้องเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ ไทยอย่างเร่งด่วน ให้มีประสิทธิภาพมีคุณภาพมากขึ้น ใช้คนน้อยลงแต่ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น เพิ่มทักษะให้แรงงานใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบล้างผลาญให้น้อยลง แต่ให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น เน้นท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ

ใช้งบประมาณประเทศแบบประสิทธิภาพ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและตรงความต้องการ กฎกติกาที่เป็นอุปสรรคต้องรื้อและปฏิรูปใหม่ทั้งหมด ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพัฒนาคนและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต 

นี่คือโจทก์ข้อใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ 

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เศรษฐกิจไทยโตด้วย “หนี้” ?

ถอดรหัส ทำไมแบงก์รวยอู้ฟู้

ค่าไฟแพง กำลังจะเป็น “ภาระเศรษฐกิจ”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ