TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจุดเสื่อมตลาดหุ้น

จุดเสื่อมตลาดหุ้น

ในรอบปีสองปีมานี้มีเรื่องอื้อฉาวคาววงการตลาดทุนไทยมากมายหลายเรื่อง ที่พบเห็นบ่อย ๆ ก็คงเป็นเรื่องของการปั่นหุ้น ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนตกเป็นข่าวโด่งดังก็มีกรณีปล้นโบรกเกอร์เจ้งกันระเนระนาด งานนั้นเรียกว่าปล้นชุดใหญ่ แต่ไม่กี่วันมานี้กลับมีเรื่องใหญ่กว่าโด่งดังกว่า คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK 

เรื่องนี้เกิดเป็นคดีใหญ่โตขึ้นมาเพราะ STARK ได้สร้างภาพบริษัทให้ดูดีมีอนาคตหวังหลอกให้นักลงทุนทั้งนักลงทุนรายใหญ่ รายย่อย นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ หลงเชื่อซึ่งได้ผลนักลงทุนก็พากันหลงเชื่อจริง ๆ กว่าความจริงถูกเปิดเผยออกมาก็สายเสียแล้ว ที่สำคัญรอบนี้เล่นกันหนักเสียหายเป็นหมื่นล้านบาท ตัวละครที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท และผู้ตรวจสอบบัญชี เรียกว่าทุกองคาพยพล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมิอาจปฏิเสธได้

ในกรณีของ STARK น่าจะเป็นกรณีที่สร้างความเสียหายในตลาดหุ้นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา สร้างภาพตบตาด้วยวิธีการ ตกแต่งบัญชีทำงบการเงินให้ดูสวยหรู สร้างยอดขายปลอม ปั้นลูกหนี้ปลอม  แสร้งทำธุรกรรมว่ามีการซื้อขายมีการส่งมอบสินค้าจริง ๆ ทั้งที่ไม่ได้มีการซื้อขายแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังสร้างผลกำไรปลอมติดต่อกันหลายปี ว่ากันว่างานนี้นักลงทุนรายย่อยนับหมื่นชีวิตถูกต้มจนเปื่อย 

อันที่จริงจุดเริ่มต้นของ STARK นั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นการทำธุระกรรมปกติธรรมดาที่คนอื่นเขาทำกัน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ ในตลาดหุ้นบ้านเราก็ทำกันบ่อยๆ ถือว่าไม่ผิดจริยธรรมหรือผิดกฎหมายแต่อย่างใด นั่นคือ ใช้วิธีการในการเข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านวิธีที่เรียกว่า ‘การจดทะเบียนทางอ้อม’ หรือ Backdoor Listing บางตนก็บอกว่าเข้าประตูหลัง โดยได้เข้าไปทำ Backdoor Listing บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัดหรือ”SMM” 

ในห้วงเวลาที่เข้าไปนั้นธุรกิจของ SMM อยู่ในช่วงขาลง เพราะรายได้หลักมาจากการผลิตและจำหน่ายหนังสือประเภทการ์ตูน นวนิยายจีนประเภทกำลังภายใน และพ็อกเกตบุ๊กอีกเล็กน้อย แม้จะมีรายได้จากธุรกิจอื่นบ้าง แต่ไม่ใช่รายได้หลัก

ต่อมา STARK เริ่มกระบวนการตุ๋นนักลงทุน เมื่อมีความพยายามสร้างสะตอรี่การเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการเทกโอเวอร์ ส่งผลดันราคาหุ้นขึ้นไป จนติดอยู่ใน SET100 นั่นเท่ากับยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันเข้าไปลงทุน

ในที่สุดก็บาดเจ็บกันทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้ ธนาคารเจ้าหนี้ และกองทุนรวมที่เข้าไปลงทุนโดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ไปถึงผู้ถือหน่วยกองทุนรวมที่เข้าไปลงทุนใน STARK จากมูลค่าหุ้นที่เคยสูงสุดถึง 60,000 ล้านบาท ล่าสุดเหลือไม่ถึง 2,000 ล้านบาทรวมทั้งผู้ถือหุ้นกู้ 5 ชุดที่เป็นรายย่อยอีกหลายพันราย วงเงิน 9,198 ล้านบาท ที่เอาเงินออมมาลงทุนหวังดอกเบี้ย 3-4% เพราะเชื่อถือบริษัทเครดิตเรตติ้ง ก็เสี่ยงกับที่จะไม่ได้รับเงินคืน รวมถึงความเสียหายของแบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้อีกกว่า 8,000 ล้านบาท

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากรณีของ STARK นั้นคือเกมแห่งผลประโยชน์ ของผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารล้วน ๆ โดยอาศัยวิธีการและเทคนิคทางการบัญชี ทำให้นักลงทุนหลงเชื่อ จึงเกิดคำถามว่า กระบวนการต่าง ๆ ในตลาดทุนไทย ทำไมถึงมีจุดอ่อนหรือมีช่องโหว่กันมากขนาดนี้ แม้แต่บริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) ถือเป็นสถาบันการเงินที่นำเงินของประชาชนไปลงทุนก็ยังถูกหลอก นั่นหมายความว่ากระบวนการตรวจสอบหละหลวมหรือไม่

ทีสำคัญ STARK เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มี พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำกับดูแล แถมยังมีบริษัทตรวจสอบระดับ บิ๊กโฟร์ เป็นผู้สอบบัญชียังปล่อยให้เกิดเรื่องจนได้ทำไมปล่อยให้ผู้บริหารของ STARK ทำการทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่กรรมการตรวจสอบ หรือผู้สอบบัญชี ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใดนับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างมาก

เรื่องนี้ไม่ได้ทำกันแค่วันสองวันแต่ทำต่อเนื่องมาเป็นปี ตั้งแต่ก่อนปี 2564 จนถึงปี 2565 ได้มีสร้างยอดขายปลอม ตกแต่งบัญชี คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 6,025 ล้านบาท

นอกจากนี้มีการทำคำสั่งซื้อปลอม และรายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้ามูลค่า 10,451 ล้านบาท เรียกว่ามีการตกแต่งบัญชีตั้งแต่ก่อนปี 2564 ให้บริษัทมีกำไรหลักพันล้านบาท แต่จากการปรับแก้งบการเงินล่าสุด ช่วงปี 2564-2565 พบว่า บริษัทขาดทุนรวมกว่า 12,640 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,403 ล้านบาท

น่าแปลกใจเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ที่มีกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล มีกรรมการตรวจสอบแต่ทำไมจึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯต้องทำหน้าที่กำกับดูแลการปฎิบัติงานของกลไกทุกส่วนให้เป็นไปตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดไม่ปล่อยปละละเลย

เหนือสิ่งใด ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากมาตรการลงโทษในตลาดทุนค่อนข้างเบา เป็นแค่ความผิดทางแพ่ง อย่างดีก็เสียค่าปรับทำให้คนไม่เกรงกลัวแต่ไม่ว่าคดีจะใหญ่จะเล็ก ไม่มีใครรับโทษทางอาญา ถึงตรงนี้ผู้มีส่วนรับผิดชอบจะต้องกลับมาพิจาณาเรื่องบทลงโทษกันเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความยำเกรง

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“เหล้าเสรี” ด่านแรกทลายทุนผูกขาด

“ส่วยรถบรรทุก”… เหลือบที่ไม่เคยตาย

วิสัยทัศน์ “เศรษฐา ทวีสิน” จากธุรกิจ สู่การเมือง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ