TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"เหล้าเสรี" ด่านแรกทลายทุนผูกขาด

“เหล้าเสรี” ด่านแรกทลายทุนผูกขาด

พลันที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึงสุราท้องถิ่นที่ชื่อว่า “สังเวียน” ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ของช่อง 3 ทำให้เกิดกระแสความสนใจและส่งผลให้จำหน่ายหมดเกลี้ยงทั้งโรงงาน สะท้อนว่าสุราท้องถิ่นเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของคนจำนวนไม่น้อย ที่ผ่านมาต้องถูกผลักให้อยู่ในมุมมืด ไม่มีโอกาสโผล่หน้าให้สาธารณชนรับรู้ ปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ “สังเวียน” ที่ขายถล่มทลาย แต่กลายเป็นกระแสให้สุราชุมชนอื่น ๆ ขายดิบขายดีตามไปด้วย 

อันที่จริงสุราชุมชนไทยนั้นมีเป็นร้อย ๆ แบรนด์ แต่ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างก็มี สุราชุมชน สังเวียน สุพรรณบุรี, Kilo Spirits กระบี่, อีสานรัม หนองคาย, เหล้าชัยภูมิ ชัยภูมิ, ออนซอน สกลนคร, ตำนาน ตราด, แก่งเสือเต้น และฉาน แพร่, โคโยตี้ลำก้าฃ, หมาใจดำ และไร่ยอดดอย เชียงใหม่, จิน ธารา พุทธมณฑล, ม้าแก้วมังกร อุตรดิตถ์, Saku เขาใหญ่, ป๊าดโธ สาโทร้อยเอ็ด, ซอดแจ้ง อุบลราชธานี, Rocka สระบุรี, คีรีขาล พะเยา, นาสาร สุราษฎร์ธานี, ลุงนิด เชียงราย, Malai Cha Thai สุรินทร์ เต่าเล่า อยุธยา อื่น ๆ อีกมากมาย 

ใครได้ติดตามจะเห็นว่าแต่ละแบรนด์ต่างมี “สตอรี่” เรื่องราวที่น่าสนใจ บางแบรนด์โยงไปถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ขณะที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตก็เป็นผลผลิตจากพืชเกษตรในพื้นที่ เช่น ข้าว ผลไม้ต่าง ๆ พืช ผลไม้ ที่มีแป้งหรือน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ สามารถนำไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย องุ่น มัน มะพร้าว ตาลโตนด และว่านหางจระเข้ เป็นต้น 

ฉะนั้น หากมองในอีกมุมสุราชุมชน หรือสุราขาว ไม่ใช่แค่ของมึนเมา แต่ธุรกิจนี้ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า เพราะรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต และยังเกิดการจ้างงานให้คนพื้นที่มีงานทำอีกด้วย เป็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยการเพิ่มมูลค่าผ่านการนำสินค้าเกษตรไปใช้ผลิตสุรา ทำให้เกษตรกรต้นน้ำมีรายได้สูงขึ้น

แม้ว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยมีแนวโน้มเติบโตค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้ผู้ผลิตไทยทยอยออกไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในตลาดส่งออกหลักแทน ทำให้การส่งออกจากแหล่งผลิตในไทยมีความสำคัญน้อยลง ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุว่า ปี 2563 มีโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย 80 แห่ง คิดเป็น 19% ของโรงงานผลิตเครื่องดื่มทั้งหมด ซึ่ง 49% ของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโรงงานขนาดใหญ่ เน้นผลิตสุรา (แอลกอฮอล์ 28 ดีกรี) และเบียร์ โดย 51% ของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโรงงานขนาดกลาง-เล็ก ผลิตสุราขาว สุราพื้นบ้านและไวน์ 

สำหรับส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย (ข้อมูลปี 2563) เบียร์ มูลค่า 260,000 ล้านบาท สุรา (มูลค่า 180,000 ล้านบาท) จะเห็นว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นตลาดใหญ่มีมูลค่าตลาดสูง แต่อยู่ในมือกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม ถ้าดูจากข้อมูลตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดในไทยพบว่าหลัก ๆ แล้วมีแค่ 2 ยักษ์ใหญ่ที่กินตลาดนี้ไปเกือบหมด ผู้ผลิตรายย่อยมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก 

หากมีการเปิดกว้างให้เสรีมากขึ้น อย่างน้อย ๆ จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากมีความคึกคัก เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประกอบกับประเทศไทยเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามา ยิ่งจะเป็นโอกาสให้ตลาดสุราชุมชนเปิดกว้างมากขึ้น นักท่องเที่ยวมักนิยมดื่มเหล้าท้องถิ่นและซื้อเป็นของฝาก เหมือนเวลาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศก็มักจะนิยมดื่มเหล้าท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ จึงทำให้เหล้าเตกีลาของแม็กซิโก ว๊อดก้ารัสเซีย เหมาไถของจีน เหล้าสาเกญี่ปุ่น มีชื่อเสียงระดับโลก หรือกรณีเวียดนาม ลาวก็มีสุราท้องถิ่นจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว สมมติว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทย 20 ล้านคนบริโภคคนละขวดโดยเฉลี่ยก็จะมีรายได้คืนสู่ท้องถิ่นมหาศาล รัฐเองก็จะมีรายได้จากภาษีด้วย

ไม่ใช่แค่รายได้จากสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น สุราเสรียังช่วยให้แต่ละท้องถิ่นดึงเอกลักษณ์ของตัวเองออกมา สามารถสร้างเรื่องราวเพื่อเปิดประตูให้เราไปเรียนรู้และทำความรู้จักท้องถิ่นเหล่านี้ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวตัวอย่างเช่น จ.แพร่ จะไม่ใช่เพียง “เมืองรอง” ที่รอคอยนักท่องเที่ยว แต่จะกลายเป็น “เมืองหลวงสุราก้าวหน้า” จากความรุ่มรวยของสุราท้องถิ่น และไม่ใช่แค่จังหวัดแพร่ ภูมิปัญญา และความสร้างสรรค์ของท้องถิ่นยังมีแบบนี้อีกทั่วประเทศ 

เหนือสิ่งอื่นใด ยังกระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อย ตัวอย่างในกรณีของไทยกับญี่ปุ่นราวที่มีมูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่า ๆ กันราว 400,000 ล้านบาท/ปี ประเทศญี่ปุ่นมีผู้ประกอบการมากกว่า 20,000 ราย ในขณะที่ไทยแบ่งผลประโยชน์กันในผู้ประกอบการเพียง 7 รายใหญ่เท่านั้น 

จะเห็นว่าการผูกขาดทางอำนาจของกลุ่มทุนในประเทศนี้ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดไม่ให้ธุรกิจกิจรากหญ้าได้เติบโต ถ้าเราสามารถกระจายผลประโยชน์จากมูลค่าทางเศรษฐกิจเหล่านี้ไปสู่รายย่อยเพียงแค่ 10% นั่นหมายถึงเม็ดเงินกว่า 40,000 ล้านบาทในแต่ละปีที่จะไปเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตและมั่นคงได้

สุราเสรีจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ถูกปลดปล่อย แต่นี่คือสัญลักษณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างธุรกิจที่จะเอาชนะกลุ่มทุนผูกขาดได้ 

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“ส่วยรถบรรทุก”… เหลือบที่ไม่เคยตาย

วิสัยทัศน์ “เศรษฐา ทวีสิน” จากธุรกิจ สู่การเมือง

“นโยบายดี” ไม่พอ…. แต่ต้องทำได้จริง

X-RAY เศรษฐกิจไทย…โตช้า เหลื่อมล้ำ ขี้โรค 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ