TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistระลึก 25 ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

ระลึก 25 ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

ครบรอบ 25 ปีวิกฤติต้มยำกุ้ง วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ผ่านไปอย่างเงียบ ๆ สื่อแทบจะไม่เสนอข่าวสาร วาระครบรอบวิกฤติเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์เป็นพิเศษเหมือนหลายปีก่อนหน้านี้ เดาว่าเพราะวิกฤติโควิดบวกวิกฤติสงครามยูเครนที่แตกลูก กลายเป็นวิกฤติพลังงาน วิกฤติเงินเฟ้อ ฯลฯ กลายเป็นวิกฤติลูกผสมที่เผชิญกันอยู่เวลานี้ ทำเอามึนกันไปถ้วนหน้า ตั้งแต่รัฐบาลลงมาถึงชาวบ้าน เพราะไม่รู้ว่าจะรับมือกับวิกฤติด้วยกระบวนท่าไหนดี ไหนต้องรับมือกับโควิดเวอร์ชันล่าสุด BA.4 กับ BA.5 ที่หมอว่าหลบภูมิเก่ง ไหนต้องกังวลกับ “ ค่าครองชีพ” หลังเงินเฟ้อทำนิวไฮสูงสุดในรอบ 14 ปี

ในช่วง 2 ทศวรรษเศษที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญวิกฤติใหญ่ทางเศรษฐกิจมาแล้ว 3 ครั้ง เริ่มจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ต่อด้วยวิกฤติซับไพร์ม หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 และล่าสุด วิกฤติโควิด 2563 

วิกฤติทั้ง 3 ครั้งมีลักษณะแตกต่างกัน วิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นวิกฤติการเงินแม้เป็นระดับภูมิภาค แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างลึกซึ้ง ส่วนวิกฤติซับไพร์มที่เกิดจากการปั่นตราสาร ที่แปลงจากพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แค่เจอผลทางอ้อมจาก ภาคส่งออกที่หดตัวอย่างฉับพลันเท่านั้น  

ส่วนวิกฤติโควิด สาเหตุมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19  ไม่ได้เกิดจากวัฎจักรเศรษฐกิจ แม้วิฤติครั้งล่าสุด โครงสร้างเศรษฐกิจเสียหายไม่มากนัก แต่ไวรัสโควิด-19 คร่าชีวิตคนไทยไปแล้ว 30,664 คน (ณ 1 .. 65) หากให้เปรียบเทียบว่าวิกฤติครั้งไหนรุนแรงที่สุดระหว่างวิกฤติทั้ง 3 ครั้ง ในมุมผลต่อเศรษฐกิจ ผมยกให้วิกฤติต้มยำกุ้งเป็นที่สุด

เมื่อแบงก์ชาติประกาศลอยตัวค่าเงิน ตอนเช้ามืดของวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 หลังเพลี่ยงพล้ำในสงครามเงินตราเพื่อปกป้องค่าเงินบาทแก่กองทุนในสังกัด จอร์ชโซรอส เจ้าของสมญาพ่อมดการเงิน สำรองระหว่างประเทศของเราเหลือเพียง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยประมาณ แม้พอเหลือติดบัญชี แต่ไม่มากพอจะเป็นหลักประกันให้ประเทศต่าง ๆ ค้าขายหรือเข้ามาลงทุนในไทยได้โดยสนิทใจว่าส่งของไปแล้วจะได้เงิน  

รัฐบาลชวลิต ริเริ่มคุยกับญี่ปุ่นก่อนขอความช่วยเหลือจาก ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) หรือเข้าโปรแกรมก่อนรัฐบาลชวนสองรับไม้มาสานต่อ ได้เงินกู้จากไอเอ็มเอฟรวมทั้งมิตร 8 ประเทศ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย และธนาคารโลก (ยกเว้นสหรัฐฯ) มา 17,2000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศไทยเจอวิกฤติต้มยำกุ้งได้อย่างไร? สรุปสั้น ๆ สาเหตุมาจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภาพรวมที่มุ่งโตอย่างเดียว การดำเนินนโยบายการเงินที่ขัดกัน ด้านหนึ่งเปิดเสรีการเงินแต่อัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกควบคุมด้วยระบบตะกร้าเงินเกือบจะคงที่ซึ่งเอื้อต่อการหาประโยชน์ของนักค้าเงิน       

ภาพใหญ่… ก่อนวิกฤติต้นยำกุ้งไทย เศรษฐกิจไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาต่อเนื่องในปี 2539 ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 8% ต่อจีดีพี ส่งออกติดลบ ดุลเงินสดขาดดุล หนี้ต่างประเทศราว 60% เป็นของเอกชน และเป็นหนี้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี สถานะดังกล่าวไม่ต่างจากบริษัทที่ผลประกอบการติดลบแถมมีภาระหนี้สูง และเป็นจุดอ่อนที่กองทุนของโซรอสเห็นช่องเข้ามาโจมตีค่าเงินเพราะมั่นใจว่า ในท้ายที่สุดประเทศไทยต้องลอยตัวค่าเงินซึ่งจะสร้างกำไรมหาศาลให้กับกองทุนเหล่านั้น

ส่วนภาคเอกชน เพลินกับการกู้เงินนอกมาลงทุนจนเกินตัว หรือกู้เงินนอกมาเก็งกำไรในตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าหุ้นอสังหาฯ ฯลฯ เป็นภาพมายาไม่มีพื้นฐานรองรับหรือที่เรียกกันว่า เศรษฐกิจฟองสบู่

ฟองสบู่แตกทันทีที่แบงก์ชาติประกาศลอยตัวค่าเงิน ค่าเงินบาทอ่อนลงทันทีราว 20-30% (เงินบาทอ่อนค่าสุดที่ 56.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 12 .. 2541) เพราะหนี้ที่กู้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ตามค่าเงินที่อ่อนค่าลง ธุรกิจจำนวนมากหงายหลังตึงพร้อมกัน และไม่สามารถลุกกลับขึ้นมาได้อีกเลย   

โดยเฉพาะทุนแบงก์ที่ล้มละเนระนาด มีแบงก์ 8 แห่งไม่ถูกยุบรวม ก็ถูกยุบ ภูมิทัศน์กลุ่มทุนไทยเปลี่ยนบทบาทของกลุ่มทุนธนาคารที่เคยโดดเด่นมานานเริ่มอับแสงลดลงจนเกิดตำนาน “เจ้าสัวเยสเธอร์เดย์” ไฟแนนซ์ 56 แห่งถูกยุบทิ้งหายไปจากสาระบบการเงินไทยตลอดกาล เจ้าของกิจการนับพันนับหมื่นรายต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เช่นกรณี ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ อดีตผู้บริหารโบรกเกอร์ที่ผันตัวมายืนขาย แซนด์วิชข้างถนนจนเป็นตำนานคนสู้ชีวิตมาจนบัดนี้  

วิกฤติต้มยำกุ้งทำให้เศรษฐกิจไทยเหมือนตกลงไปในเหวลึก ปี 2540 เศรษฐกิจติดลบ 1.8% ปี 2541 ที่ถูกระบุว่าเป็น ปีเผาจริง เศรษฐกิจติดลบ 10.5% โดยเฉพาะไตรมาสสองติดลบถึง 12.5% ซึ่งเป็นสถิติติดลบสูงสุดมาจนถึงวันนี้ (ปี 2563 เศรษฐกิจติดลบ 6.1% โดยไตรมาสสองติดลบ 12.2% ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับจากเกิดวิกฤติโควิด) และเศรษฐกิจใช้เวลาเยียวยาอยู่ 5 ปี จึงกลับมาเป็นปกติ

ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า วิกฤติต้มยำกุ้งทำให้กิจการปิดกี่แห่ง คนตกงานจำนวนเท่าไหร่ แต่ที่แน่ ๆ คือ คนทำธุรกิจไฟแนนซ์ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสื่อ ถือเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงระดับต้น ๆ ในสายตาของแบงก์ ความแตกต่างชัดเจนระหว่างวิกฤติต้มยำกุ้ง กับ วิกฤติครั้งหลัง ๆ คือ รัฐบาลเวลานั้นไม่มีมาตรการเยียวยาประชาชนเหมือนตอนนี้   

ตอนวิกฤติซันไพร์ม ปี 2552 ที่จีดีพีติดลบ 2.5% รัฐบาลอภิสิทธิ์แจกคนละ 2,000 บาท สำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคมและมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ส่วนวิกฤติโควิดรัฐบาลประยุทธ์แจกหลายครั้ง ผ่านโครงการต่างเช่นโครงการเราชนะ แจกคนละ 5,000 บาท 3 เดือน เพิ่มกำลังซื้อผ่านมาตรการคนละครึ่งทำมาแล้ว 4 ครั้ง ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  เป็นต้น  

แต่วิกฤติต้มยำกุ้งไม่ได้มีด้านร้ายอย่างเดียว หากยังมีด้านดีด้วย ผลพวงจากวิกฤติครั้งนั้น นำไปสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมการเงิน ทำให้แบงก์เข้มแข็งขึ้น ยืนยันได้จากสถานการณ์ปัจจุบันที่แบงก์ไทยแข็งแกร่งพอเป็นกลไกหลักในการพาลูกหนี้รับมือกับ “พายุหนี้” ในช่วงวิกฤติโควิดตอนนี้ เหมือนที่แบงก์ชาติแถลงบ่อย ๆ ว่าฐานะแบงก์พาณิชย์ไทยมีความมั่นคงโดยอ้างถึง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง สูงอยู่ในอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค มั่นคงพอจะกลไกหลักช่วยดูแลลูกหนี้ในยามวิกฤติ 

นอกจากนี้ทางด้านการคลัง มีการระมัดระวังการก่อหนี้ เฝ้าระวังสุขภาพเศรษฐกิจของประเทศ และรักษาวินัยการคลังมากขึ้น เช่นการตั้ง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ขึ้นมามอนิเตอร์เศรษฐกิจภาพรวมร่วมกับแบงก์ชาติ ตั้งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ( สบน.) มาบริหารจัดการหนี้สาธารณะ การที่รัฐบาลประยุทธ์มีพื้นที่การคลังมากพอ จนสามารถขยับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อ จีดีพีมาเป็น 70% เพื่อกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท (สองครั้ง) ล้วนเป็นอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น 

เช่นเดียวกับ แบงก์ชาติ บทเรียนจากสงครามเงินบาทในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ส่งผลให้แบงก์ชาติให้ความสำคัญกับการสะสมสำรองระหว่างประเทศต่อเนื่อง ล่าสุดตัวเลขอยู่ที่ 260,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่อันดับที่ 13 ของโลก มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4 เท่า จนเป็นจุดแข็งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามรถรับมือกับความผันผวนของการเงินโลกได้   

วิกฤติต้มยำกุ้งจบไม่นานแล้วแต่ผลของมันยังอยู่ เหมือนกับที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบใช้คำว่า “แผลเป็น” เช่นเดียวกับวิกฤติโควิดที่คาดว่าน่าจะบอกลาภายในสิ้นปีนี้ จะฝากแผลเป็นไว้กับเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และมาม่า

เมื่อไหร่ งบฯลงทุนจะถึง 25%?

จับตางบกระตุ้นเศรษฐกิจ ก้อนสุดท้าย 4.8 หมื่นล้าน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ