TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และมาม่า

เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และมาม่า

ผลพวงจากสงครามยูเครนที่ดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก พุ่งพรวดอย่างฉับพลันกว่าเท่าตัวทำเอาเศรษฐกิจรวนไปทั้งโลก โดยช่วงโควิดเริ่มต้นในปี 2563 น้ำมันดิบมีราคาเฉลี่ยเพียง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบราเรลเท่านั้น แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบซื้อ-ขายเฉลี่ยอยู่ที่ 118 -120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบราเรล ตามข้อมูลที่ สุพัฒน์ พงษ์พันธ์มีเชาว์ รองนายฯ และรมว.กระทรวงพลังงาน พูดในรายการวิทยุวันก่อน    

น้ำมันแพงส่งผลให้ต้นทุนสินค้า บริการ รวมไปถึงต้นทุนในการดำรงชีวิตพุ่งพรวด และเป็นเหตุให้โรคเงินเฟ้อกลับมากำเริบและระบาดไปทั่วโลก  หลายประเทศไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจนมีปัญหาความดันเศรษฐกิจจากตัวเลขเงินเฟ้อพุ่ง ทำสถิติสูงสุดใหม่หรือนิวไฮกันทั้งสิ้น เช่น สหรัฐฯ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมพุ่งกระฉูด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในรอบปีทะยานขึ้นไปถึง 8.6% ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 40 ปีครึ่ง หรือเยอรมนีอัตราเงินเฟ้อรายปีพุ่งสู่ 7.9% ในเดือนพฤษภาคมแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ

ส่วนประเทศไทยของเรา ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป ล่าสุด  ณ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์แถลง พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 7.10% ทำนิวไฮในรอบกว่า 13 ปี รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ให้เหตุผลที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งแรงต่อเนื่องว่ามาจาก สองเหตุผลสำคัญ ซึ่งสรุปความได้ว่ามาจากราคาน้ำมันและอาหารที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

นับจากเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเวลาดอกเบี้ยเบ่งบานไปทั่วโลก หลังระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 0.75 -1.00% ในวันที่ 4 พ.ค. 65  ธนาคารกลางอินเดีย ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.4% เป็น 4.40 % ดักหน้า ก่อนการประชุมเฟดไม่กี่ชั่วโมง และธนาคารกลางอีกหลาย ๆ ประเทศ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามในวันเดียวกัน เช่น ธนาคารกลางฮ่องกงขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็น 1.25% ธนาคารกลางกลุ่มประเทศรอบอ่าวอาหรับ ซาอุดิอาระเบีย อาหรับเอมิเรสต์ และบาห์เรน ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ธนาคารกลางคูเวตขยับขึ้น 2% เป็นต้น รวมไปถึง ธนาคารกลางอังกฤษที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย (เป็นครั้งที่ 4 นับจากปลายปี 2564) อีก 0.25% เป็น 1% เป็นต้น 

ธนาคารกลางทุกแห่งให้เหตุผลที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเหมือนกัน คือ เพื่อหยุดเงินเฟ้อ ตามหลักการดอกเบี้ยที่แพงขึ้นครัวเรือนจะชะลอการบริโภค ขณะที่ภาคธุรกิจจะลดการลงทุนที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถชะลอการขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ และช่วยลดการทะยานขึ้นของเงินเฟ้อได้    

ในเดือนมิถุนายน (ที่กำลังจะผ่านไป) ทุ่งดอกเบี้ยยังเบ่งบานต่อ สัปดาห์ก่อนหน้านี้ (15 มิ.ย. 65) เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ที่ระดับ 1.5-1.75% การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ถูกบันทึกว่าเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 ปี โดยมีเป้าหมายแก้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นสำคัญ

หลังเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมีแนวโน้มว่าจะมีภาคต่อ ๆ ไป สื่อต่างประเทศรายงานว่าธนาคารกลางหลายแห่งในยุโรปได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมา อาทิ ธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก -0.75% เป็น 0.25%  สื่อระบุว่าเป็นการขึ้น (อัตราดอกเบี้ย) ครั้งแรกนับจากปี 2550 ธนาคารอังกฤษขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.25% ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะเกิน 11% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 5 นับจากปลายปี 2564 

นอกจากนี้ ธนาคารกลางกลางอาร์เจนตินาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3% สู่ระดับ 52% จากเดิม 49% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 6 ในปีนี้ จากอัตราเงินเฟ้อรุนแรงถึง 29.3% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้  

ดูบรรยากาศดอกเบี้ยต่างประเทศแล้วมาส่องจังหวะดอกเบี้ยบ้านเรากันบ้าง ..

อย่างที่เคยบอกไว้ นโยบายการเงินแบงก์ชาติในช่วงที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการเติบโตมากกว่าเสถียรภาพ ด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.50% ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2563 และยืนอัตราดอกเบี้ยมาจนถึงปัจจุบัน แต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด (8 มิ.ย.65) สัญญาณเริ่มเปลี่ยนไป โดยที่ประชุมมีมติไม่เอกฉันท์ โดย 4 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวตามคาด แต่อีก 3 เสียงที่ลงมติให้ขึ้น (ดอกเบี้ยนโยบายเสียที) เพราะเงินเฟ้อมีความเสี่ยงเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว

ผลการจากการประชุมกนง.ครั้งล่าสุด และแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงทำให้นักวิเคราะห์ทุกสำนักเชื่อว่าการประชุมกนง.ครั้งที่ 4 ที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 % เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ บางสำนักเชื่อขนาดว่ากนง.อาจจะมีการประชุมนัดพิเศษในเดือนกรกฎาคม ไม่รอถึงเดือนสิงหาคมด้วยซ้ำ เพราะเงินเฟ้อเร่งตัวมาก

อย่างไรก็ดี หากดูท่าทีของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่ยืนยันว่าจะไม่ถอนคันเร่งทันทีทันใดและถ้อยแถลงของกนง.ที่ว่า “คณะกรรมการฯประเมินว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้นจึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป” พออนุมานได้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.คงจะมีขึ้นในไม่ช้า และเป็นการขยับในจังหวะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไม่รีบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีภาระดอกเบี้ยได้ ได้ทำใจและเตรียมตัว 

อย่าลืมว่า ทุ่งดอกเบี้ยไม่ใช่ทุ่งลาเวนเดอร์ที่มีดอกสีม่วงสดใสชวนให้เดินชมเล่น ทุ่งดอกเบี้ยนั้น ยามใดที่ดอก (เบี้ย) บานเต็มทุ่ง หมายถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมา การเตรียมตัวแต่เนิ่นโดยยึดหลักใช้จ่ายในสิ่งที่สำคัญก่อน คงช่วยลดแรงกระแทกจากคลื่นดอกเบี้ยที่กำลังถาโถมเข้ามา 

ทั้งนี้ เงินเฟ้อไม่เพียงผูกโยงกับดอกเบี้ยเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องไปถึงมาม่า บะหมี่สำเร็จรูปยอดนิยมที่สื่อมักนำการเปลี่ยนแปลงของยอดขาย  มาเป็นเครื่องชี้วัดความเป็นไปของปากท้องชาวบ้านในฐานะที่เป็นสินค้าที่เข้าถึงง่ายอีกด้วย  สัปดาห์ที่แล้ว จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันกับสื่อว่า ยังไม่อนุญาตให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ขายอยู่ซองละ 6 บาทขึ้นราคาตามที่เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและค้าสินค้าคอนซูมเมอร์โปรดักส์ รวมทั้งมาม่า ขอความเมตตาผ่านสื่อมา โดยกล่าวว่าแม้จะเห็นใจผู้ผลิตที่ต้องแบกต้นทุนผลิตที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับย้ำว่าขอความร่วมมือตรึงราคาให้นานที่สุด 

สรุปแล้วแนวโน้มเงินเฟ้อยังพุ่งต่อไป ทุ่งดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงเบ่งบาน แต่สำหรับมาม่า ราคายังไม่เปลี่ยนแปลง ….

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ 

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เมื่อไหร่ งบฯลงทุนจะถึง 25%?

จับตางบกระตุ้นเศรษฐกิจ ก้อนสุดท้าย 4.8 หมื่นล้าน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ