TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistส่งสัญญาณผิด...ระวัง "วิกฤติความเชื่อมั่น"

ส่งสัญญาณผิด…ระวัง “วิกฤติความเชื่อมั่น”

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เข้ามารับงานใหญ่และงานหินระดับประเทศ ด้วยการเข้ามาดูแลวิกฤติพลังงานและอาหาร ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครนจนทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อพุ่งตามมา

คงจำกันได้ก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งการแก้ไขปัญหาโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยทุบโต๊ะ พร้อมกับยึดอำนาจมาจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ไว้ในมือแบบเบ็ดเสร็จ ต่อมาไม่นานก็ตั้ง “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ” เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอจากคณะแพทย์ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ก่อนที่จะส่งข้อมูลถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “ศบค.” ชุดใหญ่ รวมทั้งเข้ามาแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาดจนสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย

คราวนี้ก็เช่นกัน เมื่อเริ่มมีสัญญาณความไม่ลงรอยกันระหว่างกระทรวงพลังงาน ที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาราคาน้ำมัน กับกระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลเรื่องการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองกระทรวงต่างพยายามปัดความรับผิดชอบโยนกันไปโยนกันมา จนส่อเค้าว่าหากไม่ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมอาจจะเกิดศึกในพรรคร่วมรัฐบาลตามมา กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยคราวเกิดปัญหาโควิดได้ ยิ่งช่วงใกล้อภิปรายไม่ไว้วางใจอาจจะกระทบกระเทือนเสถียรภาพรัฐบาลได้

อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็เริ่มมีความขัดแย้งเล็ก ๆ ระหว่างกระทรวงคลังกับกระทรวงพลังงาน กรณีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่กระทรวงคลังพยายามยื้อไม่ให้ลดภาษีสรรพสามิตตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพราะกลัวรัฐบาลจะถังแตก กว่ากระทรวงคลังจะยอมต้องรอจนราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจนเอาไม่อยู่ จากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นเงื่อนไขให้พลเอกประยุทธ์ ใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือแต่งตั้งให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้ามารับหน้าเสือและรับมือวิกฤติความมั่นคงทางพลังงาน-อาหารครั้งนี้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทันทีที่มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะคณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติ ก็มีคำถามจากทั่วทุกสารทิศว่า เป็นการแก้ปัญหาแบบ “ผิดฝาผิดตัว” หรือ “เกาไม่ถูกที่คัน” หรือไม่

ยิ่งไปดูโครงสร้างคณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติ ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงต่าง ๆ เกือบทุกกระทรวง อีกทั้งยังมีอัยการสูงสุด ผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการประจำทั้งสิ้น เรียกว่าแทบไม่มีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจริง ๆ เข้ามาร่วมเลย

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นวิธีคิดของพลเอกประยุทธ์ ที่ใช้บริหารประเทศตลอด 8 ปี มีสูตรสำเร็จอยู่ 3 ประการ คือ 1) เชื่อในการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแบบทหาร 2) เชื่อว่านโยบาย”ความมั่นคง” คือ สูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาของชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือ ”ปัญหาเศรษฐกิจ” และ 3) เชื่อมั่นในข้าราชการประจำมากกว่านักการเมืองและมืออาชีพ

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ แหล่งข่าวระดับสูงทำเนียบรัฐบาลวิเคราะห์เหตุผล-เบื้องหลังที่พลเอกประยุทธ์ ใช้นโยบายความมั่นคงแก้วิกฤติเศรษฐกิจว่า เนื่องจากความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางอาหารล้วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมด อาจจะต้องมีเจ้าภาพ คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาบทสรุป ส่วนการดำเนินการแก้ไขเป็นเรื่องของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง

“ถ้ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องกันทั้งความมั่นคง พลังงานและอาหารอาจจะต้องใช้ความมั่นคงนำ เป็นการแก้ปัญหาในเชิงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่ให้นำไปสู่โมเดลเหมือนในต่างประเทศที่มีการชุมนุมประท้วงกันอย่างรุนแรงและขยายออกเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ”

ดังนั้น การที่พลเอกประยุทธ์ ได้มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจในการควบคุมสถานการณ์เพื่อรับมือวิกฤติราคาพลังงาน และสินค้าขึ้นราคา โดยใช้อำนาจพิเศษควบคุมกลไกราคาสินค้าและพลังงาน ในด้านหนึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า สถานการณ์ข้างหน้าอาการหนักแน่ ๆ

อย่างไรก็ตาม วิธีการแบบนี้อาจจะเป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ ได้ไม่คุ้มเสีย ตรงกันข้ามกลับจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย กลายเป็นการใช้ “การทหารนำเศรษฐกิจ” หรือเป็นการรัฐประหารทางเศรษฐกิจเลยทีเดียว

ผลที่ตามมาอาจจะกระทบกับความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุน หรือนักท่องเที่ยว ที่อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานหรือขาดแคลนอาหารขั้นรุนแรง หรือทำให้เข้าใจว่า อาจจะมีการประท้วงรุนแรงเกิดได้จึงเตรียมใช้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาดูแลสถานการณ์สุดท้ายนักลงทุนอาจตัดสินใจไม่มาลงทุน นักท่องเที่ยวไม่กล้ามาเที่ยว

การส่งสัญญาณผิด ๆ อาจจะกระทบความเชื่อมั่นของประเทศมีผลเสียมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ฆ่า (ค่า) การกลั่น… ทุกข์ของชาวบ้าน

“เงินเฟ้อ-หนี้ท่วม” …. วิบากกรรมของไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ