TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistฆ่า (ค่า) การกลั่น... ทุกข์ของชาวบ้าน

ฆ่า (ค่า) การกลั่น… ทุกข์ของชาวบ้าน

วิกฤติราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นแบบรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ต่อเนื่องกันหลายเดือน ส่งผลกระทบวงกว้าง ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามหาทางออกสารพัดวิธี ไม่ว่าจะควักเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนจนกองทุนติดลบ ยอมเฉือนเนื้อลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล แต่เลือดก็ยังไหลไม่หยุด 

ยิ่งราคาน้ำมันสูงขึ้นเท่าไร คะแนนนิยมรัฐบาลลุงตู่ก็ยิ่งติดลบ จนแต้มหาทางออกไม่เจอประกอบกับมีเสียงเรียกร้องจากบุคลคนภายนอกให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุ” ด้วยการเข้าไปแทรกแซง เช่น “เลิกอิงราคาหน้าโรงกลั่น” บ้าง หรือ “การลดค่าการกลั่น” ของโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นเสือนอนกินบ้าง

กระทั่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง และลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ ก็มีการออกมาแถลงข่าวที่อ้างว่ารัฐบาลได้เปิดการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซภายในประเทศ “ยินดี” ที่จะให้ความร่วมมือในการนำส่ง “กำไรส่วนที่เพิ่มขึ้น” มาช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับประชาชน

ต่อมา “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาอรรถาธิบายรายละเอียดว่า จะเก็บเงิน 3 ประเภท ได้แก่ 1) กำไรจากการกลั่นน้ำมันดีเซลเดือนละ 5,000-6,000 ล้านบาทส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ 2) กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินเดือนละ 1,000 ล้านบาทจะนำไปลดราคาน้ำมันเบนซินทันที 1 บาท/ลิตร และ 3) กำไรจากโรงแยกก๊าซเดือนละ 1,500 ล้านบาทนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุน

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาเป็นแค่การขอความร่วมมือ นั่นแปลว่า หากครบ 3 เดือนทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม ไม่ได้แก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุ” อย่างที่หลายคนอยากให้เป็น คือ ยกเลิก “ราคาอ้างอิงโรงกลั่นสิงคโปร์” และ “ลดค่าการกลั่น” 

ทั้งที่การ “บิดเบือนราคา” ที่ผ่านมาเกิดจากโครงสร้างราคาที่เรียกว่า “โครงสร้างทิพย์” แปลว่าไม่ใช่โครงสร้างราคาที่แท้จริง แต่เป็นการมโนต้นทุน โดยสมมติว่าโรงกลั่นอยู่ที่สิงคโปร์ ทั้งที่โรงกลั่นตั้งอยู่ที่ระยอง ศรีราชา และกรุงเทพฯ ทำให้มี “ต้นทุนปลอม” คือ ค่าขนส่ง ค่าระวางสมมติว่าเรือมาจากสิงคโปร์ บวกค่าประกันภัย ค่าความเสี่ยง จึงไม่ใช่ราคาที่แท้จริง ตรงนี้ที่เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

อีกประเด็นที่กลุ่มผู้เรียกร้องทั้งหลาย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการนั่น คือ ให้มีการ “ลดค่าการกลั่น” ลง โดยกลุ่มที่เรียกร้องอ้างว่าในปัจจุบัน ค่าการกลั่นสูงถึง 8 บาทต่อลิตร ทำให้บรรดาโรงกลั่นฟันกำไรกันจนพุงกาง

เรื่องนี้ “สมภพ พัฒนอริยางกูล” โฆษกกระทรวงพลังงาน ออกมาชี้แจงว่า กรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงถึง 8 บาทต่อลิตรนั้น จากการตรวจสอบโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมันของประเทศไทย โดยสนพ. ซึ่งค่าการกลั่นเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค. – พ.ค. 2565) อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร และในเดือนพฤษภาคม ค่าการกลั่นอยู่ที่ 5.20 บาทต่อลิตร 

สมภพ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ค่าการกลั่นที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันอ้างอิงของทุกผลิตภัณฑ์ปรับสูงขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 และความตึงเครียดทางการเมืองจากสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ซึ่งนำไปสู่การที่หลายประเทศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกทำให้อุปทานในตลาดตึงตัว

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ถ้าค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงแบบก้าวกระโดดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ที่น่าจะเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อลิตร นั่นหมายความว่าบรรดาโรงกลั่นต่าง ๆ ฟันกำไรจนพุงกางอย่างมิอาจปฏิเสธได้ จึงทำให้หลายฝ่ายออกมากดดันให้รัฐบาลว่า ต้องเจรจากับโรงกลั่นน้ำมันหรือใช้ข้อกฎหมายที่มีอยู่ ขอให้ปรับลดค่าการกลั่นลงมา เพื่อช่วยให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมาราคาถูกลง 

ในที่สุดรัฐบาลก็แก้ปัญหาแบบ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” เกาไม่ถูกที่คันเพราะเม็ดเงิน 24,000 ล้านบาทที่ได้เพราะไป “หักกำไร” จากผลประกอบการของโรงกลั่นชั่วคราวแค่ 3 เดือนเท่านั้น หากรัฐบาลใช้ความกล้าหาญจะแก้ปัญหาแบบตรงจุดจริง ๆ จะต้องเลิกใช้ ”ราคาอ้างอิงสิงคโปร์” เป็นต้นทุนสมมติที่คนไทยต้องแบกรับและต้องกำหนด ”ค่าการกลั่น” เป็น ”ต้นทุนคงที่” ว่าจะตกลิตรละกี่บาท ด้วยความเห็นชอบของทุกฝ่าย และต้องโปร่งใสไม่ใช่ผันแปรตามราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งทำกันแบบมุบมิบอย่างทุกวันนี้ 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้อง” ยกเลิกกองทุนน้ำมัน” ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับผู้บริโภคเลยควรปล่อยให้ทุกอย่างสะท้อนความจริง นั่นคือ ไม่ต้องมีการหักเงินจากผู้ใช้น้ำมันเข้ากองทุนเหมือนที่ผ่านมา เพราะพิสูจน์แล้วว่าการทำงานของกองทุนน้ำมันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เลิกอ้างเกรงว่าเวลาน้ำมันราคาถูกประชาชนจะใช้น้ำมันกันอย่างฟุ่มเฟือย รัฐบาลไม่ควรทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีตัดสินใจแทนชาวบ้าน

ที่สำคัญ ควรจะยกเลิกกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่ไม่ได้มีประโยชน์กับผู้ใช้น้ำมัน แต่กลายเป็นขุมทรัพย์ของคนบางกลุ่ม และต้องทบทวนอัตราภาษีที่ใช้อยู่ ว่าซ้ำซ้อนที่มีทั้งภาษีสรรพสามิตภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีท้องถิ่น ให้เหลือเท่าที่จำเป็นเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระประชาชนอีกต่อไป

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“เงินเฟ้อ-หนี้ท่วม” …. วิบากกรรมของไทย

ในวิกฤติ…ยังมีโอกาส

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ