TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจับตาเงินเฟ้อ .... หลังเดือนพฤษภาคม

จับตาเงินเฟ้อ …. หลังเดือนพฤษภาคม

สัปดาห์ก่อนหน้า รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ซึ่งทำหน้าที่โฆษกเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ออกมาแถลงว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 ปี 2562 = 100) “….สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 4.65 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครน และมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตการค้า การขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศ…..”

เงินเฟ้อซึ่งเป็นดัชนีปากท้องพุ่งสูงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 5.28% มีนาคม 5.73% (สูงสุดในรอบ 13 ปี) ส่วนเดือนเมษายนลดลงเล็กน้อยตามตัวเลขที่กล่าวถึงข้างต้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่ง คือ ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง นับจากสงครามยูเครนปะทุเมื่อสองเดือนก่อน

กระทรวงพาณิชย์ระบุสาเหตุหลักที่อยู่เบื้องหลังเงินเฟ้อในเดือนเมษายนที่ผ่านว่า  “….ทั้งนี้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 4.65 มาจากปัจจัยสินค้าในกลุ่มพลังงานสูงขึ้นร้อยละ 21.07 ส่งผลให้สินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 10.73 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะปรับสูงขึ้นตาม ..”

ส่วนเดือนพฤษภาคมนี้ กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า “..แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับมาตรการตรึงราคา และการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายน และปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และการปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันไดของก๊าซหุงต้มหรือ LPG ในเดือนเมษายนพฤษภาคม 2565 รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ

เดือนเศษ ๆ ที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มลดระดับการอุดหนุนราคาพลังงาน หลังราคาน้ำมันพุ่งต่อเนื่องจนกองทุนน้ำมันกลไกดูแลราคาน้ำมันติดลบไปแล้ว 66,681 ล้านบาท (ณ.. 65) โดยปล่อยให้ก๊าซหุงต้มขึ้นราคากิโลกรัมละ 1 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน ยุติการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ 30 บาทต่อลิตรตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน เปลี่ยนมาดูแลเฉพาะราคาส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น (จาก 30 บาท) ส่งผลให้ดีเซลปรับขึ้นครั้งแรก 2 บาท หรือ 32 บาทต่อลิตร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม และจะค่อย ๆ ขยับแบบขั้นบันไดไปจนถึง 35 บาทต่อลิตร และยังไม่แน่ชัดว่าหลังมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุด 20 พฤษภาคมนี้ กระทรวงการคลังจะต่ออายุออกไปอีกหรือไม่ 

เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจากเปลี่ยนของราคาน้ำมัน กดดันทั้งต้นทุนชีวิตและต้นทุนธุรกิจ แม้รัฐบาลออกมาตรการบรรเทามาชุดหนึ่ง โดยพุ่งเป้าอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม เช่น ค่าน้ำมันเบนซินกลุ่มมอเตอร์ไซต์ (ที่ร่วม “โครงการวินเซ” ราว 106,655 คน) 50 บาทต่อคนต่อวันไม่เกิน 250 บาทต่อเดือน นาน 3 เดือน (เริ่มตั้งแต่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา) อุดหนุนกลุ่มสูงวัย 10 ล้านคนเพิ่มเติม 100 ถึง 250 บาทต่อเดือน มากน้อยตามช่วงอายุ ลดค่าไฟฟ้าผันแปรสำหรับที่อยู่อาศัยและร้านค้าขนาดเล็ก ที่ใช้ไฟไม่เกิน 330 หน่วยต่อเดือน นาน 4 เดือน 

กระทรวงพาณิชย์ร้องขอเอกชนชะลอการปรับราคาชั่วคราว พร้อมจัดอีเวนท์มหกรรมสินค้าราคาถูก ส่วนมาตรการคนละครึ่ง เฟส 5  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมบอก ให้ความหวังเล็ก ๆ แล้วว่า “อยู่ระหว่างพิจารณา

หากเปรียบเทียบระหว่างชุดมาตรการดังกล่าวกับคลื่นเงินเฟ้อที่ถาโถมเข้ามา ชุดมาตรการของรัฐบลคงทำได้เพียงบรรเทาอาการความดันทางเศรษฐกิจได้ชั่วขณะเท่านั้น เพราะระหว่างนี้ความดันทางเศรษฐกิจจากน้ำมันแพงเริ่มส่งผ่านไปถีงต้นทุนอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคขนส่ง

ผู้ประกอบการรถและเรือโดยสารขยับร้องขอ “ขึ้นค่าตั๋ว” กันถ้วนหน้า ราคาสินค้าเกษตรทยอยชักแถวขึ้นราคาแล้วหลายรายการ ในขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่าลงมาที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี ล้วนเป็นปัจจัยหนุนให้เงินเฟ้อ – เฟ้อเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น และที่สำคัญแนวรบในสงครามยูเครนต้นตอแห่งความโกลาหลของเศรษฐกิจโลกยังดำเนินต่อไป ประมวลภาพรวมแล้วภาวะเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมคงยกระดับสูงขึ้นอีก 

ผูกโยงจากเรื่องเงินเฟ้อ …. ช่วงนี้บรรดานักวิชาการต่างดาหน้าออกมาฟันธง เพื่อชิงเครดิตว่าได้ “พูดก่อน” ว่ายังไง ๆ แบงก์ชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องปรับขึ้นอัตตราดอกเบี้ยนโยบายหลังตรึงไว้ที่ 0.50% มาตั้งแต่ปี 2563 แน่ จากเดิมที่คาดกันว่าน่าจะเป็นต้นปีหน้า เนื่องจากแรงกดดันของเงินเฟ้อและแบงก์ชาติหลายประเทศเฮโลขึ้นดอกเบี้ยกันโดยถ้วนหน้า 

ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังเฟด (ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 22 ปี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ตามด้วยธนาคารกลางฮ่องกงขึ้น 0.50% ธนาคารกลางกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ อาหรับเอมิเรสต์ กาตาร์ บาห์เรน ขึ้นดอกเบี้ย พร้อมกัน 0.50% ส่วนคูเวตขึ้น 2% แบงก์ชาติอังกฤษ (บีโออี) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 จำนวน 0.25% เป็น 1% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่อินเดียชิงขึ้น 0.4% เป็น 4.40% ก่อนหน้าเฟดไม่กี่ชั่วโมง เหตุผลใหญ่ในการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางเหล่านี้ คือ เพื่อดูแลเงินเฟ้อ 

ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ มีหลักคิดในการรับมือกับคลื่นเงินเฟ้อครั้งนี้อยู่ 2 สาย คือ สายหนึ่งให้น้ำหนักดูแลเสถียรภาพราคา เช่น สหรัฐฯ หรือ อังกฤษ ที่ทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อก่อนเพื่อนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว  อีกสายให้ความสำคัญกับการฟื้นตัว เช่น แบงก์ชาติบ้านเรา หรือ แบงก์ชาติญี่ปุ่น  

ที่ผ่านมาแบงก์ชาติของเรา มองว่าเงินเฟ้อเป็นสถานการณ์ชั่วคราวและจะเริ่มคลี่คลายในช่วงหลังของปี และจะเริ่มกลับเข้าที่เข้าทางคือในปีหน้า 2566 แต่แนวรบในสงครามยูเครนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง คือ สัญญาณว่าราคาน้ำมันยังเดินหน้าต่อไป และความเฟ้อด้านราคาเริ่มกระจายไปยังสินค้าอื่น ไม่ใช่เฉพาะน้ำมัน-ก๊าซ หรืออาหารเหมือนช่วงแรก ๆ คงมีผลต่อมุมมองของแบงก์ชาติต่อสถานการณ์เงินเฟ้อไม่มาก

น่าสนใจว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มข้างหน้า เงินเฟ้อยังมีโอกาสไปต่อ รัฐบาลจะรับมือกับปัญหาปากท้องอย่างไรในสภาวะที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณเพิ่มขึ้น แบงก์ชาติยังจะยึดนโยบายการเงินผ่อนปรนเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไปหรือไม่? และถ้าเดินแนวนี้ต่อไป   จะรักษาสมดุลระหว่าง เสถียรภาพราคากับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร  

.. โจทย์เศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาว่าท้าทายแล้ว หลังเดือนพฤษภาคมที่ผลจากความเฟ้อจะแทรกซึมไปยังภาคส่วนต่าง ๆ จะมีความท้าทายยิ่งกว่า

“ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ ที่ผ่านทั้งช่วงเวลา เฟื่องฟู โรยรา จนถึง ถดถอย จากวิกฤติค่าเงินปลายทศวรรษ 2530 วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และล่าสุดวิกฤติโควิด

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

โครงการ “คนละครึ่ง” ไปต่อเฟส 5 หรือไม่ ? 

วาระ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ” กลับมาอีกครั้ง

“เงินเฟ้อ” ทำความดันเศรษฐกิจกำเริบ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ