TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“เดือนตุลา” น่าห่วง

“เดือนตุลา” น่าห่วง

เมื่อถึงเดือนตุลาคมทีไรก็นึกถึงสัญญาณเตือนว่ากำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปีแล้ว น่าสนใจตรงที่เดือนนี้มักจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ตลอดและเป็นเดือนแรกของการใช้งบประมาณประจำปี เป็นเดือนที่คนมีอาชีพรับราชการคนมีอำนาจของบ้านเมืองต้องหมดอำนาจวาสนา ในอดีตเดือนตุลาคมมักจะมีหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ต้องถูกบันทึกให้คนไทยจดจำ

เดือนตุลาปีนี้ก็เช่นกัน เป็นอีกเดือนที่คนไทยเฝ้าจับตามองด้วยความระทึกใจ เพราะอาจจะมีผลต่ออนาคตของบ้านเมือง จากกรณีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาและนักเรียนในนาม “คณะราษฏร2563” ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร จะรุนแรงแค่ไหน

แต่ที่รู้ ๆ สิ่งที่น่าห่วงไม่น้อยหรืออาจจะมากกว่า 14 ตุลาคม นั่นคือ วันที่ 22 ตุลาคม เพราะเป็นวันสิ้นสุดของมาตรการ “พักชำระหนี้” ตามนโยบายของแบงก์ชาติที่ให้ธนาคารผ่อนปรนลูกหนี้ที่คิดว่าจะมีปัญหา จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด มีลูกหนี้เข้าร่วมเข้าโครงการราว ๆ 15 ล้านคน มูลค่าหนี้ คือ 6.8 ล้านล้านบาท หรือกว่า 1 ใน 3 ของการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบ

นึกไม่ออกว่าคนกว่า 1 ใน 3 หรือ มูลหนี้กว่า 1 ใน 3 มีลูกหนี้ที่เป็นประชาชนหรือหนี้ส่วนบุคคล 13.9 ล้านคน ธุรกิจ 1.1 ล้านธุรกิจ ในจำนวนนี้มีธุรกิจขนาดใหญ่ไม่กี่พันราย ที่เหลือเป็น SME และหนี้ของ SME กว่า 1 ล้านราย มีมูลค่าหนี้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ที่หยุดพักชำระดอกเบี้ยและหยุดคืนเงินต้น

คำถามคือ เมื่อครบกำหนดในวันที่ 22 เดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเหลืออีกไม่กี่วันข้างหน้า จะมีสักกี่รายที่จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ รัฐบาลจะทำให้ลูกหนี้มีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้หรือไม่ หรือมีมาตรการอะไรรับมือบ้าง

ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงที่ผ่านมา มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องบาดเจ็บล้มหายตายจาก ไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ มีไม่น้อยที่ต้องเลิกกิจการแบบถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งมีจำนวนมากเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยวกว่า 70% ของจีดีพี

ธุรกิจเหล่านี้ต้องพึ่งพาเงินตราต่างประเทศ เมื่อทั้งโลกต่างได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่าเรา จึงส่งผลกระทบห่วงโซ่เศรษฐกิจของไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ทำให้ประชาชน “ขาดรายได้” และมีแรงงานกลายเป็น “คนตกงาน” จำนวนมาก

แม้ว่าหลังจากที่รัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดทางให้ธุรกิจเริ่มกลับมาดำนินการได้ แต่รายได้ไม่กลับมาเหมือนเดิม แถมค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งกำลังซื้อผู้บริโภคก็หดหาย เพราะวิตกกังวลอนาคตข้างหน้าที่ไม่แน่นอนจึงไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย

เหนือสิ่งใดในห้วงเวลาที่ธุรกิจเข้าโครงการพักหนี้ซึ่งลูกหนี้จะได้สิทธิค้างชำระถึง 6 เดือนโดยไม่ถือว่าเป็น “หนี้เสีย” หรือ “เอ็นพีแอล” แต่อย่าลืมว่า“ดอกเบี้ย” ของลูกหนี้ยังเดินอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีพัก ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ภาระของลูกหนี้จะกลับมาแบบเต็ม ๆ นั่นแปลว่า ความสามารถการชำระหนี้หรือ “คุณภาพลูกหนี้” จะต้องลดลงอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ความเสี่ยงที่จะเป็น “หนี้เสีย” หรือ”เอ็นพีแอล” ของสถาบันการเงินจะต้องพุ่งขึ้นอย่างแน่นอน

แม้ในห้วงเวลาไล่เรี่ยกันแบงค์ชาติมีมาตรการปล่อย SME Soft Loan วงเงิน 5 แสนล้านบาท ช่วยบรรเทาอาการแม้เม็ดเงินไม่ได้มากมายแต่ตัวเลขที่ปล่อยจริงกลับน้อยอย่างน่าตกใจ เข้าใจได้เพราะแบงก์เองย่อมระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เกรงว่าจะกลายเป็นหนี้เสียตามมา เป็นภาระให้แบงก์ต้องกันสำรองเพิ่ม มาตรการ SME Soft Loan ที่เยียวยา SME จึงเป็นแค่มาตรการที่ดูดีแต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้

ขณะนี้มีหลาย ๆ ธุรกิจไม่มีเรี่ยวแรงจะเดินต่อไปได้กำลังอยู่ในสภาพล้มละลาย ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศและรัฐบาล น่าเป็นห่วงอย่างมาก นี่คือระเบิดเวลาอีกลูก จนถึงตอนนี้จะทำอย่างไรต่อไปรัฐบาลเองก็ยังไม่มีคำตอบ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ